รอยเตอร์ – รัฐบาลออสเตรเลีย “เต็มใจและจริงใจ” ร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ที่จีนริเริ่ม แต่ต้องการทราบว่าปักกิ่งจะมีอำนาจผูกขาดหรือไม่ ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แถลงวันนี้ (25 มี.ค.)
สำนักข่าวแฟร์แฟ็กซ์อ้างแหล่งข่าวภายในรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้รัฐบาลลงนาม “บันทึกความเข้าใจ” ร่วมก่อตั้งธนาคารเอไอไอบีได้แล้ว
ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็น 3 ประเทศใหญ่ๆ ในภูมิภาคที่ยังสงวนท่าทีตามที่สหรัฐฯ เตือนไว้แต่ต้น แต่ถึงวอชิงตันจะพยายามกระพือข้อกังขามากเพียงใด อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ก็ประกาศเจตจำนงเข้าร่วมกับเอไอไอบีแล้ว ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องหันมาทบทวนจุดยืนเช่นกัน
สำนักข่าวซินหวาของจีน รายงานว่า ปักกิ่งประกาศจะไม่ถืออำนาจ “วีโต” ในธนาคารแห่งใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ แห่แหนเข้าร่วมเอไอไอบีโดยไม่ใส่ใจเสียงปรามของวอชิงตัน
การถือกำเนิดขึ้นของเอไอไอบีอาจเรียกได้ว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งพยายามจะขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อคานอำนาจกับจีน
ออสเตรเลียแม้เป็นหุ้นส่วนหลักในยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แต่ก็มีท่าทีสนใจเข้าร่วม เอไอไอบี เช่นกัน
“เราเต็มใจและจริงใจที่จะเข้าร่วมกับสถาบันการเงินพหุภาคี ซึ่งมีหลักธรรมาภิบาลโปร่งใส ตรวจสอบได้ และอำนาจตัดสินใจขึ้นอยู่กับบอร์ดบริหาร” แอบบ็อตต์ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่กรุงแคนเบอร์รา
“นั่นคือพื้นฐานสำคัญสำหรับเรา การตัดสินใจในประเด็นใหญ่ๆ จะต้องผ่านความเห็นชอบของกรรมการบริหารธนาคาร ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง”
ญี่ปุ่นยังคงรักษาท่าทีนิ่งเฉยต่อเอไอไอบี ส่วนเกาหลีใต้ก็ยังไม่ตัดสินใจ
ทาโร อาโซ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น กล่าววานนี้ (24)ว่า ญี่ปุ่น “ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วม” เอไอไอบี จนกว่าจีนจะชี้แจงระเบียบในการปล่อยกู้ทั้งในด้านเงื่อนไขและเวลาให้ชัดเจนเสียก่อน
แอบบ็อตต์ ยอมรับว่า ตนได้หารือเรื่องนี้กับประธานาธิบดี บารัค โอบามา และนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นแล้ว และจะยังเจรจากับผู้นำทั้งสองต่อไป
โจ ฮ็อกกี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังออสเตรเลีย แถลงต่อสภาธุรกิจออสเตรเลีย-จีน ว่า แคนเบอร์ราจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศในการตัดสินใจเข้าร่วมกับธนาคารที่มีการบริหารจัดการที่ดี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเติบโตของภูมิภาค
“หากมีการออกแบบที่ดีพอ เอไอไอบีจะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความจำเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคนี้ ซึ่งการจะทำได้ดังนั้นเอไอไอบีจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี” ฮ็อกกี ระบุ