เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ยื่นขอรัฐสภาให้อำนาจแก่เขาในการสู้รบกับกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) เป็นเวลา 3 ปี โดยจะยกเว้นการเข้าร่วมการสู้รบภาคพื้นดิน ทั้งนี้คาดกันว่าคองเกรสจะเร่งรัดพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังครอบครัวของเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์หญิงอเมริกันเผยว่า ได้รับหลักฐานยืนยันว่าเธอผู้นี้เสียชีวิตแล้วตามที่พวกนักรบญิฮัดกลุ่มนี้กล่าวอ้างไว้ ขณะเดียวกันศูนย์ต่อต้านก่อการร้ายแห่งชาติของอเมริการะบุว่า เวลานี้มีนักรบต่างชาติถึง 20,000 คนเดินทางหลั่งไหลไปช่วยไอเอสในซีเรีย และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสซีไอเอเตือนว่าการที่ตะวันตกถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน จะทำให้ดินแดนดังกล่าวกลายเป็นที่พักพิงชั้นดีของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
สืบเนื่องจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า โอบามาละเมิดอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จากการนำกองทัพอากาศสหรัฐ เปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอส นับจากวันที่ 8 สิงหาคมปีที่แล้ว โดยไม่เคยขออนุมัติจากรัฐสภา ถึงแม้ทำเนียบขาวโต้แย้งว่า ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ สามารถปฏิบัติการเช่นนี้ได้ โดยอาศัยอำนาจที่คองเกรสได้เคยอนุมัติก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วโอบามาก็ตัดสินใจที่จะยื่นขออำนาจใช้กำลังทหารในกรณีนี้อย่างเป็นทางการ
ข้อเสนอของโอบามาที่จะส่งให้รัฐสภาในวันพุธ (11 ก.พ.) จะอนุญาตให้ใช้กองทหารรบพิเศษและที่ปรึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ในการต้านทานการโจมตี แต่ห้ามการเข้าร่วมการสู้รบภาคพื้นดินที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยข้อเสนอนี้ครอบคลุมระยะเวลา 3 ปี
จนถึงขณะนี้ โอบามาอ้างความชอบธรรมในการโจมตีทางอากาศในอิรักและซีเรียภายใต้อำนาจที่รัฐสภาอนุมัติให้แก่ประธานาธิบดีในปี 2001 หลังวินาศกรรม 9/11 และอำนาจที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ใช้ในสงครามอิรักปี 2002 โดยข้อเสนอใหม่จะยกเลิกอำนาจในปี 2002
ทางด้าน ส.ส. และ ส.ว.หลายรายเผยว่าจะเปิดอภิปรายและลงมติข้อเสนอของโอบามาโดยเร็ว หลังจากเปิดสมัยประชุมปลายเดือนนี้ โดยเป็นที่คาดว่าประเด็นที่จะมีการถกเถียงดุเดือดน่าจะเป็นเรื่องการต่อสู้ภาคพื้นดิน เนื่องจากพรรคเดโมแครตไม่ต้องการให้กองกำลังอเมริกันกลับสู่สนามรบในตะวันออกกลาง ขณะที่พรรครีพับลิกันคัดค้านการห้ามการส่งทหารราบไปร่วมปฏิบัติการในอิรักและซีเรีย และหลายคนเรียกร้องให้ขยายอำนาจเพื่อเปิดทางให้กองกำลังสหรัฐฯ โจมตีระบอบปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรียด้วย
การรีบเร่งผลักดันข้อเสนอนี้ มีขึ้นหลังจากครอบครัวมุลเลอร์ออกมาเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (10) ว่า ได้รับอีเมลและภาพถ่ายจากไอเอสเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันว่า เคย์ลา มุลเลอร์ ที่ถูกจับตัวไปตั้งแต่ปี 2013 ขณะทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในค่ายผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองในซีเรีย เสียชีวิตแล้วจริงตามที่กลุ่มก่อการร้ายนี้กล่าวอ้างก่อนหน้านี้
ทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่มีหลักฐานว่า มุลเลอร์เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของจอร์แดนตามที่ไอเอสกล่าวอ้าง กระนั้น เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง 2 คนที่ติดตามสถานการณ์ของมุลเลอร์อย่างใกล้ชิด เผยว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ตัวประกันหญิงผู้นี้เสียชีวิตในสถานการณ์การสู้รบบางรูปแบบ
นอกจากโทรศัพท์ไปแสดงความเสียใจต่อครอบครัวมุลเลอร์แล้ว โอบามายังออกคำแถลงระบุว่าจะตามล่าผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังการจับตัวและการเสียชีวิตของมุลเลอร์มาลงโทษ ไม่ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใดก็ตาม
ยิ่งกว่านั้น ในระหว่างให้สัมภาษณ์บัซฟีด นิวส์ ผู้นำสหรัฐฯ ยังบอกว่า ลำบากใจทุกครั้งที่ต้องแจ้งกับครอบครัวตัวประกันว่า อเมริกาจะไม่จ่ายค่าไถ่ พร้อมให้เหตุผลว่า การกระทำเช่นนั้นนอกจากเป็นการอัดฉีดผู้ที่สังหารประชาชนบริสุทธิ์ และทำให้กลุ่มก่อการร้ายเข้มแข็งขึ้นแล้ว ยังทำให้คนอเมริกันมีความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นเป้าหมายการลักพาตัว
ในอีกด้านหนึ่ง ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติของสหรัฐฯ (NCTC) ได้จัดทำรายงานฉบับใหม่ซึ่งประมาณการว่า ขณะนี้มีนักรบต่างชาติจากกว่า 90 ประเทศหลั่งไหลไปร่วมรบกับไอเอสและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในซีเรีย รวมเป็นจำนวนกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวตะวันตกอย่างน้อย 3,400 คน และชาวอเมริกันกว่า 150 คน
นิโคลัส รามุสเซน ผู้อำนวยการ NCTC ระบุในเอกสารเตรียมการสำหรับการแถลงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ (11) ว่า จำนวนนักรบต่างชาติที่เดินทางไปซีเรียขณะนี้มากกว่าจำนวนที่ไปร่วมรบในปากีสถาน อิรัก เยเมน หรือโซมาเลียในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
ราสมุสเซนสำทับว่า สนามรบในอิรักและซีเรียนำเสนอประสบการณ์การต่อสู้ การใช้อาวุธ และการฝึกทำระเบิด ซึ่งนักรบต่างชาติอาจนำมาใช้ในการวางแผนโจมตีเป้าหมายในประเทศตะวันตก
ผู้อำนวยการ NCTC แจงว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ไอเอสสามารถระดมอาสาสมัครใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้มีทักษะในการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อสังคม
ขณะเดียวกัน โรเบิร์ต เกรเนียร์ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ได้ออกมาเตือน ว่า การที่ตะวันตกเตรียมถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานภายใน 2 ปี อาจทำให้ประเทศนี้ถูกละเลยและกลายเป็นสถานที่คุ้มภัยสำหรับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
ทั้งนี้ เกรเนียร์เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติการของซีไอเอในปากีสถาน และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวหนังสือ “88 เดยส์ ทู กันดาฮาร์” ว่าด้วยความทรงจำเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการโค่นล้มระบอบปกครองตอลิบานในอัฟกานิสถานในปี 2001 หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายนที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน