xs
xsm
sm
md
lg

‘ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน’ทำให้ ‘โอบามา’ ควรค่าที่ได้ ‘รางวัลโนเบล’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรากุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Obama deserves his Nobel
By M.K. Bhadrakumar
03/04/2015

ร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งเห็นพ้องจัดทำกันออกมาได้ ในการเจรจาเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ควรต้องถือว่าเป็นชัยชนะทางการทูตอย่างเหลือเชื่อของสหรัฐฯ ร่างข้อตกลงดังกล่าวนี้บรรจุไว้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งดียิ่งกว่าที่ใครๆ จะเคยคาดหมายเอาไว้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ไม่ได้มีการกำหนดให้ทำลายระบบโครงข่ายทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านไปจนหมดสิ้น เราพูดได้ว่าผู้ชนะอย่างแท้จริงจากการบรรลุร่างข้อตกลงนี้ก็คือประธานาธิบดีบารัค โอบามา เวลาผันผ่านไป 6 ปีหลังจากที่เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาเพิ่งมีผลงานอันสมควรแก่การได้รางวัลนี้ในคราวนี้เอง

ร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งเห็นพ้องจัดทำกันออกมาได้ (ดูรายละเอียดของคำแถลงเกี่ยวกับการตกลงกันนี้ได้ที่ https://www.vox.com/2015/4/2/8336723/iran-nuclear-deal-transcript) ในการเจรจาที่เมืองโลซานน์, สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ควรต้องถือว่าเป็นชัยชนะทางการทูตอย่างเหลือเชื่อของสหรัฐอเมริกา ร่างข้อตกลงดังกล่าวนี้บรรจุไว้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งดียิ่งกว่าที่ใครๆ จะเคยคาดหมายเอาไว้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ไม่ได้มีการกำหนดให้ทำลายระบบโครงข่ายทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านไปจนหมดสิ้น –และดังนั้นจึงถือได้ว่าปล่อยให้อิหร่านอยู่ในฐานะเป็น “รัฐที่อยู่ตรงธรณีประตู” (threshold state นั่นคือ ยังไม่ทันก้าวข้ามธรณีประตูไป แต่ถ้าขยับอีกนิดเดียวก็จะก้าวข้ามเข้าสู่การเป็นรัฐซึ่งสามารถที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ในครอบครอง -ผู้แปล)— แต่คณะผู้เจรจาของสหรัฐฯซึ่งนำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ก็ประสบความสำเร็จในการทำให้อิหร่านยอมรับเงื่อนไขข้อจำกัดอันละเอียดซับซ้อนและแทบไร้ช่องโหว่ชุดหนึ่ง ซึ่งมุ่งหมายที่จะขยายระยะเวลาอันอิหร่านจำเป็นต้องใช้ หากต้องการ “แหกด่าน” และเร่งรุดไปสู่การมีอาวุธนิวเคลียร์

ลองพิจารณาบรรดาข้อกำหนดและเงื่อนไขจริงๆ ซึ่งคณะผู้เจรจาฝ่ายสหรัฐฯ ต่อรองทำให้อิหร่านต้องยอมตกลงเห็นพ้องด้วยดูซิครับ:

**อิหร่านจะยอมส่งมอบเครื่องหมุนเหวี่ยงเพื่อเพิ่มสมรรถนะวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuge) ที่ตนมีอยู่ประมาณ 14,000 เครื่อง จากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 20,000 เครื่อง

**เครื่องหมุนเหวี่ยงที่อิหร่านยังคงไว้นั้น จะเป็นเครื่องหมุนเหวี่ยง “รุ่นแรก” ซึ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นและล้าสมัยที่สุดของตน

**ห้ามอิหร่านสร้างหรือพัฒนาเครื่องหมุนเหวี่ยงโมเดลใหม่ๆ

**อิหร่านต้องส่งมอบเกือบทั้งหมดของยูเรเนียมเพิ่มสมรรถนะแล้ว ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในคลังของตน โดยจากจำนวน 10,000 กิโลกรัมซึ่งเก็บไว้นั้น จะเหลือเอาไว้ได้เพียง 300 กิโลกรัม

**อิหร่านจะทำลายหรือส่งออกส่วนแกนกลางของโรงงานพลูโตเนียมของตนที่เมืองอารัค (Arak)

**อิหร่านจะส่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว (spent nuclear fuel) ทั้งหมดออกไปนอกประเทศ

**อิหร่านจะต้องไม่ดำเนินกิจกรรมเพิ่มสมรรถนะวัสดุนิวเคลียร์ใดๆ ทั้งสิ้น ณ โรงงานฟอร์ดาว (Fordow) ของตนซึ่งตั้งอยู่ใต้ดิน

**ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) จะเฝ้าติดตามตรวจสอบไม่เพียงเฉพาะสถานที่ต่างๆ ทางนิวเคลียร์ของอิหร่านเท่านั้น หากแต่เฝ้าติดตามตรวจสอบสายโซ่อุปทานตลอดทั้งสาย (entire supply chain) ซึ่งรวมถึงเหมืองแร่ยูเรเนียม และโรงถลุงแร่ยูเรเนียมด้วย

**เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบใช้น้ำชนิดหนัก (heavy water reactor) ที่ อารัค ของอิหร่าน จะต้องก่อสร้างกันใหม่เพื่อทำให้มันไม่สามารถผลิตพลูโตเนียมเกรดสูงถึงขั้นใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ได้

เพื่อเป็นการตอบแทน อิหร่านจะได้รับประโยชน์ จากการที่สหรัฐฯกับสหภาพยุโรป (อียู) จะระงับมาตรการลงโทษคว่ำบาตร (sanctions) ต่ออิหร่าน ส่วนสหประชาชาติก็จะยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของตน ในอีกด้านหนึ่ง ร่างข้อตกลงนี้จะทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า จะมีช่วงเตือนภัยเป็นระยะเวลา 1 ปี หากอิหร่านเกิดแหกด่านจะทำการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา

มาตรการตรวจสอบอันถี่ถ้วนแข็งแรงซึ่งเห็นพ้องต้องกันในคราวนี้ จะสร้างหลักประกันให้มั่นใจได้ว่า ไม่ว่าอิหร่านจะปกปิดความพยายามอย่างลับๆ เพื่อ “แหกด่าน” ของตนอย่างไรก็ตาม ก็ยังจะถูกตรวจจับได้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง อิหร่านยังคงรักษาส่วนสำคัญๆ ของโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของตนเอาไว้ ซึ่งทันทีที่ข้อตกลงนี้หมดอายุบังคับใช้ จะสามารถขยายออกไปให้เต็มที่สมบูรณ์ได้โดยขึ้นกับกรอบระยะเวลาที่มีอยู่ ทั้งนี้ส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์นี้ยังสามารถใช้เป็นพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านต่อไปในอนาคต

เมื่อมองโดยองค์รวมแล้ว ร่างข้อตกลงซึ่งสามารถเห็นพ้องกันได้ในวันที่ 2 เมษายนคราวนี้ สามารถถือเป็นการตกลงกันทางการทูตแบบที่ทุกๆ ฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ (diplomatic win-win) สำหรับสหรัฐฯแล้ว ร่างข้อตกลงนี้บรรลุวัตถุประสงค์แกนกลางของตน ซึ่งได้แก่การทำให้อิหร่านไม่อาจที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองได้ ส่วนจากจุดยืนและมุมมองของฝ่ายอิหร่านนั้น การผ่อนคลายยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตร จะเปิดประตูให้อิหร่านสามารถบูรณาการเข้ากับประชาคมระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจปลดล็อกและเปิดประตูให้แก่ศักยภาพทางเศรษฐกิจอันมีอยู่อย่างมหาศาลของประเทศนี้ และทำให้อิหร่านกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่คึกคักมีชีวิตชีวารายต่อไป

ร่างข้อตกลงคราวนี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการหาทางไม่ให้มีการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น อีกทั้งกระบวนการมุ่งไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ก็เป็นประเด็นอันใหญ่โตเกินกว่าแค่เป็นกิจการทวิภาคีระหว่างสองประเทศ ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะที่จะบังเกิดผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างมหาศาล ทว่าเรื่องราวเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

สำหรับในปัจจุบันแล้ว เราพูดได้ว่าผู้ชนะอย่างแท้จริงจากการบรรลุร่างข้อตกลงนี้ก็คือประธานาธิบดีบารัค โอบามา เวลาผันผ่านไป 6 ปีหลังจากที่เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาเพิ่งมีผลงานอันสมควรแก่การได้รางวัลนี้เมื่อวันที่ 2 เมษายนนี้เอง หลักคิดแก่นกลางในนโยบายการต่างประเทศของโอบามาที่ว่า การสานสนทนาและการทูตคือวิธีการดีที่สุดในการแก้ไขคลี่คลายความแตกต่างผิดแผกกันซึ่งสหรัฐฯมีอยู่กับเหล่าปรปักษ์ของตนนั้น เพิ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยันให้เห็นอย่างหนักแน่นน่าเชื่อถือ

เมื่อพิจารณาเฉพาะแวดวงนโยบายการต่างประเทศแล้ว ช่วงขณะนี้แหละคือช่วงขณะอันยอดเยี่ยมที่สุดในตลอดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามาเท่าที่ผ่านมา ถึงแม้เขายังคงมีเวลาอยู่บนเก้าอี้ตัวนี้ต่อไปอีก 21 เดือน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังสนั่นในเรื่องที่ว่า ประธานาธิบดีผู้วางตัวเหมือนเป็นศาสตราจารย์และเคร่งครัดเข้มงวด อีกทั้งมีชื่อเสียงในเรื่องการวางตัวเย็นชาเหินห่างผู้นี้ จะสามารถกุมบังเหียนผลักดันการมีปฏิสัมพันธ์กับอิหร่านเช่นนี้เอาไว้จนตลอดรอดฝั่งหรือ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ที่อุดมไปด้วยการมุ่งทำลายล้างและการแสดงความโกรธกริ้ว (โดยที่หลายๆ ครั้งเป็นการประณามโจมตีอย่างโหดเหี้ยมชั่วร้ายยิ่ง แถมยังเป็นการประณามโจมตีในระดับมุ่งที่ตัวบุคคลเอามากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรแก่การยกโทษให้อภัยเลย ในระบบประชาธิปไตยที่สุกงอมเติบใหญ่แล้วไม่ว่าแห่งไหนก็ตามที) จากผู้กล่าวร้ายป้ายสีจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของสิ่งที่เขากำลังกระทำอยู่ ทว่าโอบามาก็ยังคงยืนกรานเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและอย่างเฉลียวฉลาด, อย่างช้าๆ และอย่างเงียบๆ โดยที่กุมเข็มทิศซึ่งคอยเฝ้าติดตามความคืบหน้าของการเจรจาวันต่อวัน

แน่นอนที่สุด โอบามา เป็นประธานาธิบดีที่ถูกประเมินให้คุณค่าต่ำกว่าความเป็นจริงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน สิ่งสำคัญสูงสุดที่คอยอำนวยความเข้มแข็งทางศีลธรรมและความแข็งแกร่งทางการเมืองให้แก่เขา ก็คือความยึดมั่นเชื่อถือในระบบประชาธิปไตยของเขา เขาทราบดีว่า ชาวอเมริกันนั้นอยู่ด้วยกันกับเขา

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น