รอยเตอร์ - รัฐบาลญี่ปุ่นเคยเปิดช่องทางสื่อสารกับกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในช่วงที่เกิดวิกฤตตัวประกัน แต่กลับไม่พยายามใช้ช่องทางดังกล่าวในการเจรจากับกลุ่มก่อการร้ายเพื่อช่วยชีวิต 2 พลเมือง ครูสอนกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ซึ่งเคยรับหน้าที่ “คนกลาง” ระหว่างโตเกียวกับไอเอสเผย
ฮัสซัน โก นากาตะ วัย 54 ปี อดีตอาจารย์สอนกฎหมายอิสลามประจำมหาวิทยาลัยโดชิชะในเมืองเกียวโต เปิดเผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ตนได้รับการติดต่อจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นให้ส่งสารไปยังไอเอสเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤต
คำขอซึ่งไม่ได้รับการเปิดเผยมาก่อนชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลแดนปลาดิบเคยคิดที่จะเจรจากับกลุ่มไอเอสที่จับตัว 2 ชาวญี่ปุ่นเพื่อเรียกค่าไถ่ แม้ต่อหน้าสาธารณชนจะยืนกรานว่าไม่ยอมอ่อนข้อให้ลัทธิก่อการร้ายก็ตาม
ฮารูนะ ยูกาวะ เจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย และ เคนจิ โกโตะ นักข่าวสายสงคราม ถูกกลุ่มติดอาวุธบั่นคอในที่สุด หลังจากโตเกียวประกาศร่วมมือกับจอร์แดน ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวลานี้
การที่ญี่ปุ่นเลือกที่จะร่วมมือกับกรุงอัมมานซึ่งพยายามช่วยเหลือนักบินชาวจอร์แดนอยู่เช่นกัน ไม่เพียงปิดช่องทางสื่อสารผ่านนากาตะเท่านั้น แต่ยังทำให้การสื่อสารระหว่างภรรยาของ โกโตะ กับกลุ่มติดอาวุธต้องขาดสะบั้นลงด้วย
“รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่องทางสื่อสารแบบเป็นส่วนตัวที่มีอยู่ในเวลานั้น และท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหาวิธีเจรจากับไอเอสอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกเลย” นีลส์ บิลดต์ ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ซีทีเอสเอส เจแปน ซึ่งทำงานให้รัฐบาลโตเกียว ระบุ
บิลดต์ชี้ว่า จุดนี้เองอาจถือเป็น “ความผิดพลาด” ของรัฐบาลญี่ปุ่น
คณะทำงานต่อต้านการก่อการร้ายของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ นากาตะ นำมาเปิดเผย
“รัฐบาลใช้ทุกมาตรการที่เป็นไปได้ และพิจารณาทุกทางเลือกเพื่อยุติวิกฤตตัวประกัน แต่ผมไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลได้ตัดสินใจไปแล้ว” ทากาโนริ ฮายาชิ เจ้าหน้าที่ประจำคณะทำงานต่อต้านก่อการร้าย กล่าว
นากาตะเล่าว่า ตนได้เข้าไปมีส่วนพัวพันกับวิกฤตตัวประกันตั้งแต่เดือนกันยายน หลังตัดสินใจเดินทางไปซีเรียเพื่อช่วยเหลือ ฮารูนะ ยูกาวะ ที่ถูกไอเอสจับไปเป็นคนแรก แต่ก็ไม่สำเร็จ
ต่อมาในเดือนตุลาคม เคนจิ โกโตะ ได้เดินทางไปซีเรียด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ทว่ากลับถูกจับเป็นตัวประกันด้วยอีกราย
หลังจากนั้นไม่นาน รินโกะ ซึ่งเป็นภรรยาของโกโตะ ก็ได้รับอีเมล์จากผู้แทนของกลุ่มไอเอส และเธอก็พยายามเจรจากับกลุ่มติดอาวุธโดยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยในอังกฤษ และเพื่อนร่วมงานของ โกโตะ ในตะวันออกกลาง ซึ่งข้อมูลนี้บุคคล 4 คนที่มีส่วนในการพูดคุยดังกล่าวได้เปิดเผยกับรอยเตอร์
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเคยแจ้งให้ครอบครัวของยูกาวะ และโกโตะ ทราบเป็นการส่วนตัวว่า รัฐบาลจะไม่ยอมจ่ายค่าไถ่หากถูกเรียกร้อง
ต่อมาในช่วงปลายเดือนมกราคม นากาตะซึ่งเดินทางกลับจากซีเรียก็ได้รับการติดต่อให้เป็นคนกลางระหว่างกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นกับ อุมาร์ กูราบา ซึ่งอ้างตัวเป็นนักรบเชื้อสายเชเชนที่ร่วมต่อสู้กับไอเอสอยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย
“ผมเพียงอยากจะใช้ความสัมพันธ์ที่ผมมีกับกลุ่มไอเอสเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตครั้งนั้น” นากาตะ กล่าว
นากาตะ ตัดสินใจรับอิสลามเมื่อปี 1979 และเคยนำรูปถ่ายตนเองขณะถือปืนและมีธงสัญลักษณ์ไอเอสอยู่เบื้องหลังไปโพสต์ลงทวิตเตอร์
เขายืนยันว่า เวลานี้ไม่ได้สนับสนุนแนวทางของไอเอสอีกต่อไปแล้ว แต่ยังคงมีมิตรภาพกับกลุ่มนักรบเหล่านั้น
เมื่อวันที่ 21 มกราคม หรือ 1 วันหลังจากที่ไอเอสประกาศเส้นตาย 72 ชั่วโมงให้รัฐบาลญี่ปุ่นจ่ายค่าไถ่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกตัว โกโตะ และ ยูกาวะ คณะทำงานต่อต้านก่อการร้ายของญี่ปุ่นก็ได้ส่งอีเมลถึง ชิโกะ โอกาตะ วัย 31 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ นากาตะ
อีเมลฉบับนี้มีข้อความที่ต้องการแจ้งไปยังกลุ่มไอเอส และขอให้ โอกาตะ ช่วยส่งต่อ ซึ่งตามบันทึกอีเมลก็พบว่า โอกาตะ ได้ส่งมันต่อไปยัง นากาตะ
ข้อความซึ่งมีทั้งภาษาอังกฤษและอาหรับระบุว่า “เราขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้กลุ่ม (ไอเอส) อย่าทำร้ายพลเมืองญี่ปุ่น และให้ปล่อยตัวเขาทั้งสองในทันที” แต่ไม่ได้เอ่ยถึงเงินค่าไถ่ที่ไอเอสต้องการ
นากาตะระบุว่า เขาตัดสินใจไม่ส่งข้อความนั้นต่อไปยังไอเอส เพราะเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะยอมเจรจา
“ถ้าผมส่งข้อความนั้นไป ก็เท่ากับสั่งให้พวกเขาฆ่าตัวประกันเท่านั้นเอง” นากาตะ กล่าว พร้อมระบุว่า เขาไม่ได้รับการติดตามสอบถามจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอีกเลย
ต่อมาในวันที่ 23 มกราคมซึ่งใกล้ถึงกำหนดเส้นตาย นากาตะ ก็ได้รับอีเมลจาก อุมาร์ ผ่านทาง WhatsApp โดยขณะนั้นเป็นเวลา 04.30 น. ในกรุงโตเกียว และ 21.30 น. ในซีเรีย
“ไม่มีเวลาเหลือมากแล้วนะ รัฐอิสลามจะทำตามที่ขู่ไว้แน่นอน” อุมาร์ เขียนข้อความเป็นภาษาอาหรับซึ่งถูกแปลโดย นากาตะ
กลุ่มไอเอสยังถามนากาตะด้วยว่า ข้อความเสียงที่ อุมาร์ ได้รับผ่าน “ช่องทางเจรจา” นั้นเชื่อถือได้หรือไม่ โดยข้อความดังกล่าวเป็นเสียงของชายคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าตนชื่อ มาซายูกิ มาโกชิ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงอัมมาน และได้พูดเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า รัฐบาลโตเกียว “จริงจัง” ในการช่วยชีวิตตัวประกัน พร้อมทั้งระบุวันเดือนปีเกิดของ โกโตะ กับ ยูกาวะ อย่างถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้อความเสียงดังกล่าวเป็นของแท้หรือไม่
นากาตะ ได้โทรศัพท์ไปสอบถามจากหัวหน้าคณะทำงานต่อต้านก่อการร้ายของกระทรวงการต่างประเทศในช่วงกลางดึก และพิมพ์ข้อความตอบ อุมาร์ ไปว่า “มันเชื่อถือได้” ซึ่งนักรบไอเอสก็ตอบกลับมาว่า “การปฏิบัติตามเงื่อนไขของกลุ่มรัฐอิสลามเป็นเรื่องสำคัญ”
วันต่อมา ไอเอสก็ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีภาพศพของ ยูกาวะ ถูกตัดคอ ส่วน โกโตะ ก็ถูกสังหารในลักษณะเดียวกันอีก 1 สัปดาห์ถัดมา
นากาตะระบุว่า เขาไม่ได้รับการติดต่อจากคณะทำงานต่อต้านก่อการร้าย และไม่ได้พูดคุยกับนักรบที่ชื่อ อุมาร์ อีกเลยนับแต่นั้น