เอเอฟพี – บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของพวกเขารับหน้าที่พิจารณาการคว่ำบาตรรัสเซียระลอกใหม่ เมื่อพวกเขาประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ในวันพฤหัสบดี (29) ท่ามกลางกระแสจากความรุนแรงรอบล่าสุดในภาคตะวันออกของยูเครน
ในถ้อยแถลงร่วมที่มีขึ้นไม่บ่อยนักในวันนี้ (27) ผู้นำรัฐบาลต่างๆ ของอียู 28 ชาติแสดงความกังวลถึงสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นการสนับสนุนของรัสเซียที่มีให้กับกลุ่มกบฏโปรมอสโคว ซึ่งเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่ใกล้เมืองมาริอูโปล
“ด้วยมองเห็นถึงสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ลง เราขอให้สภากิจการต่างประเทศ (Foreign Affairs Council) ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ประเมินสถานการณ์ดังกล่าว และพิจารณาถึงการดำเนินการที่เหมาะสม โดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น” ถ้อยแถลง ระบุ
วัตถุประสงค์คือ “การบังคับใช้ข้อตกลงกรุงมินสค์อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์” ถ้อยแถลงระบุ โดยอ้างถึงแผนสันติภาพตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนที่ถูกเพิกเฉยอย่างเห็นได้ชัด
“เราแสดงความกังวลของเราในเรื่องสถานการณ์ด้านความมั่นคงและมนุษยธรรมที่เสื่อมโทรมลงในภาคตะวันออกของยูเครน เราประณามการสังหารพลเรือนระหว่างการยิงปืนใหญ่โดยไม่เจาะจงเป้าหมายในเมืองมาริอูโปลของยูเครนเมื่อวันที่ 24 มกราคม ปี2014” พวกเขากล่าวเสริม
“เราสังเกตเห็นถึงหลักฐานของการสนับสนุนที่ต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นที่รัสเซียมีให้กับกลุ่มแบกแยกดินแดน ซึ่งกำลังเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของรัสเซีย” ถ้อยแถลงระบุเสริม
บรรดาผู้นำอียูจะประเมินสถานการณ์ดังกล่าวที่การประชุมนัดต่อไปในกรุงบรัสเซลส์ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พวกเขาระบุ
ภายใต้การดำเนินงานของอียู รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจะมอบหมายงานให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของอียู ร่างมาตรการคว่ำบาตรใหม่ขึ้นมา ซึ่งหลังจากนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มผู้นำ
อียูบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรหลายระลอกนับตั้งแต่รัสเซียควบรวมแหลมไครเมียของยูเครนในเดือนมีนาคม และทำให้มาตรการเหล่านั้นเข้มงวดขึ้นอีกอย่างสำคัญ ภายหลังเกิดเหตุยิงเที่ยวบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สตกลงบริเวณภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อเดือนกรกฎาคม
หลังจากการโจมตีเมืองมาริอูโปลเมื่อวันเสาร์ (24) เฟเดอริกา โมเกรินี หัวหน้ากิจการต่างประเทศของอียูได้ประกาศการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยุโรปฉุกเฉินเพื่อวางแผนการตอบสนองของกลุ่มต่อความรุนแรงรอบล่าสุดนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โมเกรินี พบว่าตนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากแล้ว หลังจากแนะให้อียูควรใช้ท่าทีที่อ่อนลงกว่านี้กับกับรัสเซีย เป็นชนวนให้เกิดการการตอบสนองอย่างทันควันจากบรรดาผู้ที่เชื่อว่า มีแต่แนวทางแข็งกร้าวและไม่ประนีประยอมเท่านั้นที่จะทำให้มอสโควเปลี่ยนใจได้