xs
xsm
sm
md
lg

‘ปากีสถาน’บอกปัด ‘ซาอุฯ’ ไม่ขอเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรต่อต้านอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistan snubs Riyadh's anti-Iran alliance
16/03/2015

การรณรงค์ของซาอุดีอาระเบียเพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรชาวสุหนี่ ขึ้นมาคอยปิดล้อมขัดขวางอิหร่าน ทำท่าว่าจะประสบความเพลี่ยงพล้ำครั้งสำคัญ จากการที่ปากีสถานตัดสินใจหลบหลีกไม่ขอตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดขัดแย้งระหว่าง ริยาด กับ เตหะราน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่ ริยาด ต้องการได้กองทหารปากีสถานเข้าไปช่วยป้องกันพื้นที่พรมแดนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งอ่อนเปราะของตน โดยเป็นอาณาบริเวณซึ่งประชิดติดกับตอนเหนือของเยเมน ที่อยู่ในการควบคุมของขบวนการ ซัยดี-ฮูตี

การรณรงค์ของซาอุดีอาระเบียเพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรชาวสุหนี่ ขึ้นมาคอยปิดล้อมขัดขวางอิหร่าน ทำท่าว่าจะประสบความเพลี่ยงพล้ำครั้งสำคัญจากท่าทีของปากีสถาน โดยที่อย่างน้อยที่สุดจวบจนถึงเวลานี้ กรุงอิสลามาบัดได้เลือกที่จะใช้วิธีหลบหลีกไม่ให้ตนเองต้องยุ่งเกี่ยวพัวพันอยู่ใน “สงครามเย็นทางนิกายศาสนา” ระหว่างซาอุดีอาระเบีย (ที่เป็นสุหนี่) กับอิหร่าน (ที่เป็นชิอะห์) (ดูรายละเอียดได้จากรายงานข่าวชิ้นนี้ http://www.dawn.com/news/1169671/pakistan-wont-rush-to-join-anti-iran-alliance)

ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ นายกรัฐมนตรี นาวาซ ชาริฟ (Nawaz Sharif) ของปากีสถาน ได้รับคำเชิญจากราชอาณาจักรแห่งซาอุดีอาระเบีย ให้เดินทางไปเข้าเฝ้าฯและเจรจาหารืออย่างเร่งด่วนกับ กษัตริย์ ซัลมาน บิน อับดุล-อาซิซ อัล ซาอุด (Salman bin Abdul-Aziz Al Saud ) และคณะที่ปรึกษาของพระองค์ (ดูรายละเอียดได้ที่
http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/03/saudi-arabia-prepares-for-iran-nuclear-deal.html) ปรากฏว่าพระราชาธิบดีได้เสด็จไปทรงรอต้อนรับ ชารีฟ ถึงที่ท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการเจรจาหารือคราวนี้ โดยที่หัวข้อสำคัญที่สุดได้แก่ การที่อิหร่านกำลังรุกขยายตัวอย่างแข็งกร้าวในโลกอาหรับ และการเจรจา P5+1 ว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน (หมายถึงการเจรจาระหว่าง อิหร่าน กับ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ อันได้แก่ สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส บวกกับอีก 1 มหาอำนาจ คือ เยอรมนี –ผู้แปล) ซึ่งกำลังใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายโดยทำท่าอาจจะมีการทำข้อตกลงกันได้ พระราชาธิบดีแห่งซาอุดีอาระเบียนั้น ทรงปรารถนาที่จะได้รับคำรับรองอันแข็งขันหนักแน่นจาก ชารีฟ ว่า ปากีสถานจะวางตนเป็นพันธมิตรกับซาอุดีอาระเบีย และเหล่าพันธมิตรชาติอาหรับที่เป็นสุหนี่ ซึ่งกำลังรวมตัวกันต่อต้านอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามตัวแทนที่กำลังดำเนินอยู่ใน เยเมน ในขณะนี้

กษัตริย์ซัลมาน ทรงมีความปรารถนาอย่างเจาะจงที่จะได้กองทหารปากีสถานสักจำนวนหนึ่ง เข้าไปประจำการอยู่ในราชอาณาจักรของพระองค์ เพื่อช่วยพิทักษ์ป้องกันพรมแดนช่วงเปราะบางทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งติดประชิดอยู่กับภาคเหนือของเยเมน ที่อยู่ในความควบคุมของขบวนการ ซัยดี ฮูตี (Zaydi Houthi) [1] (ความวิตกในเรื่องนี้ของซาอุดีอาระเบีย ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.al-monitor.com/pulse/ru/contents/articles/originals/2014/10/houthi-yemen-victory-saudi-arabia-nightmare-iran.html#) และทำหน้าที่เป็นกองกำลังเตือนภัยและพิทักษ์ปกป้อง ซึ่งจะคอยป้องปรามไม่ให้อิหร่านรุกรานเข้ามา

ทั้งนี้ ในอดีตระยะใกล้ๆ นี้ก็เคยมีตัวอย่างมาแล้วที่กองทหารปากีสถานได้รับมอบหมายให้เคลื่อนพลออกนอกประเทศไปปฏิบัติภารกิจปกป้องคุ้มครองในซาอุดีอาระเบีย กล่าวคือภายหลังการปฏิวัติอิหร่าน (หมายถึงการปฏิวัติอิสลามอิหร่านปี 1979 ที่ล้มล้างราชวงศ์ปาห์เลวี ภายใต้ กษัตริย์ โมฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาห์เลวี และลงท้ายเข้าแทนที่โดยระบอบปกครองสาธารณรัฐอิสลาม ซึ่งนำโดย อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคเมนี –ผู้แปล ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Iranian_Revolution) โมฮัมหมัด เซีย อุล-ฮัก (Mohammad Zia ul-Haq) จอมเผด็จการที่ปกครองปากีสถานอยู่ในเวลานั้น ได้จัดส่งกองพลน้อยยานเกราะ ซึ่งเป็นหน่วยทหารชั้นนำของปากีสถาน ไปประจำการยังซาอุดีอาระเบีย ตามที่พระราชาธิบดีฟาฮัด (King Fahd) ทรงร้องขอ เพื่อเป็นมาตรการป้องปรามไม่ให้มีภัยคุกคามใดๆ ต่อราชอาณาจักรของพระองค์ ในที่สุดแล้ว มีทหารปากีสถานราว 40,000 คนซึ่งปฏิบัติภารกิจอยู่ในกองพลน้อยดังกล่าวเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ทศวรรษ ทุกวันนี้ก็ยังคงมีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญชาวปากีสถานจำนวนไม่มากนัก ซึ่งยังคงปฏิบัติงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย

ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวชาวปากีสถานหลายๆ ราย ชารีฟตัดสินด้วยความลังเลใจ ว่าจะไม่ส่งกองทหารไปยังซาอุดีอาระเบียในเวลานี้ โดยที่ชารีฟกราบทูลให้สัญญาว่า ปากีสถานจะกระชับความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและความร่วมมือทางทหารกับราชอาณาจักรแห่งนี้ แต่ยังไม่ส่งทหารเข้าไปในเฉพาะหน้านี้ นอกจากนั้นปากีสถานยังปฏิเสธไม่โยกย้ายสถานเอกอัครราชทูตของตนในเยเมน จากกรุงซานา ไปที่เมืองเอเดน (Aden) อย่างที่ซาอุดีอาระเบีย และพวกรัฐสมาชิกในสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) ได้กระทำแล้ว เพื่อเป็นการพาตัวเองให้ห่างออกมาจากอำนาจอิทธิพลของพวกฮูตี

ฝ่ายปากีสถานให้เหตุผลว่า กำลังทหารของตนอยู่ในสภาพที่ตึงตัวอยู่แล้ว จากการที่ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูคู่อาฆาตเก่าแก่อย่างอินเดีย แล้วยังต้องคอยรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากกลุ่มตอลิบานปากีสถาน (Pakistani Taliban) นอกจากนั้น ปากีสถานก็มีความตึงเครียดและความรุนแรงจากความแตกแยกทางนิกายศาสนาอย่างสาหัสร้ายแรงของตนเองอยู่แล้ว กล่าวคือ พลเมืองชาวปากีสถานประมาณ 20% ทีเดียวเป็นชาวชิอะห์ และเหตุรุนแรงอันเนื่องจากนิกายศาสนากำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ นี้ กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์โยงใยอยู่กับ อัลกออิดะห์ อย่างเช่น กลุ่ม ลัชคาร์-อี-จังวี (Lashkar-e-Jhangvi) ได้ก่อเหตุโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายหลายต่อหลายครั้งโดยที่มีมัสยิดและโรงเรียนของชาวชิอะห์เป็นเป้าหมาย ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมา อิหร่านเองก็มีหลายๆ กลุ่มที่เป็นตัวแทนของตนในปากีสถาน ก่อเหตุโจมตีเป้าหมายที่เป็นชาวสุหนี่อยู่หลายหน ยิ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความยุ่งยากลำบากต่างๆ เหล่านี้ในบ้านอยู่แล้ว ชารีฟจึงกราบทูลกษัตริย์ซัลมานว่า ยังจะไม่มีการส่งกองทหารปากีสถานไปให้ในขณะนี้

ตัวชารีฟเองนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนที่ระแวดระวังตัวสูง และเป็นผู้นำที่ต้องขบคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจ เขาจึงยังคงระมัดระวังที่จะต้องเปิดช่องทางเอาไว้ว่าอาจจะจัดส่งกองทหารไปประจำการในซาอุดีอาระเบียก็ได้ในอนาคตหากสถานการณ์ด้านความมั่นคงเลวร้ายลงไปอีก เขายังได้กราบทูลแสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อกษัตริย์ซัลมานว่า ปากีสถานยังคงเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ภูมิหลังความเชื่อมโยงกันทางนิวเคลียร์อันกำกวมและลึกลับระหว่างปากีสถานกับซาอุดีอาระเบีย ดูจะเป็นสิ่งที่ทั้งสองประเทศยังคงให้ความสำคัญอย่างสูง

ในอีกด้านหนึ่ง ในเดือนนี้เช่นกัน กษัตริย์ซัลมาน ก็ได้ทรงเพิ่มเดิมพันให้แก่สายสัมพันธ์ความเชื่อมโยงซึ่งพระองค์ทรงมีอยู่กับฝ่ายอียิปต์ ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่ ชาร์ม เอล-ชีค (Sharm el-Sheikh) เมืองตากอากาศริมทะเลแดงของแดนไอยคุปต์ มกุฎราชกุมาร มุกริน (Crown Prince Muqrin) ได้ทรงประกาศให้สัญญาที่จะทำการลงทุนเพื่อช่วยเหลือด้านการพัฒนาในอียิปต์เป็นมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ คูเวต และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ละประเทศก็ให้คำมั่นที่จะลงขันด้วยวงเงินจำนวนเดียวกันนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.arabnews.com/featured/news/717661) อย่างไรก็ตาม อียิปต์ก็เช่นกัน แสดงความลังเลที่จะจัดส่งกำลังทหารไปช่วยซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติการรอบๆ เยเมน อียิปต์นั้นยังคงมีความทรงจำอันขมขื่นเกี่ยวกับการเข้าไปแทรกแซงในเยเมนแล้วต้องประสบผลลบในระดับหายนะเมื่อช่วงทศวรรษ 1960 ทั้งนี้ ออกจะเป็นตลกร้ายทีเดียว ที่กองทหารอียิปต์ในตอนนั้นเข้าไปในเยเมนก็เพื่อสู้รบกับพวกนิยมเจ้าชาวซัยดี (Zaydi royalists) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียหนุนหลังอยู่

ดังนั้น สำหรับในตอนนี้ รัฐมนตรีกลาโหมซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ซัลมาน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/01/saudi-arabia-succession-king-salman-power.html) จะต้องจัดทำแผนการเตรียมไว้รับมือกับภัยคุกคามจากพวกฮูตีในบริเวณชายแดน โดยมีกองทหารซาอุดีอาระเบียเพียงลำพังให้พึ่งพาอาศัย ทั้งนี้กองทัพนี้ทำได้ไม่ค่อยดีนักในการปะทะกับพวกฮูตีหลายๆ ครั้งในอดีตที่ผ่านมา
(รายงานนี้มาจาก อัล-มอนิเตอร์ Al-Monitor)

อัล-มอนิเตอร์ เป็นเว็บไซต์สื่อที่เริ่มให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 โดย จามัล แดเนียล และตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน โดยมุ่งเสนอรายงานข่าวและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับตะวันออกกลาง ทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาของทางเว็บไซต์เองและส่วนที่แปลจากสื่ออื่นๆ เว็บไซต์แห่งนี้เป็นพันธมิตรด้านสื่อกับองค์การข่าวสารรายใหญ่ในประเทศตะวันออกกลางจำนวนมาก

หมายเหตุผู้แปล

[1] ขบวนการ ซัยดี ฮูตี (Zaydi Houthi)

ซัยดี (Zaidi) หรือ ลัทธิซัยดี (Zaidism) นั้น ถือเป็นสาขาเก่าแก่สาขาหนึ่งของศาสนาอิสลามนิกายชิอะห์ โดยที่มีผู้เลื่อมใสมากในเยเมน ประชากรชาวมุสลิมราวหนึ่งในสามของประเทศนี้ทีเดียวเป็นชาวซัยดี ลัทธินี้ได้ปกครองภาคเหนือของเยเมนอยู่เป็นเวลาร่วม 1,000 ปี จวบจนกระทั่งถึงปี 1962 เมื่อระบอบปกครองโดยอิหม่ามชาวซัยดี ได้ถูกโค่นล้มโดยขบวนการชาตินิยมที่มีอียิปต์หนุนหลัง และต้องล่าถอยเข้าไปในเขตเขาทุรกันดารและทะเลทรายตอนตอนเหนือ เพื่อทำศึกก่อกวนอียิปต์และพวกเยเมนนิยมสาธารณรัฐอยู่เป็นเวลา 6 ปี โดยที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นแหล่งความสนับสนุนจากภายนอกแหล่งใหญ่ที่สุด

ขณะที่ ฮูตี (Houthi) เป็นชื่อที่ใช้ตามนามของ ฮุสเซน บาเดรดดิน อัล-ฮูตี (Hussein Badreddin al-Houthi) ผู้ก่อตั้งขบวนการซัยดีแห่งยุคใหม่ เขาถูกสังหารไปในสงครามครั้งแรกจากจำนวน 6 ครั้งระหว่างปี 2004 ถึง 2010 ที่ขบวนการซัยดี ฮูตี สู้รบกับระบอบปกครองเยเมน

ก่อนที่ “อาหรับสปริง” จะแผ่ลามเข้าสู่เยเมนในปี 2011 ซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) ของเยเมนในตอนนั้น เปิดการรณรงค์ทางทหารปราบปรามพวกฮูตี รวมทั้งซาอุดีอาระเบียยังได้เปิดการรณรงค์ทางทหารของตนเองหลายครั้งเพื่อโจมตีพวกฮูตีตามแนวชายแดนภายหลังปี 2009 ทว่ากองทัพบกและกองทัพอากาศซาอุดีอาระเบียไม่ได้แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในยุทธการเหล่านี้ ดังนั้น ความผูกพันรักใคร่ใดๆ ที่ยังอาจตกค้างอยู่ระหว่างชาวซาอุดีกับชาวซัยดี ก็ได้คลายจางหมดสิ้นไปนานแล้ว เมื่อถึงเวลาที่การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ในเยเมน กดดันให้ ซาเลห์ ถูกขับออกจากตำแหน่ง และมี อาเบด รับโบ มันซูร์ ฮาดี (Abed Rabbo Mansour Hadi) ผู้ช่วยของเขา ขึ้นปกครองเยเมนแทน

ในขณะที่ “อาหรับสปริง” กำลังดำเนินไปนั้นเอง ขบวนการซัยดี ฮูตี ก็สามารถขยายตัวไกลออกไปจากที่มั่นเก่าแก่ดั้งเดิมของพวกเขาในตอนเหนือของเยเมนแถบจังหวัดซาดา (Saada) ใกล้ๆ กับพรมแดนซาอุดีอาระเบีย จนสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือเยเมนเอาไว้ได้ กระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน 2011 กล่าวกันว่า พวกฮูตีสามารถควบคุม 2 จังหวัดของเยเมน คือ ซาดา และ อัล จาว์ฟ (Al Jawf) รวมทั้งใกล้ที่จะยึดจังหวัดที่ 3 คือ ฮัจจาห์ (Hajjah) ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเปิดการโจมตีโดยตรงต่อเมืองหลวงซานา

ถึงเดือนกันยายน 2014 กล่าวกันว่าพวกฮูตีขยายตัวจนสามารถควบคุมหลายๆ ส่วนของกรุงซานา รวมทั้งอาคารสถานที่ทำการของรัฐบาลและสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ในขณะที่พวกเขาขยายการควบคุมเมืองหลวงและเมืองบริวารรอบๆ ออกไปเช่นนี้ กลุ่มที่คอยต่อต้านอย่างเข้มแข็งที่สุดก็คือพวกอัลกออิดะห์ในเยเมน ซึ่งเห็นกันว่าได้รับความช่วยเหลือจากซาอุดีอาระเบีย

สิ่งที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียบังเกิดความกังวลใจมากที่สุดเกี่ยวกับขบวนการซัยดี ฮูตี ก็คือความโยงใยเกี่ยวข้องกับอิหร่าน ในยุคของประธานาธิบดีซาเลห์ เขากล่าวหาอิหร่านว่าคอยช่วยเหลือกบฎกลุ่มนี้มาตั้งแต่ปี 2004 ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันได้เริ่มยืนยันว่าเตหะรานกำลังช่วยเหลือพวกฮูตีก็เมื่อถึงปี 2012

ในวันที่ 20 มกราคม 2015 พวกฮูตีได้เข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีเยเมนในกรุงซานา และดูเหมือนประธานาธิบดีฮาดี จะถูกจับเป็นตัวประกัน ก่อนจะหลบหนีออกมาได้ในเวลาต่อมา แต่ในระหว่างนั้น ขบวนการซัยดี ฮูตี ได้เข้าควบคุมรัฐบาลเยเมนอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยประกาศยุบรัฐสภา และประกาศว่า “คณะกรรมการปฏิวัติ” ของพวกเขาจะเป็นผู้รักษาอำนาจสิทธิขาดทั้งหลายในเยเมน

(ข้อมูลจาก Wikipedia และ http://www.al-monitor.com/pulse/ru/contents/articles/originals/2014/10/houthi-yemen-victory-saudi-arabia-nightmare-iran.html#)
กำลังโหลดความคิดเห็น