เอเอฟพี – หนังสือพิมพ์เยอรมันฉบับวันนี้ (30 พ.ย.) รายงานว่า แม่ของผู้โดยสารเที่ยวบิน MH17 ของสายการบิน “มาเลเซียแอร์ไลน์ส” ได้เริ่มฟ้องร้องดำเนินคดีกับยูเครน ณ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โดยกล่าวหาว่า ยูเครนละเลยไม่สั่งปิดน่านฟ้าของประเทศ ซึ่งถือเป็นการมองข้ามความปลอดภัยของคนบริสุทธิ์เกือบ 300 ชีวิตบนอากาศยานโดยสารลำนี้
หนังสือพิมพ์บิลด์ รายงานว่า หญิงสาวชาวเยอรมันคนดังกล่าว ได้ยื่นฟ้องยูเครนต่อศาลในสทราซบูรก์ ฝรั่งเศส “เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว” เพื่อเรียกค่าเสียหาย 800,000 ยูโร (ราว 32.7 ล้านบาท) ในความผิดฐานประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เครื่องบินโบอิ้ง 777 เกิดระเบิดขณะบินเหนือภาคตะวันออกของยูเครน ที่ถูกกลุ่มกบฏยึดครอง เป็นผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 298 คนเสียชีวิตยกลำ โดยสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สระบุว่า เที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารชาวเนเธอร์แลนด์ 193 คน และชาวเยอรมัน 4 คน
ยูเครน และบรรดาชาติตะวันตกต่างกล่าวหาว่า กลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซียซึ่งกำลังเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธเทคโนโลยีชั้นสูงที่ผลิตในรัสเซีย ยิงอากาศยานลำนี้ตกลงมา ขณะที่มอสโกออกมาปฏิเสธว่า ไม่เคยจัดหาระบบขีปนาวุธต่อสู้อากาศยาน บุค SA-11 ให้แก่กบฏ
ตามรายงานข่าวของบิลด์ โจทก์ในคดีนี้ชี้ว่า ยูเครนควรปิดน่านฟ้าไม่ให้เที่ยวบินพาณิชย์ข้ามผ่าน ในช่วงเกิดเหตุสู้รบทางภาคตะวันออกของประเทศ
หญิงผู้ยื่นฟ้องชี้ว่า ที่ยูเครน เลือกที่จะไม่ประกาศปิดน่านฟ้า ก็เนื่องจากไม่ต้องการสูญเสียเงินรายได้ค่าเปิดทางให้อากาศยานบินผ่านประเทศ (Overflight fees)
บิลด์ให้ข้อมูลพิ่มเติมว่า คาดว่า ในแต่ละวันมีเที่ยวบินข้ามผ่านน่านฟ้ายูเครนประมาณ 700 เที่ยว ซึ่งทำรายได้ให้แก่ประเทศนี้เดือนละหลายล้านยูโร
ทนายความของโจทก์ในคดีนี้คือ เอลมาร์ กีมุลลา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายการบินชาวเยอรมัน
เมื่อเดือนกันยายน กีมุลลาประกาศจะเป็นตัวแทนของครอบครัวผู้โดยสารชาวเยอรมัน 3 รายบนเที่ยวบิน MH17
ในเวลานั้น กีมุลลา ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า “การเปิดน่านฟ้าให้อากาศยานต่างชาติบินผ่านได้ ย่อมหมายความว่าประเทศ (เจ้าของน่านฟ้า) สามารถรับประกันความปลอดภัยให้แก่เที่ยวบินที่ผ่านเข้ามา แต่หากประเทศนั้นๆ ไม่สามารถทำได้เป็นการชั่วคราวก็ต้องสั่งปิดน่านฟ้าไป ดังนั้นยูเครนจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น”
หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ บิลด์ อัม ซอนน์ทาก รายงานคำพูดของ กีมุลลาที่ระบุว่า การไม่สั่งปิดน่านฟ้าเท่ากับ ยูเครนได้ยอมรับว่า ชีวิตของผู้บริสุทธิ์เกือบ 300 คนจะถูก “ทำลาย” ซึ่งสิ่งที่ยูเครนทำเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน