เอเอฟพี - สหภาพแรงงานแดนเสือเหลืองระบุวันนี้ (13 พ.ย.) ว่าสายการบิน “มาเลเซียแอร์ไลน์ส” ได้สั่งปลดลูกเรือชายคนหนึ่ง โดยไม่มีการสอบสวน หลังจากเขาถูกกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดทางเพศผู้โดยสารที่เกิดอาการหวาดกลัวระหว่างร่วมเดินทางไปกับสายการบิน ซึ่งเผชิญหายนะสองครั้งซ้อนเจ้านี้
โมฮัมหมัด รอสลี บิน อับดุลการีม สจ๊วตมาเลยเซียแอร์ไลน์ส ถูกควบคุมตัวไว้ในศูนย์กักกัน ที่ท่าอากาศยานชาร์ลส์เดอโกล ในกรุงปารีสมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม หลังผู้โดยสารแจ้งเจ้าพนักงานฝรั่งเศสว่า เธอถูกเขาลวนลามบนเที่ยวบิน MH20 เส้นทางกัวลาลัมเปอร์ - ปารีส
คดีนี้คือความล้มเหลวครั้งล่าสุดของสายการบินประจำชาติมาเลเซีย ที่กำลังถูกปัญหารุมเร้า หลังเผชิญโศกนาฏกรรม 2 ครั้งซ้อนภายในปีเดียวกัน เมื่อเครื่องบินโดยสารลำหนึ่งหายสาบสูญไปนานกว่า 8 เดือน ส่วนอีกลำหนึ่งถูกขีปนาวุธสอยร่วง ระหว่างบินผ่านภาคตะวันออกของยูเครนที่ประสบเหตุสู้รบบ่อยครั้ง
อิสมาอิล นัสรุดดิน ประธานสหภาพลูกเรือแห่งชาติมาเลเซียกล่าวว่า สจ๊วตวัย 57 ปีคนนี้ได้รับหนังสือไล่ออกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ภายหลังเกิดเรื่องอื้อฉาวได้ 2 สัปดาห์
อิสมาอิล กล่าวกับเอเอฟพีว่า “สิ่งที่มาเลเซียแอร์ไลน์ส (MAS) ทำนั้นเป็นการละเมิดหลักความยุติธรรมโดยธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการสอบสวนลูกเรือที่ถูกคุมขังที่ปารีส”
เขาชี้ว่า “MAS ไล่ลูกเรือออกโดยฟังเพียงข้อกล่าวหา พวกเขาด่วนตัดสินว่าพนักงานตัวเองผิดก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม”
ผู้โดยสารชาวออสเตรเลียได้ร้องเรียนกรณีที่เกิดขึ้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หลังเครื่องบินร่อนลงจอดที่สนามบินชาร์ลส์เดอโกล ในกรุงปารีส พร้อมกับระบุว่า เธอบอกลูกเรือตั้งแต่เริ่มออกเดินทางว่า เธอรู้สึกกลัวที่จะต้องร่วมเดินทางกับสายการบินที่ประสบหายนะ 2 ครั้งซ้อน
แหล่งข่าวซึ่งมีความใกล้ชิดกับกระบวนการสอบสวนของฝรั่งเศสเผยว่า เธอให้การว่า สจ๊วตที่ถูกกล่าวหานั่งลงข้างๆ เธอ และลวนลามเธอโดยแสร้งทำทีเป็น “ปลอบโยน”
อิสมาอิล วิงวอนให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของแดนน้ำหอม อนุญาตให้ลูกเรือของมาเลเซียแอร์ไลน์สผู้นี้กลับบ้านทันที หากพบว่าหลักฐานไม่เพียงพอ เนื่องจากภรรยาและลูก 3 คนของเขามีสภาพจิตใจบอบช้ำอย่างรุนแรง และกำลังประสบปัญหาการเงิน
สายการบินเจ้านี้ยืนยันในคำแถลงว่า สมาชิกลูกเรือคนนี้ไมใช่ลูกจ้างของสายการบินอีกต่อไป แต่ไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ มากไปกว่านี้
สายการบินระบุว่า “มาเลเซียแอร์ไลน์สไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่ยังอยู่ในขอบเขตอำนาจศาล”
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สได้สูญหายไปอย่างปริศนาพร้อมกับลูกเรือและผู้โดยสาร 239 ชีวิต ระหว่างออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไปยังกรุงปักกิ่ง แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีวี่แววใดๆ ทำให้สายการบินนี้ถูกรุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อวิธีการรับมือกับวิกฤตครั้งนั้น
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม เที่ยวบิน MH17 ก็ถูกยิงตกในยูเครน ส่งผลให้ลูกเรือและผู้โดยสารเสียชีวิตยกลำทั้ง 298 คน
หลังเผชิญเหตุสลดสองครั้งสองครา สายการบินเจ้านี้ก็ทุกข์ทนกับสภาวะระส่ำระสายทางการเงิน
กองทุนรัฐบาลมาเลเซีย “คาซานาห์ แนชันแนล” (Khazanah Nasional) ซึ่งเดิมทีถือหุ้นของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส 70 เปอร์เซ็นต์ ได้เข้าซื้อกิจการ ด้วยการขอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดได้สำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นฟูกำไรให้แก่กิจการ