รอยเตอร์ - กองทัพสหรัฐฯ จะแบ่งปันอุปกรณ์สื่อสาร และข่าวกรองร่วมกับชาติพันธมิตรแอฟริกาเพื่อช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการรับมือกับกลุ่มอิสลามิสต์โบโกฮาราม ผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ ประจำแอฟริการะบุ
เป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่ เหล่าผู้บัญชาการกองทัพชาติแอฟริกาตะวันตกร้องเรียนว่า ปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ข้ามพรมแดน นับตั้งแต่กลุ่ม “อัลกออิดะห์ในดินแดนอิสลามมัฆริบ” (AQIM) ในมาลี ไปจนถึงกลุ่มกบฏโบโกฮารัม ในไนจีเรียนั้นต้องประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์สื่อสารที่ทำงานร่วมกันได้ เป็นผลให้ยากที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงาน
พล.ต.เจมส์ ลินเดอร์ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะมอบเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชาติพันธมิตรแอฟริกาสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ วิทยุ และคอมพิวเตอร์ติดต่อสื่อสารร่วมกันได้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการซ้อมปราบปรามการก่อการร้ายประจำปี “ฟลินท์ล็อก” ในประเทศชาด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่ของกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า ระบบดังกล่าวที่เรียกว่า RIOS จะช่วยให้ทหารภาคสนามสามารถแพร่ภาพจากซาเฮล หรือจุดที่อยู่ห่างไกลในตะเข็บรอยต่อของทะเลทรายซาฮาราที่ยาวจากมอริเตเนียจรดชาด ไปยังห้องบัญชาการกลางได้ในทันที ทั้งยังสามารถระบุพิกัดของบุคคลได้อย่างแม่นยำ
เมื่อปีที่แล้ว โบโกฮารัมได้ไล่สังหารประชาชนไปประมาณ 10,000 คน ในยามที่กลุ่มอิสลามิสต์กลุ่มนี้พยายามสถาปนาการปกครองแบบรัฐอิสลามทางภาคเหนือของไนจีเรีย
วานนี้ (17) อาบูบาการ์ เชเกา ผู้นำกบฏโบโกฮารัมได้ขู่ก่อเหตุไม่สงบป่วนการเลือกตั้งที่ในจีเรีย พร้อมทั้งกล่าวประณามการที่รัฐบาลในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ผ่านทางคลิปวีดีโอ ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยขององค์กรข่าวกรอง SITE ซึ่งมีฐานในสหรัฐฯ และคอยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง
นอกจากนี้ เชเกายังได้อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีที่เมืองกอมเบ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย เมื่อวันเสาร์ (14) ที่ผ่านมา
ในยามที่นานาชาติกำลังวิตกกังวลถึงสถานการณ์ในแอฟริกาตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ 4 ชาติในภูมิภาคทะเลสาบชาด ได้แก่ ชาด ไนเจอร์ แคเมอรูน และไนจีเรีย รวมทั้งเบนิน ซึ่งเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง กำลังเตรียมพร้อมกองกำลังร่วมซึ่งประกอบด้วยกำลังพล 8,700 นาย เพื่อปราบปรามกลุ่มนักรบญิฮาดหัวรุนแรงมุสลิมสุหนี่กลุ่มนี้
กองทัพชาด ซึ่งมีบทบาทหลักในปฏิบัติการทหารภายใต้การนำของฝรั่งเศส ที่โจมตีขับไล่กลุ่มอิสลามิสต์ออกจากภาคเหนือของมาลี เมื่อปี 2013 ได้เป็นหัวหอกบุกทลายฐานที่มั่นของกลุ่มโบโกฮารัม บริเวณพรมแดนของไนเจอร์
ในการซ้อมปราบปรามการก่อการร้าย “ฟลินท์ล็อก” กองทัพสหรัฐฯ จะนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (cloud-based) เพื่อให้ชาติพันธมิตรสามารถแบ่งปันข่าวกรองข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลในการจัดทำแผนที่ในพื้นที่ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายของกลุ่มหัวรุนแรง พล.ต.ลินเดอร์ระบุ
ทั้งนี้ การซ้อมปราบปรามการก่อการร้ายฟลินท์ล็อก ซึ่งดำเนินมาถึงปีที่ 9 และมีทหารจาก 28 ชาติแอฟริกา ตลอดจนชาติตะวันตกมาเข้าร่วมถึง 1,300 นาย ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การให้ทหารสร้างสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อสืบหาข่าวกรองความเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏอิสลามิสต์