xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านแค่การ “ซื้อเวลา”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้กรอบข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจทั้ง 6 กับอิหร่านจะถือเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญในความพยายามของโลกตะวันตกที่จะจำกัดศักยภาพของเตหะรานไม่ให้ไปถึงขั้นครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จครั้งนี้ได้สร้างรอยร้าวต่อสายใยมิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอล ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นแค่การ “ซื้อเวลา” ให้อิหร่านกลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ช้าลงเท่านั้น

ทำเนียบขาวพยายามโน้มน้าวให้สภาคองเกรสและนักวิจารณ์ทั้งหลายเชื่อมั่นในกรอบข้อตกลงเบื้องต้นที่มหาอำนาจ P5+1 ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส บวกเยอรมนี ทำร่วมกับเตหะรานเมื่อที่ 2 เม.ย. ว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ข้อตกลงจำกัดศักยภาพนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างสมบูรณ์แบบ

กรอบข้อตกลงที่ว่านี้ยังไม่ได้เอ่ยถึงระยะเวลาหรือขอบเขตของการผ่อนคลายคว่ำบาตร และยังมีอีกหลายประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงให้สำเร็จก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายสำหรับการจัดทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์

หากเงื่อนไขที่มีการเปิดเผยออกมาสามารถปฏิบัติได้จริง จะทำให้โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านถูกจำกัดขอบเขตไว้ราวๆ 10-15 ปี และนานาชาติก็จะมีกลไกตรวจสอบความเคลื่อนไหวของอิหร่านได้ทุกระยะ

กรอบข้อตกลงมีประเด็นสำคัญๆ ได้แก่

อิหร่านจะสามารถมีเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ได้แค่ราวๆ 6,000 เครื่องจากทั้งหมด 19,000 เครื่องในปัจจุบัน โดย 5,000 เครื่องจะใช้เสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่โรงงานนาตันซ์ (Natanz) และอีก 1,000 เครื่องที่โรงงานฟอร์โด เครื่องหมุนเหวี่ยงที่ใช้จะต้องเป็นรุ่น IR-1 ซึ่งเป็นรุ่นเก่า และต้องถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดยทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

- อิหร่านต้องลดการสะสมยูเรเนียมสมรรถนะต่ำจาก 10,000 กิโลกรัม ให้เหลือเพียงไม่เกิน 300 กิโลกรัม

- อิหร่านสามารถใช้โรงงานใต้ดินที่ฟอร์โดเป็นห้องวิจัยนิวเคลียร์ฟิสิกส์ แต่ห้ามมีวัสดุฟิสไซล์เป็นเวลาอย่างน้อย 15 ปี

- เจ้าหน้าที่นานาชาติไม่เพียงสามารถเข้าไปตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์แห่งใหญ่ๆ ของอิหร่านได้เท่านั้น แต่รวมถึงซัพพลายเออร์ และเหมืองแร่ยูเรเนียมที่อิหร่านใช้เป็นวัตถุดิบด้วย

- อิหร่านจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ IAEA เข้าไปตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมต้องสงสัยได้ทั่วประเทศ

- เตาปฏิกรณ์น้ำมวลหนักที่เมืองอารัค (Arak) ที่หลายฝ่ายเกรงว่าอิหร่านจะใช้ผลิตพลูโตเนียมเพื่อทำระเบิดนิวเคลียร์ จะต้องถูกปรับสภาพเสียใหม่เพื่อไม่ให้ใช้ผลิตพลูโตเนียมเกรดอาวุธได้อีก


เงื่อนไขและข้อจำกัดเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ในระยะเวลา 10-15 ปี โดยสิ่งที่อิหร่านจะได้ตอบแทนก็คือ

- สหรัฐฯและสหภาพยุโรปจะระงับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่แน่ชัด

- อิหร่านไม่จำเป็นต้องปิดโรงงานนิวเคลียร์ทุกแห่งลงโดยสิ้นเชิง

- อิหร่านจะยังคงมีทรัพยากรเหลืออยู่มากพอที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ได้ต่อไป หลังจากที่ข้อตกลงสิ้นอายุ


ทั้งนี้ หากอิหร่านผิดสัญญา ผู้ตรวจสอบนานาชาติจะทราบล่วงหน้าได้อย่างน้อย 1 ปีก่อนที่เตหะรานจะผลิตอาวุธทำลายล้างสูงสำเร็จ ซึ่งเพียงพอต่อการป้องกันได้

ฝ่ายที่เป็นเดือดเป็นแค้นและไม่เห็นด้วยกับการประนีประนอมกับอิหร่านมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นอิสราเอล โดยนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ถึงกับติเตียนว่าเป็น “ข้อตกลงเลวร้าย” เพราะเท่ากับปล่อยให้อิหร่านมีโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ต่อไป

เนทันยาฮู ยังเรียกร้องให้ P5+1 เพิ่มเงื่อนไขให้อิหร่านต้องยอมรับสถานะความเป็นรัฐของอิสราเอลลงในข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ด้วย โดยอ้างคำพูดนายพลอิหร่านผู้หนึ่งที่ออกมากล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า “การทำลายอิสราเอลให้สิ้นซากคือสิ่งที่รอมชอมกันไม่ได้”

“ผมเองก็ขอประกาศให้ทุกฝ่ายรับรู้เช่นกันว่า ความอยู่รอดของรัฐอิสราเอลเป็นสิ่งที่รอมชอมกันไม่ได้” ผู้นำยิวกล่าว

ต้นสัปดาห์นี้ สหรัฐฯ ออกมาประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านลงอย่างช้าๆ ตามเงื่อนไขข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากผู้นำยิว โดยให้สัมภาษณ์ต่อสถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติ (National Public Radio - NPR) ว่า “การจะทำข้อตกลงควบคุมอิหร่านไม่ให้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ โดยตั้งเงื่อนไขให้พวกเขาต้องยอมรับสถานะของอิสราเอลด้วยนั้น ไม่ต่างจากการพูดว่าเราไม่เซ็นสัญญาแน่ๆ จนกว่าระบอบการปกครองในอิหร่านจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง”

โอบามา ชี้ว่า การที่อิสราเอลพยายามนำ 2 เรื่องนี้มาโยงกันเป็นความคิดที่ “ผิดตั้งแต่ต้น”

อิหร่านได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลหลังเกิดการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 และไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐของอิสราเอลด้วย

อย่างไรก็ตาม โอบามา ก็พยายามปลอบขวัญผู้นำยิวโดยประกาศย้ำจุดยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับอิสราเอล และชี้ว่าหากความมั่นคงของอิสราเอลถูกทำลายลงจะถือเป็น “ความล้มเหลวระดับฐานราก” ของสหรัฐฯ ที่มีตนเป็นประธานาธิบดี

“สิ่งที่เราจะทำหลังจากบรรลุข้อตกลงก็คือ ส่งสารไปยังรัฐบาลอิหร่านและทั่วทั้งภูมิภาคว่า หากใครคิดร้ายต่ออิสราเอลก็ต้องเจอกับอเมริกา” ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศ

แม้จะมีกรอบเงื่อนไขที่น่าพอใจ แต่นักวิจารณ์ก็ยังไม่วายติติงว่า ข้อตกลงระหว่าง P5+1 กับอิหร่านไม่สามารถสกัดภัยคุกคามนิวเคลียร์ได้อย่างยั่งยืน เพราะอิหร่านไม่ได้ถูกบีบให้ล้มเลิกกิจกรรมนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง ระหว่างนี้จึงเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ให้อิหร่านกลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์รายใหม่ช้าไปอีก 10 กว่าปีเท่านั้น

โอบามา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NPR News เมื่อวันอังคาร(7 เม.ย.) เกี่ยวกับสิ่งที่นักวิจารณ์เรียกว่าเป็น “ช่วงพักเบรก” ของกิจกรรมนิวเคลียร์อิหร่าน โดยชี้ว่าอิหร่านจะมีคลังยูเรเนียมสมรรถนะต่ำได้ไม่เกิน 300 กิโลกรัมตลอด 10 ปี ซึ่งไม่เพียงพอที่จะแปลงเป็นเชื้อเพลิงเกรดอาวุธได้ แต่อนาคตหลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ รุ่นต่อๆไปที่จะต้องจัดการ

แม้จะไม่ใช่การ “ตอกฝาโลง” อิหร่านอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่ข้อตกลงฉบับนี้ก็คงทำให้อิหร่านขยับเนื้อขยับตัวลำบากไปนานพอสมควร และเมื่อคำนึงถึงภัยคุกคามเฉพาะหน้าอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมืองซีเรียหรือการขยายอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) การพักเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านไว้ก็นับว่าช่วยผ่อนคลายความกังวลให้แก่ฝ่ายตะวันตกได้ไม่น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น