xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปดันแผนสันติภาพยูเครนสุดลิ่ม เตือนโอกาสสุดท้ายยับยั้ง “สงคราม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครน และประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส จับมือกันในการประชุม ณ กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อวันพฤหัสบดี (5 ก.พ.)
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พูดคุยหารือทางโทรศัพท์ในวันอาทิตย์ (8 ก.พ.) กับผู้นำของเยอรมนี, ฝรั่งเศส และยูเครน หลังจากนั้นเขาแถลงว่ากำลังดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดการเจรจาสันติภาพระหว่าง 4 ชาตินี้ที่กรุงมินสก์ในวันพุธ (11) แต่บอกด้วยว่าในระหว่างพวกเขายังจำเป็นที่จะต้องตกลง “ประเด็นจำนวนหนึ่ง” ให้ได้ก่อน ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของแดนน้ำหอมก็เตือนว่า นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายในการป้องกัน “สงครามเต็มรูปแบบ” ขณะที่อเมริกาดักคอประมุขหมีขาวให้ “ทำดีกว่าพูด” พร้อมกันนี้วอชิงตันยังพยายามแก้ข่าวที่ระบุว่า สหรัฐฯ กับชาติพี่เบิ้มในยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส มีความเห็นแตกต่างในเรื่องหนทางแก้ไขวิกฤตยูเครน

“พวกเราตกลงกันว่าจะพยายามจัดการประชุมในรูปแบบอย่างเดียวกันนี้ ในระหว่างประมุขของรัฐและของรัฐบาลเหล่านี้ในกรุงมินสก์” ปูตินบอกกับ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีของเบลารุส ในการสนทนาที่มีการถ่ายทอดทางทีวี ทั้งนี้ มินสก์ เป็นเมืองหลวงของเบลารุส

“พวกเราตั้งจุดมุ่งหมายที่จะประชุมกันในวันพุธ ถ้าหากว่าเมื่อถึงเวลานั้นพวกเราสามารถที่จะใช้ความพยายามจนตกลงกันได้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งเราได้พยายามหารือกันอย่างเข้มข้นในช่วงหลังๆ นี้” ปูตินกล่าวที่เมืองโชชิ เมืองตากอากาศริมทะเลดำของรัสเซีย ภายหลังหารือทางโทรศัพท์ กับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี, ประธานาธิบดีออลลองด์ของฝรั่งเศส และประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครน

แมร์เคิล กับ ออลลองด์ กำลังเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพ 4 ฝ่ายที่มินสก์คราวนี้ โดยในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ผู้นำทั้งสองได้รีบเร่งเดินทางไปกรุงเคียฟในวันพฤหัสบดี (5) เพื่อหารือกับโปโรเชนโก จากนั้นก็ไปมอสโกในวันศุกร์ (6) เพื่อพูดคุยกับปูติน

ผู้นำเมืองเบียร์ออกตัวว่า ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ตนและออลลองด์เห็นว่า คุ้มค่าที่จะผลักดัน
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย (ขวา) ต้อนรับอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีของเบลารุส (ซ้าย) ณ ที่พำนักประธานาธิบดี ในสกีรีสอร์ตเมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ในวันอาทิตย์ (8 ก.พ.)
ขณะที่แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีให้สัมภาษณ์สถานีทีวีท้องถิ่นว่า ความพยายามดังกล่าวจะรู้ผลภายใน 2-3 วัน

สไตน์ไมเออร์ยังวิจารณ์เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียว่า แทนที่จะช่วยผลักดันการแก้วิกฤตยูเครน กลับกล่าวหายุโรปและอเมริกาเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ปล่อยให้ยูเครนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยซึ่งหมายถึงประชาชนในยูเครนที่ฝักใฝ่ในรัสเซีย แถมพยายามส่งอาวุธสังหารให้เคียฟ

ทางด้านรองประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หากดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมา ควรพิจารณาจากการกระทำของรัสเซีย ไม่ใช่คำพูด

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้หนึ่งเผยว่า แผนการสันติภาพที่แมร์เคิลกับออลลองด์พยายามผลักดันในคราวนี้ ส่วนใหญ่ยังคงอิงกับข้อตกลงหยุดยิงฉบับที่ตกลงกันไว้ที่มินสก์ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เพียงแต่มีรายละเอียดมากขึ้น แต่ตั้งข้อสังเกตว่า แผนการดังกล่าวยังไม่แน่นอนและอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ออลลองด์กล่าวกับสถานีทีวีฟรานซ์ 2 ว่า ข้อเสนอของเขากับแมร์เคิล มีเรื่องการตั้งเขตปลอดทหารเป็นระยะทาง 50-70 เมตรโดยอิงกับแนวรบปัจจุบัน พร้อมเตือนว่า แผนการสันติภาพฉบับใหม่นี้เป็นหนึ่งในโอกาสสุดท้ายเพื่อยับยั้งวิกฤตที่ยืดเยื้อมาถึง 10 เดือน และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,400 คน

ทว่า แนวคิดดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากประธานาธิบดียูเครนที่สูญเสียพื้นที่ให้กบฏโปรรัสเซียนับจากข้อตกลงหยุดยิงฉบับก่อนมีผล โดยยืนกรานว่า เขตปลอดทหารต้องอิงกับบริเวณเดียวกับที่กำหนดในข้อตกลงมินสก์ฉบับก่อน
สมาชิกกลุ่มติดอาวุธใฝ่รัสเซียขับรถถังลาดตระเวนไปตามท้องถนนในจังหวัดโดเนตสค์ ทางภาคตะวันของของยูเครน
เวลานี้สหรัฐฯ เริ่มมีความโน้มเอียงมากขึ้นที่จะติดอาวุธไฮเทคให้กองทัพยูเครน แต่แมร์เคิลโต้แย้งว่า การกระทำดังกล่าวรังแต่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจากจะทำให้ปูตินเชื่อว่า รัสเซียกำลังจะพ่ายแพ้ทางการทหารและตัดสินใจเพิ่มเดิมพันหนักขึ้น

ความคิดเห็นดังกล่าวเรียกเสียงวิจารณ์จาก ลินด์ซีย์ เกรแฮม และจอห์น แมคเคน 2วุฒิสมาชิกอเมริกันสายเหยี่ยวของพรรครีพับลิกัน ซึ่งกล่าวหาว่าเบอร์ลินกำลังทอดทิ้งพันธมิตรที่มีปัญหา

เหตุการณ์เช่นนี้ฟ้องว่า ยุโรปกับสหรัฐฯ ซึ่งต่างเป็นสมาชิกขององค์กานาโต เกิดขัดแย้งกันในการหาทางรับมือปูติน

ไบเดนพยายามปิดบังรอยร้าวโดยกล่าวว่า ตนและประธานาธิบดีบารัค โอบามา เห็นด้วยว่า ไม่ควรพยายามบ่อนทำลายการแก้ไขวิกฤตด้วยสันติวิธี แต่ขณะเดียวกัน ก็ประกาศชัดเจนว่าวอชิงตันพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ยูเครนสามารถป้องกันตัวเองได้

ทั้งนี้ แมร์เคิลมีกำหนดเดินทางไปวอชิงตันเพื่อหารือกับโอบามาในวันอาทิตย์

ระหว่างที่เหล่าผู้นำพยายามผลักดันมาตรการทางการทูต การต่อสู้ในยูเครนตะวันออกก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยกลุ่มกบฏเผยว่า มีพลเรือนเสียชีวิต 8 รายเมื่อวันเสาร์ และเคียฟกล่าวหากลุ่มกบฏว่า ใช้อาวุธหนัก อาทิ รถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ และระบบยิงจรวด รวมทั้งระดมกำลังเพิ่มเพื่อรุกคืบยึดพื้นที่ในเมืองเดบัลต์เซเบ และเมืองมาริวโพล

กำลังโหลดความคิดเห็น