xs
xsm
sm
md
lg

จีนเผยเดนมาร์กยื่นใบสมัครแบงก์ AIIB ออสซีขัดใจมะกันแถลงขอร่วมขบวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<b><i>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (กลาง) ถ่ายภาพกับแขกมีผู้เกียรติ ในงานประกาศการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (AIIB) ณ กรุงปักกิ่ง วันที่ 24 ตุลาคม 2014 (ภาพจากแฟ้ม)</b></i>
เอเจนซีส์ - กระทรวงการคลังจีน เผย เดนมาร์กเป็นมหาอำนาจจากยุโรปชาติล่าสุดที่ติดต่อขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง AIIB ขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียออกคำแถลงแสดงเจตจำนงเข้าสมทบกับธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียแห่งนี้ ที่ถูกมองว่า เป็นคู่แข่งของเวิลด์แบงก์ และ เอดีบี ที่อเมริกาครอบงำอยู่ แนวโน้มการขยายอิทธิพลของแดนมังกรยังได้รับการตอกย้ำจากการที่รัสเซียและเนเธอร์แลนด์ ประกาศแผนเข้าร่วม AIIB เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28)

กระทรวงการคลังจีนแถลงผ่านเว็บไซต์เมื่อวันอาทิตย์ (29 มี.ค.) ว่า ยินดีต้อนรับเดนมาร์กที่ส่งจดหมาย “ประกาศเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (AIIB)” และจีนจะขอความเห็นจากสมาชิกชาติอื่นๆ ซึ่งหากได้รับอนุมัติ เดนมาร์กจะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการของ AIIB ในวันที่ 12 เดือนหน้า

ทางด้านรัฐมนตรีการค้าและการพัฒนาเดนมาร์ก โมเกนส์ เจนเซน ยกย่องว่า การก่อตั้ง AIIB ของจีนเป็นพัฒนาการที่สำคัญและน่าตื่นเต้นในแง่ระเบียบโลก

วันเดียวกันนั้น นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์, รัฐมนตรีต่างประเทศ จูลี บิชอป และรัฐมนตรีคลัง โจ ฮ็อกกี ออกคำแถลงร่วม ระบุว่า รัฐบาลจะลงนามบันทึกความเข้าใจที่ปูทางให้ออสเตรเลียเข้าร่วมเป็นว่าที่สมาชิกผู้ก่อตั้งในการหารือเพื่อก่อตั้ง AIIB

“ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งนี้มีความคืบหน้าที่ดีในด้านการออกแบบ ธรรมาภิบาล และความโปร่งใส แต่เรายังมีประเด็นที่ต้องหารือกันต่อไปก่อนที่แคนเบอร์ราจะเข้าร่วมใน AIIB โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า คณะกรรมการบริหารของแบงก์จะมีอำนาจในการตัดสินใจโครงการลงทุนที่สำคัญ และไม่มีชาติใดชาติหนึ่งควบคุมแบงก์”

จีนนั้นประกาศอัดฉีดเงินส่วนใหญ่จากเงินทุนเริ่มต้น 50,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่า AIIB จะเริ่มเปิดดำเนินการปลายปีนี้ภายใต้จุดหมายในการช่วยระดมทุนสำหรับการสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
<b><i>ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน  ถ่ายภาพกับนายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ ในนครซิดนีย์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2014 (ภาพจากแฟ้ม)</b></i>
คำแถลงของแคนเบอร์ราบอกด้วยว่า หากร่วมมือกับสถาบัน อาทิ ธนาคารโลก และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) AIIB จะมีบทบาทสำคัญในการรับมือความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นการเติบโตในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อออสเตรเลียด้วย

ขณะนี้ อินเดีย และสมาชิกทั้ง 10 ชาติของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นส่วนหนึ่งของกว่า 30 ประเทศ ที่ตกลงใจเข้าร่วมกับ AIIB ก่อนเส้นตายวันที่ 31 นี้

วันเสาร์ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี อิกอร์ ชูวาลอฟ ของรัสเซีย กล่าวระหว่างร่วมงานประชุมในป๋ออ่าว บนเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ว่า มอสโก มีแผนเข้าร่วม AIIB ขณะที่นายกรัฐมนตรี มาร์ก รัตเต ของเนเธอร์แลนด์ โพสต์บนเฟซบุ๊กหลังพบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่า เนเธอร์แลนด์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งนี้ และกระทรวงการคลังจีนเผยว่า ออสเตรียส่งเอกสารสมัครเป็นสมาชิกแบงก์แห่งนี้แล้ว

ส่วนบราซิล คู่ค้าสำคัญของจีนนั้น ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ แถลงตั้งแต่วันศุกร์ (27) ว่า บราซิลมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะร่วมโครงการริเริ่มนี้ เช่นเดียวกับตุรกีและเกาหลีใต้ที่ประกาศเป้าหมายในการเข้าร่วม AIIB ซึ่งในด้านหนึ่งถูกมองว่า ช่วยส่งเสริมอิทธิพลของจีนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ในงานประชุมที่ป๋ออ่าว สี แถลงว่า จีนจะเดินหน้าสร้างฮับระดับภูมิภาคเพื่อการร่วมมือทางการเงิน รวมทั้งจะกระชับความร่วมมือในด้านเสถียรภาพการเงิน การลงทุน การระดมทุน การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และอื่นๆ

ปักกิ่งนั้นกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มีนาคม ในการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง AIIB จากการที่มีชาติสำคัญๆ รวมทั้งประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯแสดงความจำนงขอเข้าร่วมเช่นนี้ ถือเป็นการฟ้องความล้มเหลวของอเมริกาที่พยายามขยายอิทธิพลในเอเชีย - แปซิฟิก และถ่วงดุลอิทธิพลด้านการงานและความก้าวร้าวของพญามังกร

นอกจากนั้น AIIB ยังถูกมองว่า เป็นความท้าทายต่อธนาคารโลก และ ADB ที่วอชิงตันร่วมก่อตั้งและยังคงมีอิทธิพลครอบงำอยู่มาก

สหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ คิดทบทวนในการเข้าร่วม AIIB จนกว่าธนาคารน้องใหม่แห่งนี้จะสามารถแสดงให้เห็นว่า มีมาตรฐานธรรมาภิบาล รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิแรงงานสูงพอ

ทว่า พันธมิตรใหญ่ในยุโรป อย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และ อิตาลี ต่างประกาศการตัดสินใจเข้าร่วม AIIB กระทั่งคณะบริหารของประธานาธิบดี บารัค โอบามาเอง ยังแสดงท่าทีว่าอาจต้องมีการทบทวนจุดยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น