เอเอฟพี - เยอรมนีได้ตั้งข้อหาอย่างน้อย 300,000 กระทงกับอดีตสมาชิกของหน่วยทหารนาซี “วาฟเฟิน-เอสเอส” ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 93 ปี ฐานสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรม ระหว่างที่เขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในค่ายมรณะ “เอาชวิทซ์”
ข้อกล่าวหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการส่งชาวยิวราว 425,000 คนไปยังค่ายในโปแลนด์ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ปี 1944 ระหว่างที่ประเทศนี้ถูกนาซียึดครอง โดยในจำนวนนี้มีนักโทษถูกรมแก๊สเสียชีวิตไปอย่างน้อย 300,000 คน
อัยการเมืองฮันโนเวอร์ ทางตอนเหนือขอเยอรมนีระบุว่า จำเลยผู้นี้ช่วยขนสัมภาระของเหยื่อไปทิ้ง เพื่อไม่ให้ชาวยิวผลัดต่อไปที่เดินทางมาถึงได้เห็น เนื่องจากเกรงว่าพวกเขาจะไหวตัวทันจนแตกตื่น
อัยการระบุในคำแถลงว่า “จำเป็นต้องมีการทำลายร่องรอยการสังหารหมู่ชาวยิวในค่ายกักกัน เพื่อไม่ให้นักโทษที่เดินทางมาเป็นผลัดต่อไปสังเกตเห็น”
อัยการระบุเพิ่มเติมว่า บทบาทสำคัญของจำเลย คือการนับธนบัตรที่เก็บรวบรวมได้จากสัมภาระของนักโทษ แล้วส่งไปให้บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของหน่วยเอสเอส ในกรุงเบอร์ลิน
เหล่าอัยการะบุว่า จำเลยทราบว่า นักโทษซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยิว และไม่น่าจะถูกส่งมาทำงานหนัก “ถูกสังหารทันทีที่พวกเขาไปถึงห้องรมแก๊สของค่ายเอาชวิทซ์”
ในเวลานี้ ศาลจะต้องตัดสินว่าจะดำเนินคดีจำเลยหรือไม่
เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่เยอรมันที่สืบสวนการก่ออาชญากรรมสงครามของพวกนาซี ได้ส่งแฟ้มสำนวนของอดีตเจ้าหน้าที่ค่ายเอาชวิทซ์ 30 คนไปให้อัยการ พร้อมทั้งแนะนำให้ตั้งข้อหาพวกเขา
ทั้งนี้ เบอร์ลินได้เริ่มนำตัวผู้กระทำผิดที่พัวพันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ที่ยังมีชีวิตอยู่มาดำเนินคดีอีกครั้ง หลังศาลมีคำตัดสินครั้งสำคัญออกมาเมื่อปี 2011
เป็นเวลานานกว่า 60 ปี ที่ศาลเยอรมันจะดำเนินคดีอาชญากรสงครามนาซี ก็ต่อเมื่อพบหลักฐานที่ชี้ชัดว่า พวกเขากระทำความชั่วร้าย โดยมีแรงจูงใจส่วนตัวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2011 ศาลมิวนิกได้ตัดสินจำคุก จอห์น เดมยานยุค เป็นเวลา 5 ปี จากการที่เขาสมรู้ร่วมคิดสังหารหมู่ชาวยิวในค่ายโซบิเบาะร์ ในช่วงที่เขาทำหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์ จนเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้ยามเฝ้าค่ายกักกันทุกถูกนำตัวมาดำเนินคดี
ประชากรที่ส่วนใหญ่เป็นชาวยิวในยุโรปถูกสังหารในค่ายกักกัน เอาชวิทซ์-เบียร์เคเนา ไปมากกว่า 1 ล้านคน โดยค่ายนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพนาซีตั้งแต่ปี 1940 จนกระทั่งได้รับการปลดปล่อยโดยกองกำลังรัสเซียเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1945