เอเจนซีส์ - หลังจากเหตุเดินขบวนคล้องแขนร่วมใจเป็นหนึ่งต้านก่อการร้ายผ่านไปที่เห็นผู้นำประเทศมหาอำนาจรวมในเป็นหนึ่งเดินเคียงข้างกับฝรั่งเศ ยกเว้นสหรัฐฯที่มีเพียง เจน ฮาร์ตลีย์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงปารีสที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ล่าสุดเดลัเมล สื่ออังกฤษรายงานว่า ทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา และรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ต่างใช้เวลาวันอาทิตย์(11)พักผ่อนที่บ้าน แทนที่จะเข้าร่วมการเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ ในขณะที่รัฐบาลสเปนประกาศต้องการแก้กฏเกณวีซ่าเชงเกนเพื่อต้องการให้มีเจ้าหน้าที่ควบคุมพรมแดนเพื่อป้องกันกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง
เดลีเมลรายงานวันนี้(12) ถึงการหายตัวของผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯในการปรากฏตัวร่วมกับประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส และบรรดาแขกผู้มีเกียรติต่างชาติมากกว่า 40 ชาติ รวมถึงผู้นำเยอรมนี, อิตาลี, อังกฤษ, ตุรกี, อิสราเอล และดินแดนปาเลสไตน์ หรือแม้แต่รัสเซีย ได้เดินนำขบวนประชาชนนับล้านคนในกรุงปารีสเพื่อแสดงพลังต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง เมื่อวานนี้ (11) หลังเกิดเหตุมือปืนอิสลามิสต์ก่อการโจมตีฝรั่งเศสในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่าเป็นการระดมคลื่นมหาชนครั้งใหญ่ที่สุดในปารีส นับตั้งแต่ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพนาซีในปี 1944
โดยสื่ออังกฤษได้ให้คำตอบถึงการหายตัวไปอย่างลึกลับของประเทศมหาอำนาจที่เป็นสัญลักษณ์ “ประชาธิปไตย เสรีภาพทางการพูด “ โดยยกคำกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ในวันศุหร์(9) ที่ประกาศในรัฐเทนเนสซีว่า ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกา “ผมอยากให้ประชาชนชาวฝรั่งเศสทราบว่า สหรัฐฯยืนเคียงข้างพวกท่านในวันนี้ และจะเคียงข้างท่านในวันพรุ่งนี้” แต่ทว่าในวันอาทิตย์(11)ที่มีผู้คนร่วม 3.7 ล้านเดินขบวนจับมือประกาศให้โลกรู้ถึงความมุ่งมั่นที่จะสู้กับก่อการร้ายและปกป้องเสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพทางคำพูด แต่โอบามากลับไม่ปรากฏตัวยืนระหว่างกลางของ ออลลองด์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู และนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ มามูด อับบาส ที่ละทิ้งความต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองยอมคล้องแขนร่วมกัน และยังรวมไปถึงอีกคู่บาดหมางแห่งปี 2014 ระหว่างประธานาธิบดียูเครน เปโตร โปโรเชนโก และรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ที่เข้าร่วมและคล้องแขนร่วมกันในงานนี้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้จากข้อมูลแหล่งข่าวทำเนียบขาวพบว่า ผู้นำสหรัฐฯใช้เวลาช่วงบ่ายวันอาทิตย์(11)ในการชมเกมส์การแข่งขันอเมริกันฟุตบอลรอบเพลย์ออฟทางโทรทัศน์ในทำเนียบขาว ซึ่งเกมส์การแข่งขันนั้นถ่ายทอดหลังจากพิธีเดินแรลลีในฝรั่งเศสได้เร่มต้นผ่านไผหลายชั่วโมงแล้ว
สื่ออังกฤษชี้ว่า ทั้งโอบามา และไบเดนยังคงอยู่ในวอชิงตันเมื่อวานนี้(11)ถึงแม้จะไม่มีกำหนดการที่ต้องออกไปทำภารกิจสาธารณะเหมือนเช่นทุกครั้ง ในขณะที่จอห์น เคร์รีย์ มีภารกิจไปเยือนอินเดียตามกำหนดการล่วงหน้า ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เอริค โฮลเดอร์ ก็ได้เดินทางไปกรุงปารีสเพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของยุโรปว่าด้วยมาตรการป้องกันการก่อเหตุของพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง และlถึงแม้สื่อหลายสำนักรายงานว่าโฮลเดอร์ไม่ได้เข้าร่วม แต่เดลีเมลชี้ว่า โฮลเดอร์ร่วมขบวนการเดินประท้วงรอบนอก แต่ได้รีบกลับออกไปก่อนอย่างรวดเร็วในช่วงต้น โดยโฮลเดอร์ได้ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์ของสหรัฐฯ 4 สถานีในช่วงต้นของการเริ่มเดิน และผู้ที่เป็นตัวแทนระดับสูงของสหรัฐฯในการร่วมเดินขบวนครั้งนี้คือ เจน ฮาร์ตลีย์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงปารีส ที่ประชาชนอเมริกันเกือบทั้งประเทศแทบไม่มีใครรู้จักเธอ ไม่นับถึงคนทั้งโลก
ซึ่งทำเนียบขาวยังไม่ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนถึงการไม่ปรากฏตัวของผู้นำระดับสูงสหรัฐฯ แต่เดลีเมลตั้งข้อสังเกตว่า ตามปกติแล้ว รองฯไบเดนมักจะเป็นตัวแทนของผู้นำสหรัฐฯในการร่วมพิธีสำคัญต่างๆ แต่กระนั้นกลับไม่ปรากฏว่าไบเดนจะเข้าร่วมงานนี้ถึงแม้เขาจะไม่มีนัดหมายในตารางวันอาทิตย์(11)ก็ตาม
ทั้งนี้ นิวต์ กินกริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกันได้ให้ความเห็นกับเดลีเมลว่า “ในขณะที่ผู้นำกว่า 50 ชาติรวมตัวคล้องแขนแสดงความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อร่วมสู้ก่อการร้ายในกรุงปารีส แต่ประธานาธิบดีโอบามากลับปฏิเสธเข้าร่วม ยังคงแสดงความขี้ขลาดอย่างต่อเนื่อง เหมือนจะกลัวว่าจะต้องแสดงความอ่อนแอออกมาต่อชาวโลกเมื่อต้องเผชิญหน้ากับก่อการร้ายสากล”
ด้านเบน ไวท์ ผู้สื่อข่าวโพลิติโก สื่ออนไลน์ทางการเมืองสหรัฐฯ ทวีตให้ความเห็นเสริมว่า “นี่ผมคิดไปเองคนเดียวหรือที่คิดว่า ประธานาธิบดีโอบามาสมควรที่ต้องเข้าร่วมในการเดินขบวนที่ยิ่งใหญ่ในปารีสนี้” เพราะการหายตัวไปของผู้นำสหรัฐฯเป็นที่จับตาของคนทั้งโลก โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าผู้นำมหาอำนาจไม่มีภารกิจใดเลยในวันสำคัญนี้ และมีรายงานเพิ่มเติมว่า โฮลเดอร์เดินทางกลับวอชิงตันทันทีหลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมประชุมที่กรุงปารีส
ในขณะเดียวกัน RT สื่อรัสเซียรายงานเมื่อวานนี้(11)ว่า รัฐบาลสเปนมีแผนต้องการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณวีซ่าเชงเกน เพื่อจะทำให้สเปนสามารถตั้งด่านบริเวณพรมแดนเพื่อสกัดไม่ให้สมาชิกกลุ่มมุสลิมติดอาวุธสามารถเดินทางกลับเข้ายุโรปหลังจากบินออกไปยังตะวันออกกลางได้
“เราต้องการให้สามารถมีการตั้งด่านควบคุมพรมแดนได้ และทำให้มีความจำเป็นต้องแก้ไขสนธิสัญญาความร่วมมือเชงเกน จอร์จ เฟอร์นานเดซ ดิแอซ ( Jorge Fernandez Diaz)รัฐมนตรีมหาดไทยสเปนให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ El Pais ในวันเสาร์(10) และเสริมว่า “การเคลื่อนย้ายเสรีในสหภาพยุโรปในขณะนี้ส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมติดอาวุธสามารถเดินทางเข้าไปประเทศใดก็ได้ รวมถึงสเปนของเราเช่นกัน”
โดยคาดกันว่าทั้งตัวเขาและประเทศคู่เจรจาจากอียูมีกำหนดจะสนทนาในเรื่องนี้ในวันอาทิตย์(11)ที่กรุงปารีส นอกจากนี้ดิแอซยังเรียกร้องให้มีการสร้างฐานข้อมูลผู้โดยสารเครื่องบินในยุโรป เพื่อที่จะสามารถใช้เพื่อต่อต้านก่อการร้ายภายในกลุ่มประเทศสมาชิก เราเชื่อว่าฐานข้อมูลผู้โดยสารเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะสามารถติดตามใครก็ตามที่ประสงค์จะเดินทางไปยังดินแดนที่มีการปฎิบัติการก่อการร้าย หรือคนที่เพิ่งเดินทางออกมาจากที่นั่น”
ทั้งนี้สนธิสัญญาเชงเกนอนุญาตให้พลเมืองของ 26ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถเดินทางไปมาได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง ยกเว้น อังกฤษ และไอร์แลนด์
และดิแอซให้ความเห็นต่อว่า “ ข้อความแสดงความเกลียดชัง โดยเฉพาะข้อความจากกลุ่มก่อการ้ายที่ประสงค์จะหาสมาชิกใหม่เข้าร่วมทางออนไลน์ต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วน โดยที่ไม่จำเป็นต้องปิดโลกอินเตอร์เนตที่มีเสรีภาพในการแสดงออก “เราต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทอินเตอร์เนตเพื่อจะให้ได้รับข้อมูล และสามารถลบข้อความที่มีเนื้อหาเชิญชวนให้เข้าร่วมก่อการร้าย หรือคำชักชวนเรียกร้องให้ก่อการร้าย หรือข้อความแสดงความเกลียดชัง และแบ่งแยก”
จากเหตุบุกยิงสื่อชาลี เอ็บโด ทำให้มีความเกรงกันว่าอาจมีการกระทำก่อการร้ายเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยหนังสือพิมพ์ บิลด์ ของเยอรมัน พาดหัวข่าวในวันอาทิตย์(11) โดยอ้างจากแหล่งข่าวความมั่นคงสหรัฐฯ NSA เตือนว่า การเริ่มโจมตีในฝรั่งเศสอาจจะเป็นแค่การเริ่มต้นของกลุ่มติดอาวุธที่จะโจมตียุโรป โดยใช้การดักฟังการสนทนาระหว่างผู้นำของกลุ่ม IS โดยสื่อเยอรมันรายงานว่า กรุงโรมอยู่ในข่ายเป็นเป้าที่อาจจะถูกกลุ่มติดอาวุธโจมตี แต่ทว่าสื่อเมืองเบียร์ไม่ได้ให้รายละเอียด หรือหลักฐานแน่นหนาที่จะโยงถึงแผนการก่อการร้ายที่อาจมีขึ้น