xs
xsm
sm
md
lg

Focus : ความต่างที่เหมือน “กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง VS โรงหนังIMAX ติดขอบแกรนด์แคนยอน” โปรเจกต์เพื่ออิ่มของอินเดียแดง "นาวาโฮ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - จากปัญหาความคืบหน้าที่ยังไม่คืบของแนวคิดการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่ค้างคามาตลอดในไทย แต่ทว่าในสหรัฐฯ ปัญหาที่คล้ายกันกับกำลังเป็นข้อถกเถียงใหญ่และอาจลุกลามเป็นศึกระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน เมื่อโปรเจกต์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ของชนเผ่านาวาโฮ (Navajo) ที่ติดกับแกรนด์แคนยอน 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่เสนอโดย Confluence Partners บริษัทพัฒนาที่ดินซึ่งมีประธานาธิบดีแห่งชาตินาวาโฮ เบน เชลลี (Ben Shelly) หนุนหลังในการเปลี่ยนให้พื้นที่ชนเผ่าเป็นแหล่งเมก้าบิสซิเนส คอมเพล็ก ที่รวมไปถึงโรงภาพยนต์ 3 มิติ IMAX โรงแรม ร้านค้า และกระเช้าไฟฟ้าที่จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางร่วม 1.6 ไมล์จากด้านบนไปสู่เบื้องล่างของแกรนด์แคนยอนภายใน 10 นาที

ปัญหาชุมชนกับการพัฒนาทางธุรกิจมักจะพบเสมอในความต้องการที่สวนทางกันอย่างช่วยไม่ได้ ในไทยที่ปัญหาการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูถือเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนาน ระหว่างกลุ่มคนที่มองถึงศักยภาพในการเสริมสร้างศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจ และกลุ่มที่ยังคงต้องการอนุรักษ์ธรรมชาติและความสวยงามตามแบบฉบับของภูกระดึงเอาไว้ เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ถือเป็นองค์กรหนึ่งในการจับตาโครงการนี้ ล่าสุดในวันจันทร์ (9 ก.พ.) ได้เสนออีกหนึ่งความท้าทายผ่านทางเฟสบุ๊กอย่างเป็นทางการขององค์กร ในการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง โดยทางมูลนิธิรวบรวมจากสื่อเนชันที่ออกรายงานพิเศษถึงปัญหาการจัดการขยะบนภูกระดึง ซึ่งประเสริฐ กมลวัทนนิศา ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) ฝ่ายสนับสนุนการสร้างกระเช้าอ้างว่า ปัญหาขยะมีเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากผู้เดินเท้าขึ้นภูทิ้งขยะตามข้างทาง และทำลายสิ่งแวดล้อมสองข้างทาง แต่ในทางกลับกันโครงการกระเช้าขึ้นภูนั้นได้มีการออกแบบการกำจัดขยะ ที่กระเช้าจะถูกออกแบบให้ขนขยะนำลงมาข้างล่าง และมีบางส่วนฝังกลบบนภู ซึ่งแนวคิดการสร้างกระเช้ามาจากมูลฐานความคิดที่ “ต้องการให้ทุกคนไม่ว่าทุกเพศทุกวัย สามารถขึ้นชมธรรมชาติได้” และยังต้องการลดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้ใช้เวลานานอยู่บนภู ซึ่งจะมีปัญหาความแออัด และน้ำเสียเกิดขึ้น

แต่ทว่ากลุ่มคัดค้านยืนยันว่า หากเกิดโครงการนี้จะมีผลเสียมากมาย โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้สะท้อนถึงความเห็นของนักอนุรักษ์ต่างๆของไทย เช่น ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมฟื้นโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ว่าโครงการดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เนื่องจากภูกระดึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว และกำลังประสบปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชควรจะเดินหน้าจัดการการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติ และการตัดสินใจดำเนินการตามโครงการนี้ขัดแย้งกับแนวคิดในการอนุรักษ์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของกรมอุทยานฯ  

ด้านประยงค์ อัฒจักร ประธานมูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นคนหนึ่งที่สนใจและติดตามความเคลื่อนไหวของประเด็นการสร้างกระเช้าภูกระดึงมาตั้งแต่ต้น และได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่น้อยเขากล่าวว่า ขณะนี้หากถามความเห็นส่วนตัวต่อเรื่องนี้แน่นอนว่าจุดยืนแรก คือ คัดค้าน ส่วนอีกความเห็นหนึ่ง คือ หากคิดจะสร้างจริงๆ อยากให้มีการศึกษาอย่างถี่ถ้วน “ที่น่ากลัว คือ เรื่องที่ต่อเนื่องจากกระเช้า ตอนนี้ผมกำลังเห็นภาพเซเว่นอยู่บนภูกระดึง มีการสัมปทานภูกระดึงให้เอกชน สุดท้ายจะมีสนามกอล์ฟ เป็นต้น ข้อเท็จจริงนี้สุดท้ายมันก็คือการรวมกลุ่มของผู้มีประโยชน์แอบแฝงต่อภูกระดึง”

และ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เป้าหมายของการสร้างกระเช้าลอยฟ้า เราจะต้องชัดเจนว่าสามารถตอบโจทย์การลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปค้างคืนได้หรือไม่ หากสามารถดำเนินการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวได้จริง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำข้อมูลมาพูดคุยกัน และนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม. แต่นี้ถ้าดำเนินการเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและให้ค้างคืนได้เช่นเดิม ก็ไม่เห็นความจำเป็นในการดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ประเด็นนี้ต้องมีการนำรายละเอียดทั้งหมดมาพิจารณาก่อนและต้องมีการถกเถียงกันในวงกว้างต่อไป เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

และเมื่อมองไปอีกซีกโลก ศึกอภิมหาโปรเจกต์แกรนด์แคนยอนกำลังจะทำให้เกิดข้อบาดหมางขึ้นในระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองในสหรัฐฯ หรือที่รู้จักในชื่ออินเดียนแดง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ยากไร้ มีปัญหาด้านอัตราการว่างงานสูง และอัตราได้รับการรับการศึกษาต่ำ นอกจากนี้ยังไม่สามารถเข้าถึงทางการแพทย์ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแกรนด์แคนยอน  เป็นดินแดนหินผาและหุบเหว หน้าผามีความสูงถึง 1,600 ม. และหุบเหวยาวถึง 450 กม. อยู่ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐแอริโซนา มีนักท่องเที่ยวนับแสนๆคนในแต่ละปี และผู้ค้นพบคือพันตรีจอร์น เวสลีย์ เพาเวลล์และคณะเมื่อปี 1869 กำลังกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งของบรรดาชนเผ่าต่างๆ ที่มีพื้นที่ใกล้บริเวณนี้ โดยเอพีรายงานว่า สถานที่เรียนกว่า “the confluence" ซึ่งเป็นบริเวณแม่น้ำโคโลราโดไหลบรรจบกับแม่น้ำโคลาโดน้อยทางด้านตะวันออกของแกรนด์แคนยอน และจากตำนานของชนเผ่านาวาโฮ “the confluence” ถือเป็นสถานที่มนุษย์อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ กำลังตกอยู่ในอันตราย

Confluence Partners บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดีแห่งชาติอินเดียนนาวาโฮ เบน เชลลี (Ben Shelly) ได้เสนอโครงการพัฒนาที่ดินซึ่งอยู่ในความครอบครองของชนเผ่านาวาโฮ ติดกับแกรนด์แคนยอนให้กลายเป็น “เมก้าคอมเพล็กซ์” ที่มีพื้นที่ใช้สอยราว 420 เอเคอร์เพื่อสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเยือนแกรนด์แคนยอนร่วม 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งในเมก้าคอมเพล็กซ์แห่งนี้คาดว่าจะรวมไปถึงโรงภาพยนต์ 3มิติ IMAX ร้านค้าต่างๆ โรงแรม และที่ตั้งแคมป์สำหรับรถบ้านเคลื่อนที่ของบรรดานักท่องเที่ยว และแน่นอนที่สุดต้องมีกระเช้าลอยฟ้า หรือ gondola tram ที่จะนำนักท่องเที่ยวลงมาสู่เบื้องล่างในระยะทาง 1.6 ไมล์ในเวลาเพียง 10 นาที ซึ่งดูไปก็ไม่ต่างจากภูกระดึงเท่าใดนัก

และนอกเหนือไปกว่านี้ ในโปรเจกต์การพัฒนายังกล่าวถึง “Riverwalk” บนพื้นเบื้องล่างของแกรนด์แคนยอน ที่จะรวมไปถึงทางเดินเชื่อมยกระดับศูนย์อาหารพาวิเลียน และสถานีกระเช้าลอยฟ้า บริเวณเทอร์เรซที่นั่ง และโรงงานบำบัดน้ำเสียผุดขึ้นในแกรนด์แคนยอน

โดยเชลลีเปิดเผยว่า ชนเผ่านาวาโฮต้องประสบปัญหาการว่างงาน รวมไปถึงมีอัตราฆ่าตัวตายสูง “และสิ่งที่ผมได้จากสถิติเหล่านั้นคือ สมาชิกชนเผ่าต้องการงานทำ พวกเขาต้องการที่อยู่อาศัย มีความต้องการศึกษาที่ดีกว่านี้ พวกเขาต้องการเป็นส่วนร่วม และสร้างธุรกิจขึ้นมา”

ทั้งนี้ เอพีชี้ว่า ผู้นำแห่งชาติอินเดียนนาวาโฮมีแผนที่จะอนุมัติโปรเจกต์การพัฒนารอบแกรนด์แคนยอนนี้ รวมไปถึงเงินร่วม 65 ล้านดอลลาร์จากชนเผ่าเพื่อสร้างถนน จัดหาน้ำประปา และการสื่อสารต่างๆ แต่ทว่าการที่โอกาสของธุรกิจจะมาลงทุนในดินแดนครอบครองของชนเผ่านาวาโฮนั้นยากมาก เป็นเพราะมานานกว่า 40ปีแล้วที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯหยุดแผนการพัฒนาลงทุนทางธุรกิจที่จะมีขึ้นในที่ดินร่วม 1.6 ล้านเอเคอร์ของนาวาโฮในกฎหมาย “The Bennett Freeze” เนื่องจากมีความขัดแย้งในการถือกรรมสิทธิที่ดินบางส่วนระหว่างเผ่านาวาโอและเผ่าโฮพิ (Hopi)

นอกจากนี้ ดูเหมือนโปรเจกต์แกรนด์แคนยอนของผู้นำเผ่านาวาโฮจะไม่ได้ทำให้สมาชิกของชาตินาวาโฮทุกคนเห็นชอบ หนึ่งในเสียงคัดค้านคือ รีเน เยลโลว์ฮอร์ส (Renae Yellowhorse) ที่เปิดเผยว่า “สถานที่นี้ถือเป็นโบสถ์ นี่เป็นสถานที่ซึ่งดิฉันถวายสักการะ และเป็นสถานที่ซึ่งดิฉันติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ เทพเจ้าที่ท่องอยู่ในแกรนด์แคนยอน ดิฉันคิดว่าเราสมาชิกชนเผ่าทุกคนรอการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่สถานที่แห่งนี้” ทั้งนี้ครอบครัวของเยลโลว์ฮอร์สยังคงดำรงชีวิตตามแบบดั้งเดิม ที่มีหาเลี้ยงชีพด้วยการต้อนปศุสัตว์ในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันออกของแกรนด์แคนยอน

เสียงคัดค้านยังดังมาจากเผ่าโฮพิที่มีหลายเสียงเห็นว่า สถานที่ก่อสร้างโปรเจกต์นี้ใกล้กับสถานที่ศักดิสิทธิของชนเผ่า Hopi Salt Trail และลิจ เจ.คูวานวิซิวมา (Leigh J. Kuwanwisiwma ) ผู้อำนวยการสำนักงานอนุรักษ์วัฒนธรรมแห่งชาติอินเดียโฮพิเปิดเผยว่า “สำหรับเผ่าโฮพิแล้ว the confluence ถือเป็นสุสานบรรพบุรุษ และหากมีการสร้างแหล่งบันเทิงในบริเวณใกล้เคียงอาจจะเป็นการรบกวนและขัดขวางสมาชิกชนเผ่าในการเข้าไปประกอบกิจทางศาสนาได้” คูวานวิซิวมากล่าว

แต่ทว่า อัลเบิร์ต เฮล (Albert Hale) นักพัฒนาจาก Confluence Partners และเป็นชาวอินเดียนแดงชนเผ่านาวาโฮกลับให้ความเห็นแย้งว่า โปรเจกต์ธุรกิจนี้จะทำให้เผ่านาวาโฮได้ผลกำไรจากที่ดินที่อยู่ในความครอบครอง และยังทำให้นักท่องเที่ยวสามารถตื่นตะลึงในทัศนียภาพที่แปลกใหม่ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเผ่านาวาโฮจะมีรายได้กำไรขั้นต้นราว 8-18% จากการพัฒนา “จุดมุ่งหมายเพื่อทำให้คนที่ยังไม่ได้สัมผัสแกรนด์แคนยอน สามารถเดินทางมาถึงและสัมผัสต่อสิ่งมหัศจรรย์นี้” เฮลกล่าว และช่างน่าแปลกใจที่คำกล่าวของเฮลคล้ายกับจุดมุ่งหมายการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่อ้างว่า เพื่อให้ทุกคนสามารถสัมผัสธรรมชาติบนยอดดอยได้

ท้ายที่สุดเอพีเผยว่า ถึงแม้เชลลีจะมุ่งมั่นที่จะทำให้โปรเจกต์นี้เป็นจริงขึ้นมาโดยการอนุมัติ และทำให้เป็นรูปเป็นร่างได้เร็วที่สุดในต้นฤดูใบไม้ผลิปี 2017 แต่สมาชิกชนเผ่านาวาโฮอยู่ภายใต้การปกครองของเขา เช่น เยลโลว์ฮอร์ส รวมไปถึง คูวานวิซิวมาจากเผ่าโฮพิประกาศไม่ยอมแพ้ และเดินหน้าจัดตั้งกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างภายใต้ชื่อ "Save the Confluence"  รวมถึงมีการเผยแพร่สติกเกอร์ข้อความ และสัญลักษณ์การคัดค้านทั่วอาณาเขตอนุรักษ์ชนเผ่านาวาโฮ “ดินแดนทั้งหมดรวมถึงแกรนด์แคนยอน สุสานบรรพบุรุษ ยังคงมีความสำคัญมากต่อเผ่าโฮพิ และเราจะไม่มีวันยอมให้หลุดมือไปเด็ดขาด” คูวานวิซิวกล่าวตบท้าย
โปรเจกต์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ของชนเผ่านาวาโฮ(Navajo)ที่ติดกับแกรนด์แคนยอน หนึ่งใน 7สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่เสนอโดย Confluence Partners  บริษัทพัฒนาที่ดินซึ่งมีประธานาธิบดีแห่งชาตินาวาโฮ เบน เชลลี (Ben Shelly)หนุนหลังในการเปลี่ยนให้พื้นที่ชนเผ่าเป็นแหล่งเมก้าบิสซิเนส คอมเพล็ก ที่รวมไปถึงโรงภาพยนต์ 3 มิติ IMAX โรงแรม ร้านค้า และกระเช้าไฟฟ้าที่จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางร่วม 1.6 ไมล์จากด้านบนไปสู่เบื้องล่างของแกรนด์แคนยอนด์ภายใน 10 นาที
รีเน เยลโลว์ฮอร์ส (Renae Yellowhorse )
การประท้วงก่อสร้างโปรเจกต์แกรนด์แคนยอน

ฝ่ายสนับสนุนการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย

กำลังโหลดความคิดเห็น