xs
xsm
sm
md
lg

ชาวญี่ปุ่นกว่า 2 พันฟ้อง “นสพ.อาซาฮี” ฐานเผยแพร่บทความ “สตรีบำเรอกาม” ทำประเทศเสื่อมเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นกว่า 2,000 คนรวมตัวยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม “อาซาฮี” และเรียกร้องให้ลงข้อความขออภัยผ่านสื่อชั้นนำทั่วโลก หลังตีแผ่เรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์เป็นทาสกามทหารญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้แดนอาทิตย์อุทัยเสื่อมเสียชื่อเสียง สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานวันนี้ (19 ก.พ.)

ฝ่ายโจทก์ซึ่งรวมถึงชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ได้ดำเนินการฟ้องร้องแบบกลุ่ม (class action) ต่อศาลแขวงกรุงโตเกียวเมื่อวานนี้ (18) โดยกล่าวหาว่ารายงานเรื่อง “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” ของหนังสือพิมพ์อาซาฮีมีส่วนโน้มน้าวให้คนทั่วโลกเชื่อว่า รัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นในสมัยนั้นรู้เห็นกับการเกณฑ์ผู้หญิงท้องถิ่นมาบำเรอกามกิจให้แก่ทหารญี่ปุ่นที่ออกรบ

เอกสารคำร้องยังระบุว่า เนื้อหาของรายงานเหล่านั้นก่อให้เกิด “อนุสาวรีย์สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” ขึ้นที่รัฐแคลิฟอร์เนียและอีกหลายเมืองในอเมริกา จนเป็นเหตุให้ชาวญี่ปุ่นที่นั่นรู้สึกกดดัน

ฝ่ายโจทก์เรียกร้องให้อาซาฮีจ่ายค่าชดเชย 3 ล้านเยน และซื้อพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์ชั้นนำของสหรัฐฯ และยุโรปเพื่อลงข้อความขออภัย

เดือนที่แล้ว ชาวญี่ปุ่นราว 8,700 คนซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดเอียงขวา ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงโตเกียวเพื่อเอาผิดกับ อาซาฮี ด้วยข้อหาเดียวกัน

แม้จะมีบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่น้อยมาก แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า สตรีราว 200,000 คนในเกาหลี, จีน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน เคยถูกเกณฑ์ไปบำบัดความใคร่ให้แก่ทหารญี่ปุ่นตามซ่องที่เรียกว่า “สถานีผ่อนคลาย” (comfort stations) โดยสตรีเหล่านี้ไม่ได้ทำงานด้วยความเต็มใจ และกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นรวมไปถึงรัฐบาลยุคนั้นน่าจะมีส่วนรู้เห็น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฝ่ายขวาในญี่ปุ่นกลับแย้งว่าผู้หญิงเหล่านั้นเป็น “โสเภณีอาชีพ” ที่ทำงานแลกเงิน

อาซาฮีตีพิมพ์บทความหลายชิ้นในช่วงทศวรรษ 1980 โดยอ้างคำบอกเล่าของชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่อ้างว่า เคยทำหน้าที่กวาดต้อนผู้หญิงเกาหลีให้เข้าไปทำงานในซ่องทหาร ทว่าต่อมาได้มีผู้โต้แย้งจนข้อมูลนี้ไม่ได้รับความเชื่อถือ

หลังถูกกดดันอยู่นานหลายปี อาซาฮีจึงตัดสินใจเพิกถอนบทความ และขออภัยต่อสาธารณชน ส่วนประธานสำนักพิมพ์ก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมและโต้แย้งเรื่องสตรีเพื่อการผ่อนคลายมาโดยตลอด ชี้ว่าคำขอโทษของ อาซาฮี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงความพยายามป้ายสีญี่ปุ่นเท่านั้น

ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลในยุคนั้นรับรู้และยินยอมให้มีการเกณฑ์ผู้หญิงมาเป็นโสเภณีจริง และไม่ได้เชื่อเพียงเพราะอ่านบทความของอาซาฮีเท่านั้น

อาซาฮีแถลงว่า บริษัทจะตอบสนอง “อย่างเหมาะสม” หลังจากที่ได้รับหมายศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น