xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’เยือน ‘อินเดีย’: อุดมด้วย ‘สัญลักษณ์’แต่ ‘เนื้อหา’ว่างกลวง

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Obama’s India visit a big blank
By M K Bhadrakumar
30/01/2015

การเดินทางไปอินเดียเป็นเวลา 3 วันของ บารัค โอบามา เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเป็นการเยือนแดนภารตะครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ การเยี่ยมเยียนคราวนี้อุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษด้วยสัญลักษณ์ทางการเมือง ทว่ากลับล้มเหลวมิได้ผลิตผลลัพธ์อันมีเนื้อหาสาระออกมา ทั้งนี้ ไม่ได้มีคำมั่นสัญญาใดๆ เกี่ยวกับการลงทุนของสหรัฐฯ, ไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ, ไม่ได้มีโครงการอันสำคัญเป็นหลักหมายระดับ “เรือธง” ใดๆ ในเรื่องการร่วมมือทางการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร รวมทั้งอินเดียก็ไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ จากสหรัฐฯเลย

การเดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคมที่ผ่านมา มีความอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษในเรื่องสัญลักษณ์ทางการเมือง การเยี่ยมเยียนครั้งนี้บังเกิดขึ้นหลังจากที่ในเบื้องแรกทีเดียว นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้เชื้อเชิญ โอบามา ให้มาเป็นแขกเกียรติยศหัวแถว ในงานเฉลิมฉลองวันชาติ 26 มกราคมของอินเดีย

ตัว โมดี เองนั้นเพิ่งไปเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อ 4 เดือนก่อน และการที่โอบามาตอบรับคำเชิญคราวนี้ ยังหมายความว่าเป็นการสร้างแบบอย่างซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเป็นการเยือนแดนภารตะครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดีสหรัฐฯในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่

เมื่อฝุ่นผงคลีซึ่งฟุ้งกระจายจากความตื่นเต้นของการเยี่ยมเยียนอันเต็มไปด้วยสีสันครั้งนี้ค่อยๆ จางคลายลงไปแล้ว มันก็ถึงเวลาที่จะเริ่มต้นพินิจพิจารณากันอย่างจริงจัง ถึงดอกผลที่ผลิตออกมาได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ควรต้องวินิจฉัยนั้นมีด้วยกัน 3 ด้าน กล่าวคือ ด้านแรก สัญลักษณ์ทางการเมืองที่ปรากฏให้เห็นเหล่านี้ควรที่จะถอดรหัสแปลความหมายว่าอย่างไร ด้านที่สอง ผลลัพธ์ที่เป็นเนื้อหาสาระของการเยือนคราวนี้คืออะไร และด้านที่สาม ความสัมพันธ์ที่ได้รับการยกระดับสูงขึ้นมาเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อพลวัตอันเต็มไปด้วยพลังในเอเชีย-แปซิฟิก

ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย ทั้งนิวเดลีและวอชิงตันต่างส่งสัญญาณแสดงความมุ่งมั่นในทางการเมือง ที่จะปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ให้คึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ หลังจากตกอยู่ในสภาพเนือยๆ ลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อมองย้อนหลังกลับไป เราย่อมพบเห็นว่าความมุ่งหวังอย่างสูงส่งซึ่งปรากฏขึ้นมาจากการที่อดีตนายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย เดินทางไปวอชิงตันในปี 2009 และการที่โอบามาเยือนแดนภารตะเป็นการตอบแทนในปี 2010 มิได้รับการเติมเต็มอย่างสมราคาตามที่คาดหมายกันไว้ และดังนั้นจึงส่งผลทำให้รัศมีที่เปล่งเรืองรองของความสัมพันธ์ทวิภาคีอินเดีย-สหรัฐฯ ต้องอับแสงคล้ำมืดลงไปมาก

กล่าวโดยสาระสำคัญแล้ว คณะบริหารโอบามาใช้ท่าทีเฝ้ารอไปก่อนจนกระทั่งความไม่แน่นอนทางการเมืองในอินเดียได้รับการสะสางให้กระจ่างชัดเจนภายหลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2014 ต่อจากนั้นตัวโมดีเองก็ได้ใช้ความพยายามลงแรงผลักดัน โดยระหว่างการเยือนสหรัฐฯในเดือนกันยายนปีนั้นของเขา โมดีไม่เพียงแค่มุ่งเน้นย้ำว่าไม่ได้มีเจตนารมณ์ในทางลบในทางเลวร้ายใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้น หากยังแสดงความกระหายที่จะปลุกความมีชีวิตชีวาให้แก่สายใยความผูกพันซึ่งมีอยู่กับสหรัฐฯอีกด้วย และวอชิงตันก็ประเมินวินิจฉัยออกมาว่า ตนสามารถคบค้าร่วมไม้ร่วมมือกับโมดีได้ โดยที่นายกรัฐมนตรีอินเดียคนใหม่ผู้นี้ ไม่เพียงถูกมองว่าเป็น “พวกนิยมการปฏิรูป” เฉกเช่น มานโมหัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีคนก่อนเท่านั้น หากโมดียังเป็นคู่เจรจาซึ่งมุ่งเน้นสาระสำคัญมากกว่า, ทรงประสิทธิภาพกว่า, และเด็ดเดี่ยวยิ่งกว่าซิงห์อีกด้วย

สำหรับโมดี การแสดงออกอย่างฟุ่มเฟือยให้โลกมองเห็นถึงไมตรีจิตมิตรภาพที่มีอยู่กับ “บารัค” เป็นสิ่งที่ให้ผลดียิ่งแก่ตัวเขาในทางด้านการเมืองภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายโอบามาถึงแม้ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องชอบวางตัวเหินห่าง แต่เขากลับแสดงความยินยอมพร้อมใจที่จะเล่นบทเคียงข้างกับโมดี ทั้งนี้สืบเนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขากำลังถูกปรปักษ์ทางการเมืองในสหรัฐฯเอง โจมตีไล่ล่าอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย การฟื้นชีพความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อินเดียให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ ย่อมถือเป็นมรดกทางด้านนโยบายการต่างประเทศซึ่งเขาจะสามารถโอ่อวดด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยเหตุฉะนี้ การผูกสัมพันธ์ระหว่างโมดี-โอบามาจึงช่างเหมาะเหม็งราวกับเป็นเนื้อคู่ที่สวรรค์ลิขิตเอาไว้ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บรรยากาศจะออกมาอย่างที่บรรยายไว้ข้างต้น แต่เอาจริงแล้วการเยือนของโอบามากลับล้มเหลวไม่ได้ก่อเกิดผลลัพธ์อันมีเนื้อหาสาระอะไรเอาเสียเลย ทั้งนี้ เขาไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ เกี่ยวกับการลงทุนของสหรัฐฯ ไม่ได้มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (ซึ่งตั้งแต่ตอนแรกดูเหมือนสหรัฐฯจะถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้น) มีการต่ออายุข้อตกลงทางการทหารระหว่างอินเดีย-สหรัฐฯออกไปอีก 10 ปีก็จริง ทว่าไม่ได้มีการประกาศโครงการอันสำคัญเป็นหลักหมายระดับ “เรือธง” ใดๆ ในเรื่องการร่วมมือผลิตหรือการร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร รวมทั้งอินเดียก็ไม่ได้ลงนามในสัญญาซื้อหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ จากสหรัฐฯเลย

สิ่งที่ได้รับการรายงานว่าเป็นผลลัพธ์อันสำคัญอย่างหนึ่งของการเยี่ยมเยียนคราวนี้ ได้แก่ “การผ่าทางตัน” สามารถหาสูตรซึ่งจะขจัดความไม่ลงรอยกันในระหว่างรัฐบาลของทั้งสองชาติ เกี่ยวกับกฎหมายความรับผิดทางนิวเคลียร์ (nuclear liability law) ของอินเดีย ทว่ายังคงไม่มีความชัดเจนเลยว่าความเข้าอกเข้าใจกันซึ่งเห็นพ้องต้องกันในระดับรัฐบาลแล้วนี้ (รายละเอียดของสิ่งที่เข้าอกเข้าใจกันนี้ยังคงไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน) จะสามารถทนทานต่อการตรวจสอบพิจารณาเมื่อมีผู้นำขึ้นฟ้องศาลยุติธรรมหรือไม่ หรือกระทั่งว่าจะสามารถเร่งรัดพวกบริษัทอเมริกันให้ยุติความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อกฎหมายของอินเดียฉบับนี้ได้หรือไม่ (พวกบริษัทอเมริกันบอกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ดำเนินตามรอยของกติกาสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความรับผิดในการซื้อขายทางด้านนิวเคลียร์)

กล่าวโดยสรุป ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นค่อนข้างแย่ ทว่ากลับมีการโหมประโคมทางสื่ออย่างเอิกเกริกว่า ว่า นี่เป็นการเยือนที่ “ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกสถานะหนึ่ง” แท้จริงแล้ว การเยือนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกสถานะหนึ่งในความสัมพันธ์อินเดีย-สหรัฐฯนั้น คือ การเยือนของ บิล คลินตัน ในเดือนมีนาคม 2000 และการเยือนของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในเดือนมีนาคม 2006 ต่างหาก เพราะการเดินทางมาของคลินตัน เป็นนิมิตรหมายให้เห็นว่านโยบายต่างๆ ของสหรัฐฯที่ไม่มีความเป็นมิตรต่ออินเดียในยุคสงครามเย็นนั้น กำลังได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องอย่างชนิดที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ขณะที่การเดินทางมาของบุชบังเกิดขึ้นท่ามกลางภูมิหลังของการทำข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับอินเดียว่าด้วยความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพื่อใช้ในกิจการพลเรือน ซึ่งก่อให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาว่า กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงจนถึงระดับกรอบความคิดสำหรับความผูกพันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศทั้งสอง

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การเดินทางมาของโอบามาควรที่จะจัดระดับจำแนกชั้นออกไปต่างหาก นั่นคือยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นการเยือนซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกสถานะหนึ่ง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการเยี่ยมเยียนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างกระตือรือร้นร่วมกัน เพื่อกอบกู้ความสัมพันธ์นี้ให้พ้นจากความตกต่ำ และจัดวางให้อยู่ในแนววิถีของการมุ่งหน้าไปสู่อนาคต

โมดีกับโอบามาจะประสบความสำเร็จไปได้ยาวไกลแค่ไหน คงต้องปล่อยให้เวลาเป็นผู้ตัดสิน คนอินเดียนั้นขึ้นชื่อลือชานักในเรื่องการยกย่องสรรเสริญ “คุณสมบัติทางเคมีส่วนบุคคล” ของผู้นำของพวกเขา ที่สามารถสร้างความสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษกับผู้นำของโลกตะวันตก แต่คนอินเดียกลับขาดความใส่ใจมองไม่เห็นว่ารากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้นคือการเคลื่อนเข้ามาบรรจบกันได้ของผลประโยชน์ด้านต่างๆ บรรยากาศอันดีวิเศษในความสัมพันธ์อินเดีย-สหรัฐฯ จะสามารถประคับประคองต่อไปให้ยืนยาวถาวรได้หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะติดตามมาหลังจากนี้ ที่เราสามารถพูดได้เลยในปัจจุบันก็มีเพียงว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีผลประโยชน์อย่างมหาศาลที่จะเป็นแรงผลักดันให้ประคับประคองบรรยากาศอันยอดเยี่ยมเอาไว้ ทว่าสำหรับพวกผู้สังเกตการณ์ซึ่งปราศจากอคติแล้ว ย่อมอดรู้สึกไม่ได้ว่ามันอาจจะซ้ำรอยเดิมอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีต

แก่นกลางของเรื่องนี้มีอยู่ว่า ทั้งความสามารถเข้าถึงตลาดแดนภารตะชนิดซึ่งสหรัฐฯกำลังเรียกร้องอยู่ และทั้งความหวังอย่างสูงลิ่วของฝ่ายอินเดียในเรื่องการเข้ามาลงทุนของบริษัทอเมริกัน ต่างก็เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเอาเสียเลยในเงื่อนเวลาระยะใกล้ การประมาณการของไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์ที่ว่า อินเดียอยู่บนเส้นทางแห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอัตราเร็วสูงลิ่วระดับที่จะแซงหน้าจีนได้ภายในเวลา 1 หรือ 2 ปีนั้น เอาเข้าจริงแล้วคงจะต้องบวกเพิ่มขึ้นไปอีกหลายปี รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ใดๆ มารองรับด้วย ประเด็นปัญหาเชิงระบบของอินเดียยังคงมีอยู่มากมาย แถมสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปัจจุบันก็ไม่เอื้ออำนวย แม้กระทั่งเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง การฟื้นตัวก็ยังคงไม่มีเสถียรภาพ

นิวเดลีอวดว่า “ความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอินเดียของนักลงทุนเวลานี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมอย่างน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว หลังจากที่ติดแหง็กอยู่ในภาวะชะงักงันมานานปี” นี่คือคำแถลงของรัฐมนตรีคลัง อรุณ จาอิตเลย์ (Arun Jaitley) ทว่ากระทั่งตัวจาอิตเลย์ยังยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การมองการณ์ในแง่ดีเช่นนี้ ยังควรต้อง “เจือไว้ด้วยความระมัดระวัง” โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความสามารถในการรับมือกับการลงทุนของรัฐบาลแดนภารตะ

ความตึงเครียดในภูมิภาคและพี่เบิ้มนักค้าอาวุธ

คำแถลงทางด้านนโยบายการต่างประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่ออกมาจากการเดินทางเยือนของโอบามาเที่ยวนี้ คือ “คำแถลงร่วมวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์” (joint strategic vision statement’) ซึ่งพูดถึงเอเชีย-แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมาก ได้แก่การที่คำแถลงฉบับนี้ไม่ได้พูดอะไรเลยเกี่ยวกับปากีสถาน ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นทางนโยบายการต่างประเทศซึ่งพวกชาตินิยมฮินดูผู้เป็นที่ปรึกษาทางความคิดของคณะรัฐบาลโมดี ให้ความสนใจอย่างยิ่งจนถึงขั้นหมกมุ่นลุ่มหลงไม่ยอมเลิก ตัวโอบามาเองก็ไม่ได้เอ่ยอะไรสักคำเกี่ยวกับปากีสถาน หรือเรื่องที่ปากีสถานถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ซึ่งนี่นับว่าผิดแผกอย่างเด่นชัดจากตอนที่เขาเยือนอินเดียในปี 2010 มันจึงระบุบ่งบอกให้เห็นว่าทั้งสองประเทศยังคงมีความเห็นผิดแผกแตกต่างกันอย่างล้ำลึกในเรื่องของปากีสถาน อันเป็นประเด็นระดับภูมิภาคที่สร้างความว้าวุ่นรบกวนใจมากที่สุด ในบรรดาความคิดคาดคำนวณทางด้านนโยบายการต่างประเทศทั้งหลายของโมดีในขณะนี้

“คำแถลงร่วมวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์” นี้ ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นการทบทวนปรับปรุงจุดยืนในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้มีการแจกแจงเอาไว้ในคำแถลงร่วมฉบับที่ออกมาภายหลังโมดีเสร็จสิ้นการเยือนวอชิงตัน และเฉกเช่นเดียวกับคำแถลงที่วอชิงตัน ในคำแถลงฉบับใหม่นี้มีการพาดพิงไปถึงทะเลจีนใต้ด้วย โดยที่ฝ่ายอเมริกันพยายามที่จะอธิบายลากความให้เห็นไปว่า การเจรจาหารือระหว่างโอบามากับโมดีในประเด็นปัญหาต่างๆ ในระดับภูมิภาคนั้น มีการเจาะจงเน้นหนักไปที่นโยบาย “แข็งกร้าว” ของจีน

พวกนักวิเคราะห์โปรอเมริกันในแวดวงสื่อมวลชนอินเดีย รีบด่วนสรุปความกันเลยว่า ภายใต้การบริหารปกครองของโมดี อินเดียกำลังหันเหบ่ายหน้าไปสู่ “การควบรวมเข้าด้วยกันในท้ายที่สุด ระหว่างนโยบาย ‘ปฏิบัติการตะวันออก’ (Act East หมายถึงการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ของอินเดีย กับยุทธศาสตร์ปักหมุดในเอเชีย (Asia pivot) ของสหรัฐฯ” ข้อวินิจฉัยอันแปลกพิกลของนักวิเคราะห์เหล่านี้ก็คือ โมดีกำลังโยนทิ้งท่าทีเดิมของอินเดีย ที่พยายามยับยั้งชั่งใจไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ปิดล้อมต่อต้านจีนของสหรัฐฯ

เป็นความจริงอยู่หรอกที่ว่าวัตถุประสงค์แต่ไหนแต่ไรมาของสหรัฐฯนั้น มุ่งที่จะชักชวนโน้มน้าวให้อินเดียเข้าร่วมอยู่ในยุทธศาสตร์ต่อต้านจีนของตน ไอเดียว่าด้วยการจับมือสร้าง “กลุ่มพันธมิตร 4 ฝ่าย” อันได้แก่ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และอินเดีย ได้ถูกเสนอขึ้นมาอย่างน้อย 1 ทศวรรษแล้ว โดยสามารถสาวย้อนเวลากลับไปถึงยุครุ่งเรืองที่สุดของอุดมการณ์อนุรักษนิยมใหม่ (neocon) ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในระยะหลังๆ มานี้ เลียน แพเนตตา (Leon Panetta) ผู้เคยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในคณะบริหารโอบามา ครั้งหนึ่งก็เคยกล่าวคำพูดซึ่งสร้างความเกรียวกราวมากที่ว่า อินเดียเป็น “แกนกลาง” แกนหนึ่งในยุทธศาสตร์ปรับสมดุลใหม่ในเอเชีย (rebalance strategy in Asia ชื่อใหม่ของยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” -ผู้แปล) ของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกับที่โอบามาและพวกนักปั้นข่าวในคณะผู้ติดตามของเขาพากันขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน เจ้าหน้าที่อินเดียก็เร่งรีบวิ่งวุ่นอยู่กับการแจกแจงแก้ข่าว โดยยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้รับรู้เกี่ยวข้องอะไรกับ “การตีความอย่างผิดพลาดในเชิงยุทธศาสตร์” ของฝ่ายอเมริกัน ในเรื่องเนื้อหาของคำแถลงร่วมวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ตามคำอธิบายของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ โมดีบอกกับโอบามาอย่างชัดเจนว่า อินเดียนั้นดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างเป็นอิสระ จึงไม่ยินยอมให้ “มหาอำนาจรายที่สาม” (พูดง่ายๆ ก็คือสหรัฐฯ) เข้ามาจับมือด้วยเพื่อเป็นแนวร่วมในการต่อต้านคัดค้านจีน

นิวเดลีมีความวิตก ไม่ต้องการให้ฝ่ายอเมริกันและเหล่านักล็อบบี้ของพวกเขาในอินเดีย กลายเป็นผู้ออกแบบและกำกับทิศทางในการไปเยือนจีนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าของโมดี นักการทูตอาวุโสของอินเดียผู้หนึ่งบรรยายสรุปต่อสื่อมวลชนว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียมีกำหนดเดินทางไปจีนในช่วงสิ้นเดือนมกราคม และเมื่อเธอเดินทางกลับมาแล้ว ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติก็จะไปปักกิ่งเช่นกัน เพื่อเตรียมการสำหรับการเยี่ยมเยียนของโมดี รายงานของสื่อมวลชนได้อ้างอิงคำพูดของนักการทูตอาวุโสผู้นี้ที่กล่าวว่า “ประธานาธิบดีสี มีความกระตือรือร้นที่จะเป็นเจ้าภาพรับรองท่านนายกฯ (โมดี) ในเมืองเกิดของท่าน (สี) คือที่เมืองซีอาน”

ทำไมฝ่ายอเมริกันต้องเที่ยวแพร่กระจาย “การตีความอย่างผิดพลาดในเชิงยุทธศาสตร์” เกี่ยวกับความคิดเห็นของโมดีที่มีต่อจีน? วอชิงตันดูเหมือนจะสำนึกตนด้วยความเฉียบแหลมว่า สหรัฐฯนั้นไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ ในการปฏิบัติตนเป็นนักลงทุน เข้าร่วมในโครงการ “ผลิตในอินเดีย” (Make in India) ของโมดี ข้อกังวลข้อใหญ่ของสหรัฐฯก็คือ หากโครงการสร้างทางรถไฟในอินเดียที่จีนเสนอเอาไว้ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงลิ่วถึง 32,000 ล้านดอลลาร์ สามารถที่จะเดินหน้าดำเนินการได้ (นี่เป็นส่วนเพิ่มเติมต่อยอดจากข้อเสนอของฝ่ายจีนที่แถลงออกมาในตอนที่ สี เยือนอินเดียเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ในเรื่องแผนการลงทุนมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์เพื่อก่อตั้งดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งในแดนภารตะ) ความสัมพันธ์จีน-อินเดีย ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมไปอย่างลึกซึ้ง

หัวใจของเรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ อยู่ที่ระเบียบวาระด้านการพัฒนาของโมดี ซึ่งเขาประกาศไว้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2014 และส่งผลทำให้พรรคของเขาได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ จนตัวเขาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ระเบียบวาระดังกล่าวมีจุดโฟกัสอยู่ที่ภาคโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากมีแต่ 2 ภาคเศรษฐกิจนี้เท่านั้นซึ่งมีศักยภาพใหญ่หลวงเพียงพอที่จะก่อให้เกิดตำแหน่งงานสำหรับคนหนุ่มสาวที่ว่างงานเป็นจำนวนล้านๆ ในอินเดีย และเมื่อเป็นเช่นนี้ จีนก็ดูจะถือเป็นหุ้นส่วนในอุดมคติทีเดียว หากพิจารณาจากประสบการณ์อันมากมายกว้างขวางของแดนมังกรใน 2 ภาคเศรษฐกิจเหล่านี้

ในอีกด้านหนึ่ง “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” อินเดีย-สหรัฐฯนั้น มักจะมีบทสรุปลงท้ายออกมาว่า ถ้าจะให้ดำเนินไปอย่างกระฉับกระเฉงและวางกล้ามกร่างเกรียนได้นั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการป้อน “อาหาร”อย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตอน “อาหาร” ดังกล่าวอยู่ในรูปของความตึงเครียดระหว่างจีนกับอินเดีย

ทว่าความตึงเครียดเช่นนี้ย่อมสร้างความเสียหายให้แก่สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้ และทำให้ความคิดจิตใจของฝ่ายอินเดียเต็มไปด้วยความวิตกกังวลอย่างสาหัส ขณะที่สภาวการณ์แบบนี้แหละ กลับเป็นบรรยากาศทางธุรกิจในอุดมคติของพวกบิ๊กเบิ้มทั้งหลายในเครือข่ายการทหาร-อุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจอิทธิพลยิ่งของสหรัฐฯ ดังนั้น มันจึงกลายเป็นวงจรอุบาทว์อย่างแท้จริง

ความหวาดกลัวอันใหญ่หลวงของอเมริกันในวันนี้มีว่า โมดีอาจทำลายวงจรอุบาทว์นี้ และนำเอาความสัมพันธ์อินเดีย-จีนเข้าสู่พื้นฐานอันมั่นคงที่ต่างฝ่ายต่างคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เมื่อพิจารณาจากบทวิจารณ์ทั้งหลายของฝ่ายจีนเกี่ยวกับการเยือนแดนภารตะของโอบามะเที่ยวนี้ ปักกิ่งดูจะตระหนักดีถึงความพยายามของฝ่ายอเมริกันในการเร่งรัดนำเอาตัวโมดีเข้ามาอยู่ในยุทธศาสตร์ปรับสมดุลใหม่ในเอเชียของสหรัฐฯ ในเวลาเดียวกัน นิวเดลีก็รีบเร่งแจกแจงอธิบายให้กระจ่างว่า การเข้าใกล้ชิดสนิทสนมกับสหรัฐฯนั้น จะไม่แปรเปลี่ยนกลายเป็นการตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาคัดค้านจีน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าองค์ประกอบอย่างหนึ่งของภาวะกำกวมคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ ได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว และเวลานี้ความกำกวมคลุมเครือดังกล่าวจะสลายตัวไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญแล้วจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเดินทางไปเยือนจีนในอีกไม่นานเกินรอของโมดี

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น