xs
xsm
sm
md
lg

ปูตินแห่งรัสเซียเป็นผู้ชนะในการเจรจาสงบศึกยูเครน

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Russia’s Putin wins in Ukraine conflict
By M K Bhadrakumar
12/02/2015

การเจรจามาราธอน 16 ชั่วโมงในกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เพื่อหาหนทางแก้ไขความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างผู้นำของ 4 ประเทศ คือ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, และยูเครน สิ้นสุดลงด้วยการทำข้อตกลงกันได้ ประเด็นหลัก 13 ประเด็นของข้อตกลงคราวนี้ เป็นการสืบต่อคืบหน้าไปจาก 12 ประเด็นซึ่งปรากฏอยู่ในข้อตกลงกรุงมินสก์ฉบับก่อนที่ทำกันไว้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทว่าก็มี “ส่วนเพิ่มเติม” ด้วยเช่นกัน โดยที่มีการกำหนดกรอบเวลาซึ่งฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งทำศึกกันอยู่ ตลอดจนตัวแสดงนำอื่นๆ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้

การเจรจามาราธอนเป็นเวลา 16 ชั่วโมง ตลอดทั้งคืนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จนกระทั่งถึงตอนเช้าวันที่ 12 ณ กรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เพื่อหาหนทางแก้ไขความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างผู้นำของ 4 ประเทศ คือ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, และยูเครน ในรูปแบบ “นอร์มังดี ฟอร์แมต” (Normandy format) [1] สิ้นสุดลงด้วยการทำข้อตกลงกันได้ ประเด็นหลัก 13 ประเด็นของข้อตกลงคราวนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/02/12/us-ukraine-crisis-minsk-agreement-factbo-idUSKBN0LG20Y20150212) [2] เป็นการสืบต่อคืบหน้าไปจาก 12 ประเด็นซึ่งปรากฏอยู่ในข้อตกลงกรุงมินสก์ฉบับก่อนที่ทำกันไว้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว [3] ทว่าก็มี “ส่วนเพิ่มเติม” (additionality) ด้วยเช่นกัน โดยที่มีการกำหนดกรอบเวลาซึ่งฝ่ายที่ขัดแย้งทำศึกกันอยู่ ตลอดจนตัวแสดงนำอื่นๆ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้

เงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงฉบับล่าสุดนี้ เป็นการยืนยันให้เห็นว่ารัสเซียทำการเจรจาด้วยฐานะที่เข้มแข็ง ช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่โฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตะวันตกพยายามโหมประโคมให้พวกเราเชื่อ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ส่วนเพิ่มเติม” ในจุดที่ระบุให้ตัดสินอนาคตของภูมิภาคยูเครนตะวันออกกันในตอนสิ้นปีนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ “หมายเหตุผู้แปล” ข้อ [2]) ต้องถือเป็นชัยชนะสำคัญอย่างหนึ่งของรัสเซีย เนื่องจากถ้าหากมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญของยูเครนกันจนตลอดรอดฝั่งแล้ว การที่จะเหนี่ยวนำยูเครนให้เข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ย่อมถูกปิดประตูไปโดยปริยาย และนี่แหละคือแก่นแกนของข้อเรียกร้องของทางฝ่ายรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้กำลังจะกลายเป็นจุดสะดุดติดขัดใหญ่ที่สุดไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มล็อบบี้ชาตินิยมหัวดื้อในกรุงเคียฟ ซึ่งมีตัวแทนที่แข็งแกร่งมากอยู่ในอำนาจรัฐปัจจุบันของยูเครน จะต้องเดือดดาลโกรธแค้นอย่างล้ำลึก หากมีการยอมอ่อนข้อผ่อนปรนใดๆ ก็ตาม ซึ่งเป็นการกระจายถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปให้แก่ภูมิภาคตะวันออกของยูเครน ตัวประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ของยูเครน จะพบว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะหนีเสื้อปะจระเข้ในประเด็นนี้ อันที่จริงเขากำลังถูกพวกชาตินิยมซึ่งเป็นเจ้าสังเวียนในกรุงเคียฟ วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงตั้งแต่ตอนนี้แล้วด้วยซ้ำ ขณะที่ทางฝ่ายวอชิงตัน หากต้องการที่จะก่อกวนทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพนี้ตกรางพังพาบไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ก็สามารถลงมือได้อย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นจะต้องคิดอ่านอะไรให้ซับซ้อนยาวไกลเลย

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรซ์อะไร ในการที่รัสเซียตั้งเงื่อนไขว่าจะยินยอมให้ยูเครนกลับเข้าควบคุมพื้นที่ชายแดนซึ่งอยู่ติดกับรัสเซียทั้งหมด ต่อเมื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญดำเนินไปจนตลอดรอดฝั่งแล้วเท่านั้น นั่นคือ หากเกิดสถานการณ์อันร้ายแรงยุ่งยากขึ้นมา มอสโกก็จะยังคงมีความมั่นใจว่า ถ้าจะเดินหน้ากันแล้ว ก็ต้องมีการทำตามข้อตกลงทั้งหมด หรือไม่ก็เลิกรากันไปเลย

ประการที่สอง การหยุดยิงจะเริ่มมีบทบังคับใช้ตั้งแต่วันอาทิตย์ (15 ก.พ.) ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าช่วงเวลาจากตอนที่ตกลงกันได้ ไปจนถึงเวลาเริ่มบังคับใช้ ฝ่ายต่างๆ ที่สู้รบทำศึกกันอยู่ จะต้องทุ่มเทความพยายามเพื่อช่วงชิงฐานะได้เปรียบทางยุทธวิธีในสนามรบ (ดูเพิ่มเติมได้ที่
http://www.reuters.com/article/2015/02/12/us-ukraine-crisis-hollande-idUSKBN0LG1MV20150212) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเมืองเดบัลต์เซเบ (Debaltseve) กำลังกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฝ่ายเคียฟยังคงไม่ยอมรับแม้กระทั่งข้อเท็จจริงที่ว่า ทหารของตนหลายพันคนซึ่งประจำอยู่ที่เมืองศูนย์กลางการคมนาคมทางรางรถไฟแห่งนี้ กำลังถูกกองกำลังอาวุธฝ่ายกบฏปิดล้อมเอาไว้

อันที่จริงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กล่าวพาดพิงอย่างอ้อมๆ ในประเด็นปัญหาเมืองเดบัลต์เซเบ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://eng.kremlin.ru/news/23594) เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า ลงท้ายแล้ว (สืบเนื่องจากฝ่ายรัสเซียดำเนินการกดดันบีบคั้นกบฎยูเครนตะวันออก) พวกกบฏแบ่งแยกดินแดนก็อาจจะยินยอมเปิดทางให้อพยพทหารยูเครนที่ถูกปิดล้อมอยู่นี้ ออกไปสู่ที่ปลอดภัย

ทว่าเมื่อมองกันโดยภาพรวมแล้ว ถึงแม้มีคำทำนายเต็มไปหมดว่าข้อตกลงล่าสุดนี้จะต้องเหี่ยวแห้งโรยราไป แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับข้อตกลงเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทว่าสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ จะมีการประคับประคองรักษาข้อตกลงของเยอรมนี-ฝรั่งเศส-รัสเซียฉบับนี้เอาไว้ และการสู้รบก็จะยุติลง อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วงเวลาใกล้ๆ เฉพาะหน้านี้ ทั้งนี้เพราะพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนกำลังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ และพวกเขาย่อมต้องการเวลาที่จะดำเนินการผนวกรวมดินแดนที่ตนช่วงชิงได้มาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น (ดูรายละเอียดได้ที่ http://graphics.wsj.com/ukraine-rebel-maps/) ขณะที่ทางกองกำลังอาวุธซึ่งเป็นตัวแทนของกรุงเคียฟ ได้ถูกกระหน่ำโจมตีเล่นงานจนเสียรูปเสียทรง ดังนั้นจึงเรียกร้องต้องการเวลาในการรวบรวมกำลัง และรอคอยโอกาสในการแก้มือ

อย่างที่ผมพูดเอาไว้ข้างต้น จุดใหญ่ใจความซึ่งซ่อนอยู่เบื้องลึกของข้อตกลงฉบับใหม่นี้ และเป็นตัวตัดสินอนาคตของข้อตกลงด้วย ก็คือ เคียฟมีเจตนารมณ์ที่จะยอมให้อำนาจปกครองตนเองแก่ภูมิภาคตะวันออกหรือไม่ ทั้งนี้ด้วยการดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองการกระจายอำนาจเช่นนี้ จึงจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้การสู้รบขัดแย้งในยูเครนเกิดการแก้ไขคลี่คลายตัว ดังนั้น เมื่อกล่าวกันจนถึงที่สุดแล้ว ข้อตกลงฉบับใหม่จะไปได้ไกลแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับประเด็นปัญหาการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เมื่อการเจรจาที่กรุงมินสก์สิ้นสุดลง ปูตินเป็นผู้ที่ก้าวผงาดขึ้นมาได้อย่างโดดเด่นกว่าเพื่อน ในเมื่อสิ่งที่มอสโกประกาศเสมอมาว่าตนเองไม่ได้มีความมุ่งมาดปรารถนาใดๆ ต่อดินแดนอาณาเขตของยูเครน ได้รับการพิสูจน์ยืนยันจากการเจรจากันครั้งนี้ มิหนำซ้ำการณ์ยังกลับกลายเป็นว่า รัสเซียต้องการที่สงวนรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนเอาไว้ และมีความปรารถนาที่จะสร้างคุณูปการให้แก่จุดหมายปลายทางดังกล่าวนี้ด้วย แต่แน่นอนล่ะครับ มันต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า ผลประโยชน์อันชอบธรรมของรัสเซียในยูเครนจะต้องได้รับการค้ำประกัน ในสภาพที่ยูเครนควรจะกลายเป็นประเทศซึ่งเข้ากันได้ดีทั้งกับฝ่ายตะวันตกและกับรัสเซียอย่างเสมอภาคกัน

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี และประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ซึ่งเข้าร่วมการเจรจาที่มินสก์คราวนี้ ดูเหมือนจะมองเห็นจุดใหญ่ใจความข้อนี้ได้ชัดเจน ทว่าสำหรับหุ้นส่วนที่อยู่ทางอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ณ กรุงวอชิงตันล่ะ? ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กำลังพบว่าตนเองแทบจะอยู่ในเรือลำเดียวกับโปโรเชนโกทีเดียว สัญญาที่ออกมาจากกรุงมินสก์ใหม่ๆ หมาดๆ ฉบับนี้จะถูกรุมทึ้งรุมฉีกออกเป็นชิ้นๆ อย่างแน่นอนโดยพวกนักวิพากษ์วิจารณ์สายอนุรักษนิยมใหม่ (neocon) คนเหล่านี้จะต้องกล่าวหาโอบามาว่า “อ่อนข้อ” ให้รัสเซีย คนเหล่านี้ต้องการให้สหรัฐฯเข้าสู่สงคราม ถ้าหากจำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพื่อหยุดยั้ง “ความก้าวร้าวรุกราน” ของรัสเซีย อันที่จริงแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีข้อเขียนกราดเกรี้ยวแรงๆ หลายชิ้นปรากฏออกมาในสื่อมวลชนทางอเมริกาเหนือแล้ว (ดังเช่น บทความชิ้นนี้ในหนังสือพิมพ์ เดอะ โกลบ แอนด์ เมล ของแคนาดา http://www.theglobeandmail.com/globe-debate/ukraine-ceasefire-sends-putin-a-clear-message-of-appeasement/article22941666/) ทั้งนี้ชุมชนชาวยูเครนลี้ภัยมีอิทธิพลสูงมากในแวดวงการเมืองของแคนาดาทีเดียว

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

หมายเหตุผู้แปล

[1] การเจรจาของผู้นำทั้ง 4 คนนี้ เรียกขานกันว่าเป็น “นอร์มังดี ฟอร์แมต” (Normandy format) สืบเนื่องจากพวกเขาได้เคยเจรจา 4 ฝ่ายกันเช่นนี้เป็นครั้งแรก ระหว่างที่พวกเขาไปร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 70 ปีของการยกพลขึ้นบกของกองทัพสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ ชายฝั่งแคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน 2014

[2] ข้อตกลงกรุงมินสก์ว่าด้วยยูเครน ที่ออกมาจากการเจรจามาราธอน 16 ชั่วโมงของผู้นยูเครน, รัสเซีย, เยอรมนี, และฝรั่งเศส มีเนื้อหาหลักๆ 13 ข้อดังนี้:
1.ให้มีการหยุดยิงในทันทีอย่างรอบด้านครอบคลุม ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดโดเนตสก์ (Donetsk) และจังหวัดลูฮันสก์ (Luhansk) ของยูเครน และให้ปฏิบัติตามการตกลงหยุดยิงนี้อย่างเคร่งครัด เริ่มตั้งแต่เวลา 00.00 น. (เวลากรุงเคียฟ) ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2015

2. ให้ทั้งสองฝ่ายถอนอาวุธหนักทุกชนิดกลับออกไปตั้งอยู่ในระยะห่าง (จากแนวรบ) เท่าๆ กัน เพื่อสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา โดยสำหรับระบบปืนใหญ่ขนาดตั้งแต่ 100 มิลลิเมตรขึ้นไปให้มีพื้นที่ปลอดภัยซึ่งมีความกว้างอย่างน้อย 50 กิโลเมตร, สำหรับระบบจรวดหลายลำกล้อง (Multiple Rocket Launching Systems หรือ MLRS) ให้มีพื้นที่ปลอดภัยซึ่งมีความกว้างอย่างน้อย 70 กิโลเมตร, และสำหรับ MLRS รุ่น “ทอร์นาโด-เอส” (Tornado-S) รุ่น “อูรากัน” (Uragan) รุ่น “สเมอร์ช” (Smerch) ตลอดจนระบบขีปนาวุธยุทธวิธี (tactical missile systems) รุ่น “ตอชคา” (Tochka) และ รุ่น “ตอชคา-ยู” (Tochka-U) ให้มีความกว้างอย่างน้อย 140 กิโลเมตร

--สำหรับกองทหารยูเครน: ให้นับจากแนวการปะทะที่เป็นจริง (de facto line of contact)

--สำหรับกองกำลังติดอาวุธของหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์และจังหวัดลูฮันสก์ของยูเครน: ให้นับจากแนวการปะทะซึ่งระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจกรุงมินสก์ วันที่ 19 กันยายน 2014 (Minsk Memorandum of Sept. 19, 2014)

การถอนอาวุธหนักออกไปตามที่ระบุไว้ข้างต้น ควรเริ่มขึ้นก่อนวันที่สองของการหยุดยิง และให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 14 วัน

กระบวนการถอนอาวุธหนักนี้ โอเอสซีอี (OSCE เป็นอักษรย่อของ Organization for Security and Co-operation in Europe องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป –ผู้แปล) จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยการสนับสนุนของ “กลุ่มติดต่อไตรภาคี” (Trilateral Contact Group เป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยตัวแทนจากยูเครน, รัสเซีย, และโอเอสซีอี จัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนในเดือนพฤษภาคม 2014 ซึ่ง เปโตร โปโรเชนโก เป็นผู้ชนะ เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำหรับอำนวยความสะดวกในการหาหนทางในทางการทูต มาแก้ไขคลี่คลายการขัดแย้งสู้รบกันในยูเครนตะวันออก –ผู้แปล)

3. ให้ โอเอสซีอี เป็นผู้รับประกันประสิทธิภาพในการกำกับตรวจตราและการพิสูจน์ยืนยันกระบวนการหยุดยิงและการถอนอาวุธหนัก นับแต่วันแรกที่มีการถอนออกมา โดยใช้อุปกรณ์ทางเทคนิคทุกๆ อย่างที่จำเป็น เป็นต้นว่า ดาวเทียม, อากาศยานไร้นักบิน(โดรน), ระบบเรดาร์ ฯลฯ

4. นับตั้งแต่วันแรกหลังการถอนอาวุธหนักแล้ว ให้เริ่มการสนทนาเกี่ยวกับวิธีการในการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นซึ่งสอดคล้องเป็นไปตามระเบียบทางด้านนิติบัญญัติของยูเครน และกฎหมายของยูเครน “ว่าด้วยรัฐบาลท้องถิ่นปกครองชั่วคราวในหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์” (the law of Ukraine "On interim local self-government in certain areas of the Donetsk and Luhansk regions" กฎหมายฉบับนี้ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปให้แก่พื้นที่ต่างๆ ของโดเนตสก์ และ ลูฮันสก์ ซึ่งทำศึกกับกรุงเคียฟ ได้ผ่านการรับรองของรัฐสภายูเครนในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขประการหนึ่งของบันทึกความเข้าใจกรุงมินสก์ลงวันที่ 19 กันยายน 2014 -ผู้แปล) ตลอดจนการสนทนาเกี่ยวกับลักษณะของการบริหารปกครองพื้นที่เหล่านี้ในอนาคตโดยอิงตามกฎหมายของยูเครนฉบับดังกล่าวนี้

ให้ดำเนินการเพื่อให้ญัตติที่เสนอต่อรัฐสภายูเครน ซึ่งมีเนื้อหาระบุเจาะจงว่าพื้นที่ใดบ้างที่ได้ใช้ระบอบปกครองพิเศษตามกฎหมายของยูเครน “ว่าด้วยรัฐบาลท้องถิ่นปกครองชั่วคราวในหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์” ผ่านการอนุมัติรับรองของรัฐสภาโดยเร็ว โดยอย่างช้าไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่มีการลงนามในเอกสารฉบับนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเนื้อหาของบันทึกความเข้าใจกรุงมินสก์ วันที่ 19 กันยายน 2014

5. รับประกันว่าจะมีการอภัยโทษและการนิรโทษ ด้วยการออกกฎหมายซึ่งมีเนื้อหาห้ามการกลั่นแกล้งข่มเหงและการลงโทษบุคคลผู้มีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์ ของยูเครน

6. รับประกันว่าจะมีการปล่อยตัวและแลกเปลี่ยนตัวประกันทั้งหมดตลอดจนบุคคลผู้ต้องขังอย่างผิดกฎหมายทั้งหมด ตามหลักการ “แลกเปลี่ยนทั้งหมดกับทั้งหมด” กระบวนการนี้ควรเสร็จสิ้นลงอย่างช้าที่สุดในวันที่ 5 ภายหลังมีการถอนอาวุธหนัก

7. รับประกันความปลอดภัยของบุคคลผู้มีความจำเป็น ซึ่งทำงานอยู่กับกลไกระหว่างประเทศ ในการเข้าสู่พื้นที่, การส่งมอบ, การเก็บสะสม, และการแจกจ่าย ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

8. ให้นิยามอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ในการฟื้นฟูความผูกพันทางเศรษฐกิจ-สังคม (ระหว่างส่วนกลางที่กรุงเคียฟกับหลายๆ พื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์และจังหวัดลูฮันสก์ –ผู้แปล) อย่างเต็มที่ขึ้นมาใหม่ โดยครอบคลุมถึงการถ่ายโอนผลประโยชน์ทางสังคม เป็นต้นว่า เงินบำนาญ และการชำระเงินประเภทอื่นๆ (รายได้และภาษีอากร, การชำระค่าสาธารณูปโภคทุกๆ อย่างตามกำหนดเวลา, การฟื้นระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นมาใหม่ โดยอยู่ภายใต้กรอบโครงทางกฎหมายของยูเครน)

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ ยูเครนจะฟื้นการควบคุมระบบการธนาคารของตนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้ความกระทบกระเทือนจากการสู้รบขัดแย้ง และจะมีการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศที่เป็นไปได้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การถ่ายโอนดังกล่าว

9. ให้มีการฟื้นอำนาจของรัฐบาลยูเครน ในการเข้าควบคุมอย่างเต็มที่ต่อพรมแดนของรัฐในตลอดทั่วพื้นที่ซึ่งเกิดการสู้รบขัดแย้ง โดยควรเริ่มตั้งแต่วันแรกภายหลังมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และเสร็จสิ้นลงภายหลังมีการตกลงรอมชอมทางการเมืองอย่างรอบด้านครอบคลุมแล้ว (นั่นคือมีการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์ บนพื้นฐานของกฎหมายของยูเครนฉบับดังกล่าวข้างต้น และของการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ) ภายในไม่เกินสิ้นปี 2015 ทั้งนี้ในเงื่อนไขที่ว่ามีการปฏิบัติตามข้อ 11 โดยมีการปรึกษาหารือและได้รับความเห็นพ้องจากผู้แทนต่างๆ ของหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์ ภายในกรอบโครงของกลุ่มติดต่อไตรภาคี

10. ให้ถอนกองกำลังอาวุธต่างชาติทั้งหมด, อุปกรณ์ทางทหารของต่างชาติทั้งหมด, ตลอดจนนักรบรับจ้าง ออกจากดินแดนของยูเครน ภายใต้การติดตามตรวจสอบของ โอเอสซีอี รวมทั้งให้มีการปลดอาวุธกลุ่มนอกกฎหมายทุกๆ กลุ่ม

11. ให้ดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในยูเครน โดยให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2015 ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีเรื่องการกระจายอำนาจบริหารปกครองเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่ง (รวมทั้งต้องมีข้อความระบุยอมรับลักษณะพิเศษของหลายๆ พื้นที่ในจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์ ตามที่ได้ตกลงกันกับผู้แทนของพื้นที่เหล่านี้) ตลอดจนต้องมีการรับรองกฎหมายถาวรว่าด้วยสถานะพิเศษของหลายๆ พื้นที่ในจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์ โดยสอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุไว้ใน “หมายเหตุต่อท้าย” (ดูรายละเอียดได้ที่ข้างล่างนี้) ทั้งนี้การออกกฎหมายถาวรนี้จะต้องเสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี 2015

12. โดยอิงอาศัยกฎหมายของยูเครน “ว่าด้วยรัฐบาลท้องถิ่นปกครองชั่วคราวในหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์” ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น จะได้รับการอภิปรายและทำความตกลงกัน กับผู้แทนของหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์ ภายในกรอบโครงของกลุ่มติดต่อไตรภาคี ขณะที่การเลือกตั้งจะจัดขึ้นโดยเป็นไปตามมาตรฐานของ โอเอสซีอี และกำกับตรวจสอบโดย โอเอสซีอี/โอดีไอเอชอาร์ (ODIHR ย่อมาจาก Office for Democratic Institutions and Human Rights สำนักงานเพื่อสถาบันทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สำนักงานนี้เป็นสถาบันแห่งหนึ่งของ โอเอสซีอี ทำหน้าที่ดูแล “มิติมนุษย์” ของความมั่นคง -ผู้แปล)

13. ให้เร่งทวีการทำงานของกลุ่มติดต่อไตรภาคี รวมทั้งการจัดตั้งคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของข้อตกลงกรุงมินสก์ ทั้งนี้คณะทำงานเหล่านี้จะมีองค์ประกอบในลักษณะเดียวกับองค์ประกอบของกลุ่มติดต่อไตรภาคี

หมายเหตุต่อท้าย:

ข้อกำหนดตามที่ระบุเอาไว้ข้างต้น (ข้อ 11) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของยูเครน “ว่าด้วยรัฐบาลท้องถิ่นปกครองชั่วคราวในหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์” จะประกอบด้วย:

--การยกเว้นให้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องพัวพันกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งบังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์ และจังหวัดลูฮันสก์ ไม่ต้องถูกลงโทษ, ถูกข่มเหงรังแก, หรือถูกแบ่งแยกกีดกัน

--รับรองสิทธิในการวินิจฉัยตัดสินใจเลือกภาษาที่จะใช้ด้วยตนเอง

--การให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าร่วมในการแต่งตั้งพนักงานอัยการและบุคลากรของศาล ในพื้นที่ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนของจังหวัดโดเนตสก์และจังหวัดลูฮันสก์

--ต้องกำหนดวิธีการซึ่งจะทำให้ทางการบริหารส่วนกลางของยูเครน สามารถทำข้อตกลงกับทางการท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, สังคม, และวัฒนธรรม ของหลายๆ พื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์และจังหวัดลูฮันสก์

--รัฐจะสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-สังคมของหลายๆ พื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์และจังหวัดลูฮันสก์

--รัฐบาลกลางจะช่วยเหลืออำนวยความสะดวก ให้เกิดความร่วมมือข้ามพรมแดน ระหว่างหลายๆ พื้นที่ของจังหวัดโดเนตสก์และจังหวัดลูฮันสก์ กับพื้นที่ต่างๆ ของสหพันธรัฐรัสเซีย

--การก่อตั้งหน่วยกำลังอาวุธท้องถิ่นของประชาชนขึ้นมา ตามมติการตัดสินใจของสภาท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ซึ่งได้รับความกระทบกระเทือนของจังหวัดโดเนตสก์และจังหวัดลูฮันสก์

--อำนาจของผู้แทนสภาท้องถิ่นและของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งได้รับเลือกตั้ง ที่ได้ใช้ไปตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นตามกฎหมายที่รับรองโดยรัฐสภายูเครนนี้ จักไม่สามารถเพิกถอนลบล้างได้

เอกสารฉบับนี้ลงนามโดยผู้แทนของฝ่ายต่างๆ ในกลุ่มติดต่อไตรภาคี ได้แก่ ไฮดี ตาเกลียวินี (Heidi Tagliavini ) ผู้แทนของ โอเอสซีอี, ลีโอนิด คุชมา (Leonid Kuchma) รองประธานาธิบดียูเครน, มิฮาอิล ซูราบอฟ (Mikhail Zurabov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเครน, และ อเล็กซานเดอร์ ซาคาร์เชนโก (Alexander Zakharchenko) กับ อิกอร์ พลอตนิตสกี้ (Igor Plotnitsky) 2 ผู้แทนของฝ่ายกบฎยูเครนตะวันออก

ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย, และประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ก็ได้รับรองปฏิญญาสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงกรุงมินสก์

(เก็บความจาก Factbox: Minsk agreement on Ukraine ของสำนักข่าวรอยเตอร์ ดูรายละเอียดได้ที่http://www.reuters.com/article/2015/02/12/us-ukraine-crisis-minsk-agreement-factbo-idUSKBN0LG20Y20150212 และ Minsk II: Land for a ceasefire, but not for peace ในเว็บไซต์ Obsever Ukraine ดูรายละเอียดได้ที่ http://observerukraine.net/2015/02/12/minsk-ii-land-for-a-ceasefire-but-not-for-peace/)

[3] หมายถึง บันทึกความเข้าใจกรุงมินสก์ วันที่ 19 กันยายน 2014 (Minsk Memorandum of Sept. 19, 2014)
กำลังโหลดความคิดเห็น