xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เฒ่านาซีที่ถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิด “ฆ่ายิว” ค่ายเอาชวิตซ์ บอกยังได้ยินเสียงร้องจาก “ห้องรมแก๊ส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ออสคาร์ เกรินนิง อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยนาซี วาฟเฟิน-เอสเอส
เอเอฟพี - อดีตเจ้าหน้าที่ค่ายกักกันชาวยิว “เอาชวิตซ์” วัย 93 ปีที่มีกำหนดขึ้นศาลเยอรมัน เพื่อเข้ารับการพิจารณาคดีข้อหาสมรู้ร่วมคิดพยายามฆ่าอย่างน้อย 300,000 กระทงในเดือนเมษายนนี้ระบุว่า รู้สึกละอายใจที่เคยทำงานในค่ายมรณะแห่งนี้ และยังคงได้ยินเสียงร้องโหยหวนของชาวยิวที่ติดอยู่ในห้องรมแก๊สพิษตามมาหลอกหลอนจนถึงทุกวันนี้

ออสคาร์ เกรินนิง จำเลยชาวเยอรมันจะถูกดำเนินคดีในข้อหาที่พัวพันกับการส่งตัวชาวยิว 425,000 คนไปยังค่ายกักกันในโปแลนด์ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 1944 ระหว่างที่ประเทศนี้ถูกนาซีเยอรมนียึดครอง โดยในจำนวนนี้มีนักโทษถูกรมแก๊สเสียชีวิตไปอย่างน้อย 300,000 คน

ศาลเมืองลือเนนบูร์ก ทางตอนเหนือของเมืองเบียร์ระบุว่า การพิจารณาคดีซึ่งคาดว่าจะน่าจะเป็นคดีท้ายๆ ที่มุ่งเอาผิดต่อผู้มีส่วนพัวพันในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 21 เมษายนนี้

โจทก์ร่วมทั้ง 55 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รอดชีวิตและญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิตจะเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีครั้งนี้ด้วย

เมื่อเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่จำเลยถูกตั้งข้อหา อัยการเมืองฮันโนเวอร์ระบุว่า เกรินนิง ซึ่งในเวลานั้นเป็นสมาชิกหน่วยนาซี วาฟเฟิน-เอสเอส ได้รับมอบหมายให้นับธนบัตรที่เก็บรวบรวมได้จากสัมภาระของนักโทษ แล้วนำไปส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของหน่วยเอสเอสในกรุงเบอร์ลิน

ด้วยเหตุนี้ ใครๆ จึงพากันเรียกเขาว่า “คนทำบัญชี” แห่งค่ายเอาชวิตซ์

นอกจากนี้ จำเลยยังช่วยขนสัมภาระของเหยื่อไปทิ้งเพื่อไม่ให้ชาวยิวผลัดต่อไปที่เดินทางมาถึงได้เห็นเนื่องจากเกรงว่าพวกเขาจะไหวตัวทันจนแตกตื่น

พวกเขากล่าวว่า จำเลยทราบว่านักโทษซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยิวและไม่น่าจะถูกส่งมาทำงานหนัก ล้วนแต่ “ถูกสังหารทันทีที่พวกเขาไปถึงห้องรมแก๊สของค่ายเอาชวิตซ์”
ค่ายกักกันชาวยิว เอาชวิทซ์-เบียร์เคเนา ในโปแลนด์
เมื่อปี 2005 เกรินนิงเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวัน “บิลด์” ว่า เขารู้สึกเสียใจที่เคยทำงานที่ค่ายเอาชวิตซ์ และยังคงได้ยินเสียงกรีดร้องโหยหวนจากห้องรมแก๊ส แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานหลายทศวรรษแล้ว

“ผมรู้สึกละอายใจมานานหลายสิบปี และจนทุกวันนี้ความรู้สึกนั้นก็ยังไม่เลือนหายไป” ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของเกรินนิงซึ่งเริ่มทำงานที่ค่ายกักกันชาวยิวตั้งแต่อายุ 21 ปี ก่อนที่ค่ายเอาชวิตซ์กล่าวจะได้รับการปลดปล่อยเมื่อ 70 ปีก่อน

“ผมไม่ได้รู้สึกละอายใจเพราะการกระทำของตัวเอง เพราะผมไม่เคยฆ่าใคร แต่เป็นเพราะผมช่วยเหลือคนพวกนั้น ผมเปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวหนึ่งในเครื่องจักรกลที่ทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์นับล้านๆ คน”

เมื่อปี 2013 เจ้าหน้าที่เยอรมันที่สืบสวนการก่ออาชญากรรมสงครามของพวกนาซี ได้ส่งแฟ้มสำนวนของอดีตเจ้าหน้าที่ค่ายเอาชวิตซ์ 30 คนไปให้อัยการ พร้อมทั้งแนะนำให้ตั้งข้อหาพวกเขา

ทั้งนี้ เบอร์ลินได้เริ่มนำตัวผู้กระทำผิดที่พัวพันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่ยังมีชีวิตอยู่มาดำเนินคดีอีกครั้ง หลังศาลมีคำตัดสินครั้งสำคัญออกมาเมื่อปี 2011

เป็นเวลานานกว่า 60 ปี ที่ศาลเยอรมันจะดำเนินคดีอาชญากรสงครามนาซี ก็ต่อเมื่อพบหลักฐานที่ชี้ชัดว่า พวกเขากระทำความชั่วร้าย โดยมีแรงจูงใจส่วนตัวเท่านั้น

แม้กระนั้น เมื่อปี 2011 ศาลเมืองมิวนิกได้ตัดสินจำคุก จอห์น เดมยานยุค เป็นเวลา 5 ปี จากการที่เขาสมรู้ร่วมคิดสังหารหมู่ชาวยิวในค่ายโซบิเบาะร์ ในช่วงที่เขาทำหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์ จนเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้ยามเฝ้าค่ายกักกันทุกถูกนำตัวมาดำเนินคดี

ประชากรที่ส่วนใหญ่เป็นชาวยิวในยุโรปถูกสังหารในค่ายกักกัน เอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา ไปราว 1.1 ล้านคน โดยค่ายนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพนาซีตั้งแต่ปี 1940 จนกระทั่งได้รับการปลดปล่อยโดยกองกำลังรัสเซียเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1945


กำลังโหลดความคิดเห็น