เอเจนซีส์ – หลังจากกระทรวงต่างประเทศขอให้ ฮิลลารี คลินตัน อดีตเจ้ากระทรวงส่งอีเมลแอกเคาน์ส่วนตัวที่ใช้ในระหว่างการดำรงตำแหน่งให้ตรวจสอบ ซึ่งมีจำนวนถึง 55,000 แผ่น ทำให้มีการเปิดเผยว่า ตลอดเวลา 4 ปี คลินตันไม่เคยมีอีเมลแอกเคาน์รัฐบาลประจำตำแหน่งซึ่งมีความปลอดภัยสูง และการใช้อีเมลส่วนตัวของเธออาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ รวมไปถึงสร้างความวิตกในการรั่วไหลชั้นความลับการทูตระดับชาติ
เดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(3) ว่าดูเหมือนว่ายิ่งใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯรอบใหม่ ฮิลลารี คลินตันจะตกเป็นเป้าโจมตีมากขึ้น เมื่อล่าสุดหลังมีการเปิดเผยหลังจากสหรัฐฯ ในตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาในการทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตันได้ใช้อีเมลส่วนตัวในการทำงานประจำตำแหน่งเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงมาโดยตลอด
ซึ่งข่าวชิ้นนี้ถูกเปิดเผยออกมาครั้งแรกจากหน้าสื่อนิวยอร์กไทม์ส หลังจากที่ทางกระทรวงต่างประเทศต้องทำตามขั้นตอนโดยการขอให้คลินตันมอบข้อมูลจากอีเมลส่วนตัวที่เธอใช้ในขณะดำรงตำแหน่งตั้งแต่มกราคม 2009 ไปจนถึงกุมภาพันธ์ 2013 และพบว่าทางทีมงานของฮิลลารีได้มอบอีเมลจำนวน ถึง 55,000 แผ่นกลับไปให้ สร้างความวิตกว่าความลับชั้นการทูตระดับชาติอาจรั่วไหล และมีความเป็นไปได้ว่าคลินตันอาจละเมิดกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
ทั้งนี้สื่ออังกฤษรายงานว่า ตลอดเวลาการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 4 ปีของฮิลลารี คลินตันไม่เคยขอแอกเคาน์ประจำตำแหน่ง *.gov ที่มีความปลอดภัยสูงแต่อย่างใด นอกจากนี้เอบีซี สื่อสหรัฐฯรายงานเพิ่มเติมว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ฮิลลารี คลินตันใช้บริการอีเมลเซิร์ฟเวอร์แห่งใดในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศในขณะดำรงตำแหน่ง และยังไม่ทราบถึงระดับการรักษาความปลอดภัยของอีเมลส่วนตัวที่เธอใช้
อย่างไรก็ตามมีรายงานจากวอชิงตันโพสต์ว่า โดเมน "clintonemail.com" ถูกจดทะเบียนสัปดาห์ก่อนที่ฮิลลารี คลินตันจะขึ้นกล่าวสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในปี 2009 แต่ทว่าทางทีมงานของคลินตันไม่ได้ยืนยันว่าเธอใช้อีเมลจากโดเมนนั้น และเอบีซีชี้ว่า แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯระบุว่า อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนอื่นๆที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ใช้แอกเคาน์ส่วนตัวเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้อดีตเจ้ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ 2 คน จะใช้แต่แอกเคาน์ต์ของรัฐบาลกลางเท่านั้น หรือไม่ใช้อีเมลเพื่อติดต่อสื่อสารโดยสิ้นเชิง และคนที่ 3 หลีกเลี่ยงที่จะใช้อีเมลส่วนตัวเพื่อหลีกเลี่ยงข้อมูลลับถูกเปิดเผย แหล่งข่าวใกล้ชิดเผยกับเอบีซี และนอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งใกล้ชิดกับคอนโดลีซซา ไรซ์อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้ความเห็นกับเอบีซีว่า ไรซ์ไม่เคยใช้อีเมลส่วนตัวในการติดต่อเกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ใกล้ชิดแมเดลีน อัลไบรต์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในปลายยุค 90 ไม่เคยใช้อีเมลเลย ส่วน เพกกี ซิฟริโน โฆษกส่วนตัวพลเอกคอลลิน พาวเวล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯสมัยประธานาธิบดี จอร์จ เอช บุช ผู้พ่อ กล่าวว่า พาวเวลใช้อีเมลจากแอกเคาน์ส่วนตัวของพาวเวลในการติดต่อจริง แต่ทว่าพาวเวลไม่ได้ตระหนักว่าเป็นการละเมิดกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯในขณะนั้น ด้านจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนปัจจุบัน เป็นคนแรกที่ปฎิบัติตามกฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ใช้อีเมลประจำตำแหน่งนับตั้งแต่วันเข้ารับสาบานตน รายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดเคร์รี
นิวยอร์กไทม์สรายงานเพิ่มเติมว่า ในขณะนั้นสำนักงานจัดเก็บเอกสารและบันทึกแห่งชาติสหรัฐฯ( National Archives and Records Administration) กำหนดให้อีเมลที่ถูกส่งหรือได้รับในแอกเคาน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐระดับสูงจะต้องถูกนำมาเก็บรวบรวมที่สำนักงานแห่งนี้เพื่อเป็นหลักฐาน และขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคลินตันมีอีเมลจำนวนมากเท่าใดที่เก็บในแอกเคาน์ส่วนตัว และทีมงานของคลินตันใช้วิธีใดในการแยกแยะว่าอีเมลชิ้นใดที่เข้าข่ายต้องยื่นต่อกระทรวงต่างประเทศหลังจากที่ทางทีมงานมอบอีเมลจำนวน 55,000 แผ่นให้กับทางกระทรวงต่างประเทศภายหลังได้รับการร้องขอ รวมไปถึงทางทีมงานไม่เปิดเผยว่า เหตุใดคลินตันจึงเลือกใช้อีเมลส่วนบุคคลในการติดต่อสื่อสารแทน และไม่ระบุว่าคลินตันเคยใช้อีเมลส่วนตัวติดต่อผู้นำต่างชาติหรือไม่ ซึ่งการกระทำครั้งนี้ของเธอ สะท้อนถึงข่าวฉาวต้องสงสัยเกี่ยวพันทั้งฮิลลารี คลินตัน และอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งทั้งสองคนในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนั้นไม่มีความโปร่งใส และดูเหมือนเก็บงำความลับบางอย่างไว้
และรายงานข่าวว่า มูลนิธิครอบครัวคลินตันถูกรัฐบาลสหรัฐฯตรวจสอบ หลังพบรับเงินบริจาคจากต่างชาติเป็นจำนวนมากในขณะที่ฮิลลารี คลินตันยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ โดยใน 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิยอมรับว่าได้ละเมิดข้อตกลงทางจริยธรรมกับรัฐบาลสหรัฐฯในขณะที่ฮิลลารี คลินตันยังคงร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามนิวยอร์กไทม์สชี้ว่า การลงโทษผู้ที่ไม่ปฎิบัติตามสำนักงานจัดเก็บเอกสารและบันทึกแห่งชาติสหรัฐฯนั้นมีน้อยมากเนื่องจากสำนักงานแห่งนี้ไม่มีอำนาจมากพอในการลงโทษผู้ฝ่าฝืน