xs
xsm
sm
md
lg

‘อิหร่าน’เล่นบทสำคัญในศึกชิงเมืองติกริต ขณะที่ ‘สหรัฐฯ’ หาข้ออ้างแก้ตัว

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Iran squashes IS, US seeks cover
By M K Bhadrakumar
04/03/2015

การที่กองกำลังอาวุธต่างๆ ของรัฐบาลอิรัก เปิดยุทธการบุกยึดเมืองติกริต ซึ่งอยู่ห่างไปทางตอนเหนือของกรุงแบกแดด กลับคืนมาจากพวกนักรบ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) กำลังส่งผลให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือดรุนแรงรอบๆ เมืองแห่งนี้ ที่ถูกมองว่าเป็นดินแดนหัวใจทางจิตวิญญาณของระบอบปกครองโดยพรรคบาธ ของซัดดัม ฮุสเซน พัฒนาการอันทรงความสำคัญอย่างใหญ่หลวงนี้ มีมิติซึ่งควรแก่การเอาใจใส่ 3 มิติด้วยกัน

การสู้รบอย่างดุเดือดรุนแรงได้ปะทุขึ้นที่เมืองติกริต (Tikrit) ซึ่งอยู่ห่างไปทางตอนเหนือของกรุงแบกแดด และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของทั่วโลกในฐานะที่เป็นบ้านเกิดของซัดดัม ฮุสเซน อีกทั้งถูกถือว่าเป็นดินแดนหัวใจทางจิตวิญญาณของระบอบปกครองพรรคบาธ (Baath) กองกำลังอาวุธต่างๆ ของรัฐบาลอิรักได้เปิดยุทธการใหญ่ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.aljazeera.com/news/2015/03/iraq-launches-offensive-tikrit-isil-150301181442703.html ) เพื่อบุกยึดเมืองนี้คืนมาจากพวกนักรบ “รัฐอิสลาม” (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS) พัฒนาการอันทรงความสำคัญอย่างใหญ่หลวงนี้ มีมิติอันควรแก่การพินิจพิจารณารวม 3 มิติด้วยกัน

แน่นอนทีเดียว มิติแรกสุดคือ ถ้าหากยุทธการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะส่งผลเป็นการตีกระหน่ำครั้งใหญ่ต่อกลุ่มไอเอส ติกริตนั้นไม่ใช่เพียงเป็นรางวัลใหญ่ในตัวของมันเองเท่านั้น แต่ยังมีความหมายว่ารัฐบาลอิรักกำลังนำเอาสงครามเข้าไปยังดินแดนซึ่งพวกไอเอสยึดครองอยู่อีกด้วย มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่า เป้าหมายใหญ่ถัดจากเมืองติกริต จะเป็นเมืองโมซุล (Mosul) ซึ่งตั้งขวางคร่อมเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ของชาวเคิร์ดในอิรัก และก็เป็นรางวัลใหญ่ที่สุดซึ่งพวกไอเอสตีชิงเอาไปได้ในช่วงของการรุกโจมตีอย่างหนักหน่วงน่าตื่นตะลึงในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ในสภาวการณ์เช่นนี้ จึงทำให้มีความโน้มเอียงอย่างผิดๆ ที่จะทึกทักสันนิษฐานไปไกลเกินไปว่า ไอเอสกำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ในระยะใกล้ๆ นี้ ที่จะประสบความปราชัยอย่างย่อยยับในทางการทหาร

สำหรับมิติที่สองซึ่งควรแก่การใคร่ครวญ ได้แก่บทบาทของ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guards ใช้อักษรย่อว่า IRGC) [1] โดยที่มีรายงานว่า IRGC กำลังแสดงบทบาทสำคัญยิ่งอยู่ในยุทธการชิงเมืองติกริตภายใต้ร่มธงอิรัก บีบีซีได้รายงาน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bbc.com/news/world-middle-east-31705600) โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่อยู่ในกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชิอะห์หลายราย ระบุว่า ได้มีผู้พบเห็น นายพล กอเซม โซเลมานี (Qasem Soleimani) ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ IRGC ซึ่งมีอิทธิพลบารมีสูงล้ำและมีเกียรติประวัติการสู้รบเป็นที่เล่าขานกันในระดับตำนาน [2] ปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่แนวหน้าของการสู้รบคราวนี้ และ “กำลังเข้าร่วมในการชี้นำยุทธการครั้งนี้ด้วยตนเอง”

หากเป็นความจริง ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องหักมุมอย่างน่าหัวเราะทีเดียว ในการที่ โซเลมานี กำลังนำการต่อสู้เพื่อปลดแอกบ้านเกิดของผู้เป็นศัตรูเก่าของเขาอย่างซัดดัม อันที่จริงแล้วการหักมุมอย่างน่าหัวเราะก็ไม่ใช่มีเพียงเท่านั้นหรอก ถ้าเรามองว่าอิหร่านซึ่งเป็นชิอะห์ ในเวลานี้กลับกำลังกลายเป็นผู้นำพาการสู้รบ เพื่อต้านทานปราบปรามข้าศึกศัตรูที่เป็นพวกอิสลามิสต์สุดโต่งหัวรุนแรงชาวสุหนี่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้กลายเป็นภัยอันตรายคุกคามความเป็นความตายของระบอบปกครองของชาวอาหรับสุหนี่ทั้งหลายในอาณาบริเวณอ่าวเปอร์เซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย ทั้งๆ ที่ถ้าหากสถานการณ์ไม่ผันผวนเล่นตลกถึงขนาดนี้แล้ว ไม่มีทางหรอกที่ซาอุดีอาระเบียจะอาจรู้สึกมีเยื่อใยกับอิหร่านขึ้นมาได้

ส่วนมิติด้านสุดท้าย การสู้รบซึ่งกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดรอบๆ เมืองติกริตนี้ ก่อให้เกิดคำถามใหญ่ขึ้นมาประการหนึ่ง นั่นคือ กลุ่มพันธมิตรนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯกำลังไปหลบซ่อนตัวอยู่เสียที่ไหน จึงไม่ได้แสดงบทบาทอะไรในศึกคราวนี้เลย? อิหร่านกำลังทำให้สหรัฐฯและพวกชาติที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทั้งหลาย ต้องบังเกิดความอับอายขายหน้า จากการที่อิหร่านออกแรงอยู่เพียงฝ่ายเดียว ก็สามารถนำเอาสงครามเข้าไปสร้างความปั่นป่วนยุ่งยากให้แก่พื้นที่ยึดครองของกลุ่มไอเอสได้แล้ว อิหร่านกำลังเปิดโปงให้เห็นอย่างไม่ไว้หน้าใครเลยว่า ไอเอสเป็นเพียงแมลงศัตรูพืชตัวเล็กๆ ซึ่งสามารถที่จะบดบี้ให้ตายไปอย่างไม่ยากไม่เย็น ถ้าหากคอยติดตามไล่ล่าอย่างเอาจริงเอาจังเพียงพอ แทนที่จะเป็นศัตรูยักษ์ ใหญ่ตัวร้ายกาจซึ่งมีพลานุภาพอันลี้ลับเหมือนอย่างที่พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกพยายามวาดภาพให้เราเห็นไปเช่นนั้น

ขณะเดียวกันนี้ พวกนักประชาสัมพันธ์คอยแก้ต่างแก้ตัวให้แก่สหรัฐฯก็ได้เริ่มต้นทำงานกันแล้ว (ดูตัวอย่างได้จาก http://www.wsj.com/articles/u-s-steers-clear-of-tikrit-cites-iran-role-in-support-of-iraqis-1425328257) โดยพยายามที่จะอ้างว่า สหรัฐฯมีนโยบายอย่างเจตนาจงใจทีเดียว ที่จะไม่เข้าไปมีบทบาทอะไรในการสู้รบชิงติกริตครั้งนี้ เนื่องจากการศึกดังกล่าวตัวชูโรงคือกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชิอะห์ ซึ่งอยู่ในอิทธิพลของอิหร่าน รวมทั้งสหรัฐฯกับอิหร่านยังมีข้อตกลงเป็นนัยๆ กันด้วยในเรื่อง “การแบ่งงานกันทำ” --นี่จัดเป็นทัศนะที่พูดกันอย่างเบาที่สุดก็ยังต้องบอกว่า ช่างจินตนาการออกมาได้อย่างน่าหัวเราะเหลือเกิน

ในอีกด้านหนึ่ง เรากลับพบว่า เตหะรานออกมากล่าวหาสหรัฐฯว่า ทั้งๆ ที่ปากอวดอ้างว่ากำลังต่อสู้กับพวกไอเอสอยู่ แต่ในทางเป็นจริงแล้วกลับกำลังมีพฤติการณ์ที่ปกปิดซ่อนเร้น โดยในทางเป็นจริงแล้ววอชิงตันกำลังใช้วิธีแก้ไขคลี่คลายปัญหา ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการยอมรับล่วงหน้าให้กลุ่มไอเอสยังคงมีบทบาทต่อไปในอนาคต ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งต่อภูมิภาคแถบนี้ของสหรัฐฯ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของอิหร่าน ฮอสเซน อามี อับดอลเลาะเฮียน (Hossein Amir Abdollahian) กล่าวด้วยถ้อยคำที่เป็นการหัวเราะเยาะอย่างโต้งๆ ต่อการกล่าวอ้างของวอชิงตันที่ว่ากำลังต่อสู้กับไอเอส เมื่อเขาระบุในคำปราศรัยที่กรุงเตหะรานในวันจันทร์ (2 มี.ค.) (ดูรายละเอียดที่ http://english.farsnews.com/print.aspx?nn=13931211000859) ว่า “สหรัฐฯก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรต่อต้านไอเอสไอแอล (ISIL เป็นคำย่อที่เคยใช้เรียกกลุ่ม IS มาระยะหนึ่ง และเวลานี้ก็ยังมีฝ่ายต่างๆ จำนวนหนึ่งนิยมใช้คำย่อนี้อยู่ -ผู้แปล) โดยที่มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมถึง 60 ประเทศ ทว่ามาตรการในทางปฏิบัติซึ่งสำคัญที่สุดของกลุ่มพันธมิตรนี้ กลับจำกัดขอบเขตอยู่ที่การหาทางควบคุมและการหาทางบริหารจัดการพวกไอเอสไอแอลเท่านั้น”

อับดอลเลาะเฮียน เปิดเผยด้วยว่า เครื่องบินทหารของสหรัฐฯกำลังลำเลียงขนส่งสัมภาระต่างๆ ไปให้แก่กลุ่มไอเอสทั้งในซีเรียและในอิรัก โดยบินกันไปเป็นระยะทางไกลทีเดียว ทั้งนี้เขาตั้งปุจฉาขึ้นมาว่า “ใครกันจะสามารถส่งสัมภาระผิดที่ โดยไปส่งในจุดซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 900 กิโลเมตร?” นี่เป็นคำถามที่น่าขบคิดพิจารณาอย่างยิ่งทีเดียว

ในอัฟกานิสถานก็เช่นกัน สหรัฐฯได้เข้าไปแทรกแซงด้วยกำลังทหารตั้งแต่เมื่อปี 2001 ด้วยข้ออ้างบังหน้าว่าเพื่อปราบปรามกำจัดพวกตอลิบาน ทว่าในทุกวันนี้ตอลิบานกำลังแสดงบทบาทชนิดที่พลิกกลับเป็นตรงกันข้ามไปเลย โดยกลายเป็นคู่เจรจารายสำคัญของวอชิงตัน --แถมพวกเขายังอาจจะกำลังถูกบ่มเพาะเพื่อให้กลายเป็นตัวก่อปฏิกิริยาขึ้นมาในวันข้างหน้า ในอาณาบริเวณทุ่งหญ้าสเตปปส์อันกว้างใหญ่ของเอเชียกลางซึ่งยังคงอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของรัสเซีย หรือไม่ก็ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ซึ่งกำลังมีปัญหาความไม่สงบเกิดการสู้รบปรบมืออยู่กับพวกนักรบหัวรุนแรงอิสลามิสต์

หมายเหตุผู้แปล

[1] กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guards ใช้อักษรย่อว่า IRGC) กองกำลังอาวุธของอิหร่านหน่วยนี้ เรียกกันในอิหร่านว่า “กองทัพแห่งผู้พิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม” (The Army of the Guardians of the Islamic Revolution หรือเรียกสั้นๆ เป็นภาษาเปอร์เซียว่า เซปาห์ Sepah) และมักเรียกกันย่อๆ ว่า “ผู้พิทักษ์การปฏิวัติ” (Revolutionary Guards หรือในภาษาเปอร์เซียคือ ปาสดารัน pasdaran) ขณะที่พวกรัฐบาลต่างประเทศตลอดจนสื่อมวลชนพากษ์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่นิยมเรียกด้วยนามว่า กองกำลังอาวุธผู้พิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน (Iranian Revolutionary Guards ใช้อักษรย่อว่า IRG) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “พวกผู้พิทักษ์การปฏิวัติ” (Revolutionary Guards) แต่สำหรับสื่อมวลชนของสหรัฐฯ มักนิยมเรียกว่า “เหล่าทัพผู้พิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน” (Iranian Revolutionary Guard Corps ใช้อักษรย่อว่า IRGC)

กองทัพแห่งผู้พิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ถือเป็นเหล่าทัพหนึ่งของกองทัพอิหร่าน ก่อตั้งขึ้นมาภายหลังการปฏิวัติอิหร่านเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 1979 โดยตามรัฐธรรมนูญของอิหร่านนั้นกำหนดว่า กองทัพปกติ (artesh ประกอบด้วย กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, แล้วยังมีกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ แยกตัวออกมาจากกองทัพอากาศอีกด้วย) ทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องชายแดนของอิหร่านตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ขณะที่ กองทัพแห่งผู้พิทักษ์การปฏิวัติ (pasdaran) มีจุดมุ่งหมายที่จะพิทักษ์คุ้มครองระบบการปกครองแบบอิสลามของประเทศ ทั้งนี้ ปาสดารัน ย้ำว่า บทบาทของพวกตนในการพิทักษ์คุ้มครองระบบอิสลามนั้น ก็คือการป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารหรือ โดย “ขบวนการเพี้ยนๆ ใดๆ”

กองทัพแห่งผู้พิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน มีบุคลากรทางทหารทั้งสิ้นราว 125,000 คน ประกอบด้วยกำลังทางบก, เรือ, และอากาศ ทั้งนี้กองกำลังทางเรือของ ปาสดารัน เวลานี้กลายเป็นหน่วยกำลังหลักในการดำเนินภารกิจควบคุมทางยุทธการเหนืออาณาบริเวณอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนั้น กองทัพผู้พิทักษ์การปฏิวัติยังเป็นผู้ควบคุมกองกำลังอาวุธท้องถิ่นกึ่งทหาร “บาซิจ” (Basij) ที่มีบุคลากรซึ่งเข้าร่วมด้วยอย่างเต็มตัวประมาณ 90,000 คน ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ปาสดารันได้พัฒนาขยายบทบาททางด้านเศรษฐกิจ จนถูกระบุว่ากลายเป็น “อาณาจักรธุรกิจมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์” โดยเป็น “องค์การที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 3 ในอิหร่าน” รองลงมาจาก บริษัทน้ำมันอิหร่านแห่งชาติ (National Iranian Oil Company) และกองทุนอิหม่านเรซ่า (Imam Reza Endowment) เท่านั้น

จากตอนถือกำเนิดซึ่งมีสภาพเป็นกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่ขับดันโดยอุดมการณ์รัฐอิสลาม ปาสดารัน ได้ขยายบทบาทออกไปจนปัจจุบันแทรกซึมอยู่ในแทบทุกๆ ด้านของสังคมอิหร่านทีเดียว บทบาทของกองทัพแห่งผู้พิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ซึ่งแผ่ขยายออกไปกว้างขวางทั้งในทางสังคม, การเมือง, การทหาร, และเศรษฐกิจ ในยุคของคณะบริหารประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์เมดิเนจัด (Mahmoud Ahmadinejad) โดยเฉพาะในระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2009 และการปราบปรามการประท้วงคัดค้านภายหลังการเลือกตั้งคราวนั้น ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากมีความเห็นว่า ปาสดารัน มีอำนาจทางการเมืองมากมายเกินกว่าสถาบันของพวกผู้สอนศาสนานิกายชิอะห์เสียอีก
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[2] กอเซม โซไลมานี (Qasem Soleimani) เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1955 ปัจจุบันมียศ พลตรี อยู่ในกองทัพแห่งผู้พิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (ปาสดารัน) ตั้งแต่ปี 1998 เขาขึ้นเป็นผู้บัญชาการของ “กองกำลังค็อดส์” (Quds Force) อันเป็นหน่วยทหารรบพิเศษของปาสดารัน ซึ่งขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน (Supreme Leader of Iran) หน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญที่สุดของ กองกำลังค็อดส์ ได้แก่การปฏิบัติการทางทหารและการปฏิบัติการลับนอกประเทศอิหร่าน โดยที่กองกำลังนี้เองซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหารมาอย่างยาวนานแก่ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน และ กลุ่มฮามาส (Hamas) ในดินแดนปาเลสไตน์

เริ่มตั้งแต่ปี 2012 โซไลมานี ถูกระบุว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารซึ่งช่วยให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) แห่งซีเรียสามารถต้านทานและตอบโต้กระแสรุกคืบหน้าของพวกกองกำลังอาวุธฝ่ายกบฎในสงครามกลางเมืองซีเรียได้สำเร็จ
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น