xs
xsm
sm
md
lg

‘วิกฤตความไว้วางใจกัน’ ระหว่าง ‘สหรัฐฯ’ กับ ‘อิรัก’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A crisis of trust in Iraq
By M K Bhadrakumar
05/03/2015

เราจะไม่มีทางทราบเลยว่าความคิดอันแสนเจ็บปวดอะไรบ้างที่แล่นแปลบปลาบผ่านไปในสมองของ พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ เมื่อตอนที่เขาให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ทว่ามันย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างแน่นอนในการที่เขาจะต้องเอ่ยถึงผลงานของอิหร่านในทางยกย่องชมเชย จากการที่อิหร่านได้แสดง “พฤติการณ์อันเปิดเผยชัดเจนที่สุด ... ในรูปแบบของปืนใหญ่และสิ่งอื่นๆ” ในการปฏิบัติการทหารเพื่อตีคืนเมืองติกริตจากยึดครองของพวก “รัฐอิสลาม” (ไอเอส)

เราจะไม่มีทางทราบเลยว่าความคิดอันแสนเจ็บปวดอะไรบ้างที่แล่นแปลบปลาบผ่านไปในสมองของ พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ (Gen. Martin Dempsey) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ (chairman of the US Joint Chiefs of Staff) เมื่อตอนที่เขาให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ทว่ามันย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างแน่นอนในการที่เขาจะต้องเอ่ยถึงผลงานของอิหร่านในทางยกย่องชมเชย จากการที่อิหร่านได้แสดง “พฤติการณ์อันเปิดเผยชัดเจนที่สุด ... ในรูปแบบของปืนใหญ่และสิ่งอื่นๆ” ในการปฏิบัติการทหารเพื่อตีคืนเมืองติกริต (Tikrit) จากยึดครองของพวก “รัฐอิสลาม” (Islamic State ใช้อักษรย่อว่า IS)

แน่นอนทีเดียว พล.อ.เดมป์ซีย์ ทราบดีว่าแท้ที่จริงแล้วเขากำลังยกย่องชมเชยนายพลชาวอิหร่านผู้หนึ่งซึ่งปรากฏชื่ออยู่ใน “บัญชีผู้ที่ต้องถูกเก็บ” ของฝ่ายอเมริกัน-อิสราเอล มานมนานแล้ว ได้แก่ นายพล กอเซม โซเลมานี (Qasem Soleimani) ผู้บัญชาการ กองกำลังค็อดส์ (Quds Force) ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guards of Iran ใช้อักษรย่อว่า IRGC)

เพื่อทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนขึ้นมาอีกสักหน่อย ผมขออนุญาตออกนอกเรื่องสักนิดนึง ด้วยการเสนอให้อ่านโปรไฟล์ของนายพลแห่ง IRGC ผู้ฉลาดสุดเฉียบแสนอันตราย, มีอำนาจบารมี, และพลิกพลิ้วยากที่จะจับติดผู้นี้ ซึ่งเขียนเอาไว้อย่างตื่นใจน่าติดตาม ในนิตยสาร “นิวยอร์กเกอร์” (New Yorker) เมื่อเดือนกันยายน 2013 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “THE SHADOW COMMANDER” (ดูได้จากเว็บเพจ http://www.newyorker.com/magazine/2013/09/30/the-shadow-commander) แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไม พล.อ.เดมป์ซีย์จะต้องอยู่ในอาการกล้ำกลืนฝืนทนขนาดไหนในขณะที่เขาไปให้ปากคำเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

แต่ พล.อ.เดมป์ซีย์ ยังมีทางเลือกอะไรอื่นเหลืออยู่ ถ้าหากไม่พูดในทางยกย่องชมเชยเตหะราน และหันเหความสนใจออกมาจากประเด็นใจกลางสำคัญ --อันได้แก่ การที่แบกแดดปล่อยให้วอชิงตันตกอยู่ในความมืดบอดเกี่ยวกับการเปิดยุทธการตีเมืองติกริตคืนคราวนี้ โดยตัดสินใจเลือกที่จะเดินตามการบังคับบัญชาของนายพลโซเลมานี มากกว่า? หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์นั้น มีรายงานข่าวเจาะลึกของผู้สื่อข่าว แอนน์ บาร์นาร์ด (Anne Barnard) ซึ่งกำลังประจำอยู่ที่กรุงแบกแดด ที่แจกแจงให้เห็นว่าได้เกิดการกินแหนงแคลงใจกันขึ้นมาระหว่างรัฐบาลอิรักกับฝ่ายอเมริกัน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nytimes.com/2015/03/04/world/middleeast/iraq-drive-against-isis-reveals-tensions-with-us.html?_r=0) อย่างที่ผู้สื่อข่าวหญิงผู้นี้รายงานเอาไว้นั่นแหละ ฝ่ายอิรักรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังต่อ “ฝีก้าวอันเอื่อยเฉื่อยของฝ่ายอเมริกัน และการประเมินอย่างมองการณ์ในแง่ร้ายของฝ่ายอเมริกันในเรื่องระยะเวลาที่จะต้องใช้สำหรับการผลักดันพวกรัฐอิสลามให้ออกไปจากเมืองโมซุล และจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของอิรัก” บาร์นาร์ดยังอ้างคำพูดของผู้ช่วยใกล้ชิดผู้หนึ่งของนายกรัฐมนตรี ฮัยเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi)แห่งอิรัก ที่กล่าวว่า “ฝ่ายอเมริกันยังคงคอยแต่หน่วงเหนี่ยวผัดวันประกันพรุ่ง ในเรื่องเวลาที่จะลงมือทำการปลดแอกดินแดนของประเทศเรา” ผู้ช่วยใกล้ชิดของนายกรัฐมนตรีอิรักผู้นี้กล่าวในการให้สัมภาษณ์บาร์นาร์ด และสรุปว่า “อิรักจะลงมือปลดแอกโมซุลและอันบาร์ โดยไม่ต้องมีพวกเขา (ฝ่ายอเมริกัน) ก็ได้”

เวลานี้ ทางเลือกทางหนึ่งที่เปิดให้แก่วอชิงตัน ย่อมได้แก่การอยู่เฉยเฝ้ารอดูสถานการณ์ พร้อมกับตั้งความหวังครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ยุทธการร่วมของอิรัก-อิหร่านในการตีเมืองติกริตกลับคืนนี้ เมื่อถึงช่วงใดช่วงหนึ่งก็จะเกิดความจำเป็นต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากกองทหารสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวดูจะเป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ และรายงานข่าวที่ออกมาจากภาคสนาม ต่างเดินไปสู่ข้อสรุปที่ว่า กลุ่มไอเอสกำลังเผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในติกริต

ทางเลือกที่อาจเป็นไปได้อย่างที่สองสำหรับฝ่ายอเมริกัน ได้แก่การออกมาป่าวร้องว่าศึกครั้งนี้เป็นการเปิดยุทธการของพวกชิอะห์ และสหรัฐฯไม่สามารถที่จะร่วมขบวนไปกับการสู้รบขัดแย้งในลักษณะแบ่งแยกนิกายศาสนาเช่นนี้ได้ ทว่าตามรายงานที่ออกมาหลายๆ ชิ้นในช่วงหลังๆ นี้ กลับบ่งบอกให้ทราบว่า มีนักรบอิรักที่เป็นชาวสุหนี่จำนวนเรือนพันทีเดียว กำลังเข้าร่วมการศึกคราวนี้ โดยอยู่ข้างฝ่ายกองกำลังอาวุธของรัฐบาลอิรักและพวกผู้ปฏิบัติงานของกองทัพ IRGC ของอิหร่าน กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ศึกคราวนี้เป็นสงครามต่อสู้กับการก่อการร้ายแบบคลาสสิก ทุกๆ ฝ่ายพร้อมใจรวมกำลังกันเล่นงานปราบปรามผู้ก่อการร้าย

แน่นอนทีเดียว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะต้องออกมาตอบคำถามอันฉกาจฉกรรจ์หลายๆ ข้อ เป็นต้นว่า ทำไม “กลุ่มพันธมิตรนานาชาติ” ที่นำโดยสหรัฐฯจึงกำลังปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ และเอาแต่แก้เนื้อแก้ตัวการปล่อยเวลาทิ้งเปล่าเช่นนี้ด้วยการประโคมให้เกินจริงอย่างไม่จำเป็นเกี่ยวกับสมรรถนะความสามารถของพวกนักรบ “รัฐอิสลาม”? ยุทธการชิงคืนเมืองติกริตของแบกแดด กับ เตหะราน กำลังกลายเป็นการเปิดโปงสหรัฐฯและพวกชาติหุ้นส่วนในกลุ่มพันธมิตรที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ไล่ตั้งแต่ออสเตรเลียไปจนถึงพวกรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซีย โดยทำให้พวกเขากลายเป็นคนเลวทราม ถ้าหากไม่ใช่เป็นพวกขี้ขลาดไม่กล้าสู้รบ ก็เป็นพวกที่มีอะไรปิดบังซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง

ทั้งนี้ หากมองกันอย่างเจาะจงไปที่ซาอุดีอาระเบีย เราก็จะพบว่าประเทศนี้กำลังอยู่เงียบเชียบไม่ยอมแสดงอาการอะไรออกมา ถึงแม้ว่าพวกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลูกหลานของซาอุดีอาระเบีย กำลังเผชิญหน้ากับการถูกสังหารหมู่

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

หมายเหตุผู้แปล

เพิ่มเติมทัศนะความคิดเห็นของ พล.อ.เดมป์ซีย์

หลังจากไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐฯในวันที่ 2 มีนาคมแล้ว อีกไม่กี่วันต่อมา พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ได้เดินทางไปตระเวนเยือนภูมิภาคตะวันออกกลาง ในวันที่ 8 มีนาคม ระหว่างที่เขาไปเยี่ยมเรือบรรทุกเครื่องบิน “ชาร์ลส์ เดอ โกล” (Charles De Gaulle) ของฝรั่งเศส ซึ่งก็กำลังปฏิบัติการอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า พล.อ.เดมป์ซีย์ ได้แสดงทัศนะของฝ่ายทหารอเมริกัน เกี่ยวกับการทำสงครามปราบปรามพวกไอเอส ซึ่งจะขอแปลเก็บความสาระสำคัญมานำเสนอดังนี้:

นายทหารระดับสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ กล่าวปกป้องฝีก้าวของสงครามทางอากาศในการโจมตีพวกนักรบญิฮัด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) โดยเตือนว่า การยกระดับการถล่มทิ้งระเบิด หรือการส่งกำลังทหารอเมริกันเข้ามาเพิ่มมากขึ้น จะกลายเป็นความผิดพลาด

ระหว่างการเยือนเรือบรรทุกเครื่องบินของฝรั่งเศสในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งกำลังเข้าร่วมในการรณรงค์ทางอากาศคราวนี้ด้วย พล.อ.เดมป์ซีย์ ขอให้มี “ความอดทนในทางยุทธศาสตร์” ในการสู้รบปราบปรามพวกไอเอส ในอิรักและซีเรียคราวนี้

เขากล่าวว่า การขยายสงครามทางอากาศมีความเสี่ยงที่จะทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย และตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของพวกไอเอส

“ดังนั้น เราจึงมีความรับผิดชอบที่จะต้องมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในเวลาที่ใช้แสนยานุภาพทางอากาศ และนั่นหมายถึงว่าจะต้องใช้เวลา” ในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองอันแม่นยำเกี่ยวกับเป้าหมายที่ควรทำการโจมตี นายพลผู้นี้แจกแจง และยืนยันว่า “การทิ้งระเบิดปูพรมตลอดทั่วทั้งอิรัก ไม่ใช่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง”

เขาบอกด้วยว่า จังหวะของการปฏิบัติการทางทหารคราวนี้ ยังต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของกองทัพอิรัก และความมุ่งมั่นของรัฐบาลแบกแดดในการปรองดองกับประชากรชาวสุหนี่ที่เกิดความแปลกแยกไม่พอใจรัฐบาล

พล.อ.เดมป์ซีย์ ระบุว่า สงครามความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะตัดสินกันในสมรภูมิได้ภายในเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็ว ทว่าการปฏิบัติการทางทหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ความพยายามที่มีขอบเขตกว้างขวางกว่านั้น

“ผมคิดจริงๆ ว่าจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้มีความอดทนในทางยุทธศาสตร์กันบ้าง” เขากล่าว และเสริมว่า “ประเด็นปัญหาที่อยู่เบื้องลึกลงไปหลายๆ ประการ จำเป็นที่จะต้องแก้ไขคลี่คลายเสียก่อน”

วอชิงตันเวลานี้กำลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาติอาหรับที่เป็นพันธมิตรบางรายว่า การรณรงค์ทางอากาศที่เปิดฉากมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วนั้นไร้ประสิทธิภาพ และใช้ความระแวดระวังจนเกินเหตุ

ขณะที่พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯสายเหยี่ยว ก็เรียกร้องให้ส่งกองทหารรบพิเศษเข้าไปเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือแนะนำกองทหารอิรัก ทั้งในการสู้รบ และในการชี้เป้าให้แก่การโจมตีทางอากาศ

ทว่า พล.อ.เดมป์ซีย์ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนทหารอเมริกันผู้กำลังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมกองกำลังอาวุธท้องถิ่น เนื่องจากกองทัพอิรักยังไม่พร้อมสำหรับการทำศึกในขนาดใหญ่โตมากขึ้น

“เรามีครูฝึกสอนและที่ปรึกษาซึ่งกำลังเฝ้าคอยให้มีหน่วยทหารอิรักสักบางหน่วยที่จะแสดงตัวออกมาว่ามีความพร้อม” นายพลอเมริกันผู้นี้พูดถึงกองทหารสหรัฐฯที่ปัจจุบันประจำอยู่ในอิรักแล้ว 2,600 คน

“แต่เมื่อพวกเขาแสดงตัวออกมา ซึ่งมีเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น พวกเขาก็แสดงตัวในสภาพที่ยังขาดความแข็งแกร่ง และบางครั้งก็ไม่มียุทโธปกรณ์ที่เหมาะสม”

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.defensenews.com/story/defense/international/americas/2015/03/08/top-us-general-escalating-air-war-answer/24611553/)

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากเยี่ยมเรือบรรทุกเครื่องบินของฝรั่งเศสแล้ว ต่อมา พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ ยังได้ไปเยือนอิรักเป็นระยะสั้นๆ ในวันที่ 8 มีนาคม และเดินทางมาที่กรุงมานามา ประเทศบาห์เรน ซึ่งที่นั้นเขาได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้งในวันที่ 9 มีนาคม สาระสำคัญอันน่าสนใจของการแถลงของเขา มีดังนี้:

นายทหารระดับสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ พล.อ.มาร์ติน เดมป์ซีย์ กล่าวเตือนว่า กลุ่มพันธมิตรนานาชาติซึ่งกำลังร่วมมือร่วมใจกันทำการสู้รบกับพวกสุดโต่ง “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) อาจจะปั่นป่วนตกอยู่ในอันตราย ถ้าหากรัฐบาลแบกแดดล้มเหลวไม่สามารถเชื่อมต่อแก้ไขความแตกแยกทางนิกายศาสนาในอิรักได้

พล.อ.เดมป์ซีย์ กล่าวภายหลังจากได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ในกรุงแบกแดดว่า พวกผู้นำทางการเมืองของอิรักยังคงไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่จะเข้าไปให้ถึงประชากรส่วนที่เป็นชาวสุหนี่ อีกทั้งยังทำให้เกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค ด้วยการมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับอิหร่านซึ่งนำโดยชาวชิอะห์

เขาชี้ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อมองกันระยะยาวแล้ว กลุ่มพันธมิตรต่อต้านไอเอส ซึ่งประกอบด้วยรัฐอาหรับที่เป็นชาวสุหนี่หลายๆ ประเทศ อาจจะประสบความเสี่ยงในเรื่องความสมัครสมานสามัคคีกัน

พล.อ.เดมป์ซีย์ กล่าวว่า “ผมออกจากอิรักมาด้วยความวิตกกังวลนิดหน่อยว่า มันกำลังจะเป็นเรื่องลำบากที่จะประคับประคองกลุ่มพันธมิตรเอาไว้ให้ดำรงคงอยู่ไปจนเสร็จสิ้นการท้าทายคราวนี้ ซึ่งเป็นการท้าทายในระดับทั่วทั้งภูมิภาคทีเดียว ถ้าหากว่ารัฐบาลอิรักยังคงไม่สามารถที่จะสถาปนารูปแบบของความสามัคคีเป็นเอกภาพทั่วทั้งชาติขึ้นมาได้อย่างแท้จริง โดยที่พวกเขาก็จะต้องแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นผูกพันอย่างแท้จริงด้วย”

ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯบอกว่า จากการที่กลุ่มไอเอส “ตกอยู่ใต้แรงกดดันบีบคั้นในแทบทุกส่วนของอิรัก” เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “ในด้านการทหาร” ของการรณรงค์คราวนี้กำลังอยู่ในเส้นทาง และ “กำลังไปได้ดี” ทว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดสำหรับวอชิงตันและชาติสมาชิกกลุ่มพันธมิตรนานาชาติรายอื่นๆ นั้น อยู่ที่การทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า รัฐบาลอิรักที่นำโดยชาวชิอะห์ ต้องเคารพรักษาสิทธิของประชาคมชาวอาหรับสุหนี่ และชาวเคิร์ด ด้วย

พล.อ.เดมป์ซีย์ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับสมรรถนะความสามารถของกองทัพอิรัก “ในทางทหารแล้ว ผมเห็นอย่างชัดเจนว่ายังคงมีผู้นำบางคนซึ่งจำเป็นที่จะต้องถูกเปลี่ยนตัว” เขาบอก และกล่าวอีกว่า “ทหารที่เกณฑ์มาก็ยังคงมีไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ทหารเกณฑ์เหล่านั้นไม่ได้รับเงินเดือนตามเวลา หรือไม่ได้รับการประกอบอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม”

เขายังย้ำเรื่องที่ชาติอาหรับที่เป็นสุหนี่หลายประเทศ ซึ่งจำนวนมากกำลังเข้าร่วมในการโจมตีทางอากาศต่อไอเอส ต่างมีความไม่สบายใจเกี่ยวกับอิทธิพลของอิหร่านในอิรัก

ก่อนหน้านี้ ในระหว่างร่วมการแถลงข่าวกับ เดมป์ซีย์ ในกรุงแบกแดด รัฐมนตรีกลาโหม คอเลด อัล-โอไบดี (Khaled al-Obaidi) ของอิรัก ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะต้องขอโทษขอโพยอะไร ในการที่อิรักรับความช่วยเหลือทางทหารจากอิหร่าน

“เรากำลังอยู่ในสถานการณ์การสู้รบ และเราก็ย่อมต้องมองหาเพื่อนมิตรของเรา ที่จะสามารถช่วยเหลือเราได้ในศึกสงครามประจันหน้ากันคราวนี้” โอไบดี บอก

พล.อ.เดมป์ซีย์ กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงมานาบาคราวนี้ว่า ในระหว่างที่เขาเจรจาหารือกับ โอไบดี และนายกรัฐมนตรี ฮัยเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) ของอิรักนั้น เขายอมรับ “สัญชาตญาณ” ของทางผู้นำอิรักซึ่งมองหาความช่วยเหลือจากประเทศใดๆ ก็ตามที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ

แต่เขาก็ย้ำว่า “พวกเขา (พวกผู้นำของอิรัก) ควรที่จะตระหนักถึงความท้าทาย ของการที่จะต้องพยายามประคับประคองกลุ่มพันธมิตรเอาไว้”

พล.อ.เดมป์ซีย์ บอกด้วยว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าสายสัมพันธ์โยงใยระหว่างอิรักกับอิหร่าน เป็นเพียงเรื่องของการทำศึกกับไอเอสเท่านั้น หรือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวาระที่ใหญ่โตกว้างขวางกว่านั้น

“สิ่งที่ผมกำลังพยายามสืบเสาะให้กระจ่างก็คือ ระดับของการที่พวกเขายอมรับความช่วยเหลือระยะสั้นอย่างที่พวกเขากำลังรับจากอิหร่านนั้น มันคือปฏิกิริยาจากการที่พวกเขาถูก (ไอเอส) คุกคามถึงความอยู่รอด หรือมันเป็นอะไรที่เป็นระยะยาวไกลกว่านั้น” เขากล่าว ถึงแม้เขาจะพยายามออกตัวด้วยว่า “อย่างไรก็ตาม มันอาจจะเป็น (สายสัมพันธ์) ระยะยาว แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ให้ผลลบ”

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://news.yahoo.com/us-military-chief-baghdad-amid-iraqi-offensive-082005986.html)
กำลังโหลดความคิดเห็น