เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ประกาศว่า ชาร์ลี เอ็บโด “คืนชีพ” ภายหลังนิตยสารแนวเสียดสีฉบับพิเศษที่ใช้ชื่อว่า “ผู้รอดชีวิต” สามารถขายหมดเกลี้ยวในพริบตา เป็นการตอกย้ำกระแสการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชาวมุสลิมจำนวนมากทั่วโลกต่างแสดงความไม่พอใจที่นิตยสารฉบับนี้ยังคงแสดงการท้าทายดูหมิ่นด้วยการใช้ภาพล้อศาสนามูฮัมหมัดเป็นภาพปก ขณะที่โป๊ปฟรานซิสของคริสต์จักรคาทอลิก ก็ตรัสติงในวันพฤหัสบดี (15 ม.ค.) ว่า เสรีภาพนั้นย่อมมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเมื่อเป็นการดูหมิ่นหรือเยาะเย้ยศรัทธาความเชื่อของผู้อื่น
“ชาร์ลี เอ็บโด ฟื้นคืนชีพและจะดำรงอยู่ต่อไป” ประธานาธิบดี ออลลองด์ ประกาศเมื่อวันพุธ (14) หลังจากชาวปารีสและชาวฝรั่งเศสในเมืองอื่นๆ พากันเข้าคิวยาวเหยียดรอซื้อนิตยสารชาร์ลี เอ็บโด ฉบับพิเศษ ที่ยังคงเอกลักษณ์ในการวิพากษ์เชิงเสียดสีครบถ้วน เริ่มตั้งแต่หน้าปกที่เป็นภาพการ์ตูนศาสดาโมฮัมหมัดถือป้าย “ฉันคือชาร์ลี” พร้อมข้อความพาดหัว “ให้อภัยหมดแล้ว”
ชาร์ลี เอ็บโด ฉบับแรกที่จัดทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุสังหารหมู่สำนักงานของนิตยสารฉบับนี้ ปรากฏว่าล็อตแรกจำนวน 700,000 ฉบับขายหมดภายในไม่กี่นาทีหลังวางแผง สำนักพิมพ์ตั้งเป้าตีพิมพ์ทั้งหมด 5 ล้านฉบับเพื่อวางจำหน่ายทั่วโลกตามเสียงเรียกร้อง โดยจะมีทั้งเวอร์ชันภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน อิตาลี อาหรับ และ ตุรกี เพื่อนำรายได้มอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต
ชาร์ลี เอ็บโด ที่ก่อนหน้านี้มียอดตีพิมพ์เพียง 60,000 ฉบับ และเดือนที่แล้วมีเงินไม่พอจ่ายเงินเดือนพนักงาน ได้รับการคาดหมายว่า จะระดมทุนได้ถึง 10 ล้านยูโรจากยอดขายฉบับพิเศษและเงินบริจาค
“คุณฆ่าคนได้ แต่ฆ่าความคิดของพวกเขาไม่ได้” ออลลองด์สำทับ
กรณีมือปืนอิสลามิสต์หัวรุนแรงรวม 3 คน ก่อเหตุกราดยิงสังหารหมู่กองบรรณาธิการของชาร์ลี เอ็บโด ในกรุงปารีส ติดตามด้วยการยิงทิ้งตำรวจหญิง และการโจมตีซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวยิว ซึ่งได้สังหารเหยื่อไปทั้งสิ้น 17 คนในสัปดาห์ที่แล้ว ได้กระตุ้นให้ผู้คนในฝรั่งเศสและทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11) ประชาชนหลายล้านคนทั่วฝรั่งเศส โดยเฉพาะในปารีส ได้จัดการเดินขบวนเพื่อแสดงการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และให้กำลังใจเหยื่อของการโจมตี ขณะที่อัยการฝรั่งเศสภายใต้คำสั่งของรัฐบาลที่ให้เร่งปราบปรามอาชญากรรมซึ่งเกิดจากความเกลียดชัง ก็สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่เลื่อมใสในลัทธิก่อการร้ายและขู่โจมตีได้กว่า 50 คดีนับจากเหตุสังหารหมู่ชาร์ลี เอ็บโด
ทางด้าน นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ และประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ร่วมเขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทมส์ของลอนดอนฉบับวันพฤหัสบดี ประกาศผนึกกำลังต่อสู้กับกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรง ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสที่คาเมรอนเดินทางมาหารือกับโอบามา
นอกจากนี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังมีกำหนดเข้าพบออลลองด์ที่ปารีส เพื่อเสนอความช่วยเหลือในการต่อสู้กลุ่มก่อการร้ายให้แก่ฝรั่งเศส
ในอีกด้านหนึ่ง นัสเซอร์ บิน อาลี อัล-อันซี สมาชิกสำคัญของกลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาหรับ (AQAP) ซึ่งตั้งฐานสำคัญอยู่ในเยเมน ได้ประกาศผ่านคลิปที่เผยแพร่เมื่อวันพุธว่า AQAP เป็นผู้รับผิดชอบการโจมตีในปารีสเพื่อเป็นการล้างแค้นการ์ตูนล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดของชาร์ลี เอ็บโด ทั้งนี้ตามการสั่งการของอัยมาน อัล-ซอวาฮิรี ผู้นำของอัลกออิดะห์ทั่วโลก
ขณะที่ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะในโลกตะวันตก แสดงการให้กำลังใจ “ชาร์ลี เอ็บโด” ก็มีชาวมุสลิมจำนวนมากแสดงความไม่พอใจหน้าปกชาร์ลี เอ็บโดฉบับพิเศษ โดยมีการชุมนุมประท้วงในปากีสถาน ตุรกี ฟิลิปปินส์ และมอริตาเนีย
วันพฤหัสบดี กลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถาน ออกมาประณามนิตยสารดังกล่าว พร้อมยกย่องมือปืนที่ก่อเหตุในปารีส
ขณะที่ จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านวิจารณ์ว่า การเจรจากับตะวันตกจะง่ายขึ้น หากตะวันตกเคารพประเด็นอ่อนไหวของชาวมุสลิม
นายกรัฐมนตรี อาเหม็ต ดาวูโตกลู ของตุรกี แถลงในวันพฤหัสบดีโดยพูดถึงหน้าปกฉบับล่าสุดของชาร์ลี เอ็บโด ว่า เป็น “การยั่วยุอย่างร้ายแรง” และชี้ว่า “เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ไม่ได้หมายรวมถึงเสรีภาพในการเหยียดหยามดูหมิ่นผู้อื่น”
โป๊ปยืนยัน 'เสรีภาพ' ต้องไม่หมิ่นศรัทธาคนอื่น
ทางด้านพระสันตปาปาฟรานซิส ประมุขคริสต์จักรคาทอลิก ได้ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่บนเครื่องบินซึ่งนำพระองค์เดินทางจากศรีลังกาไปยังฟิลิปปินส์ในวันพฤหัสบดี โดยตรัสว่า ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่เพียงเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังเป็นหน้าที่ของทุกๆ คงที่จะต้องพูดสิ่งที่คิดเห็นออกมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย
อย่างไรก็ดี พระองค์ตรัสต่อไปว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่เป็นเสรีภาพเพื่อการดูหมิ่นเหยียดหยามหรือเยาะเย้ยศรัทธาความเชื่อของคนอื่นๆ
ทั้งนี้ โป๊ปทรงยกตัวอย่างโดยทรงกล่าวถึง อัลแบร์โต กัสปาร์รี ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่จัดกำหนดการเดินทางต่างๆ ให้แก่พระองค์ และเขาก็กำลังยืนอยู่ข้างๆ พระองค์ในขณะนั้น
“ถ้าหากเพื่อนผู้แสนดีของผม ดร.กัสปาร์รีผู้นี้ เกิดพูดคำสาปแช่งคุณแม่ของผมออกมา เขาก็สามารถคาดหมายได้เลยว่าจะต้องถูกต่อยสักหมัดนึง” พระสันตปาปาฟรานซิสตรัส พร้อมกับทรงเหวี่ยงหมัดเป็นการสัพยอก “มันเป็นเรื่องปกติ คุณไม่สามารถยั่วยุคนอื่นไปเรื่อยได้ คุณไม่สามารถเหยียดหยามศรัทธาความเชื่อของคนอื่นๆ คุณไม่สามารถหัวเราะเยาะเย้ยศรัทธาความเชื่อของคนอื่นๆ ได้”
คำแถลงของประมุขคริสต์จักรคาทอลิกคราวนี้ เป็นท่าทีเดียวกันกับที่สำนักวาติกันของพระองค์และอิหม่ามผู้สอนศาสนาอิสลามชาวฝรั่งเศสคนสำคัญจำนวน 4 คน ได้ร่วมกันออกคำแถลงร่วมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหากล่าวประณามการก่อเหตุโจมตีสังหารหมู่ในฝรั่งเศส และขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้สื่อมวลชนปฏิบัติต่อศาสนาต่างๆ ด้วยความเคารพ
พระสันตปาปาฟรานซิสตรัสแสดงความเห็นบนเครื่องบินพระที่นั่งคราวนี้ เมื่อมีนักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งทูลถามว่าเมื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกิดเผชิญหน้ากับเสรีภาพทางศาสนาแล้ว จะมีข้อจำกัดอย่างไรหรือไม่ ปรากฏว่าพระองค์ซึ่งได้ทรงเรียกร้องเรื่อยมาให้บรรดาผู้นำชาวมุสลิมควรต้องออกมาแถลงอย่างชัดเจนว่าคัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดอิสลามแบบสุดโต่ง ได้ทรงย้ำยืนยันอีกครั้งว่า การเข่นฆ่าโดยอ้างพระนามของพระเจ้านั้นเป็น “การกระทำที่วิปริต” เพราะไม่มีทางเลยที่จะอ้างศาสนามาเป็นเหตุผลความชอบธรรมสำหรับการใช้ความรุนแรง
แต่พระองค์ก็ตรัสย้ำว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นมีข้อจำกัด เมื่อกลายเป็นการล่วงละเมิดความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่น
“เวลานี้มีคนมากมายเหลือเกินที่พูดอะไรซึ่งเลวร้ายเกี่ยวกับศาสนาหรือเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ ที่พูดหัวเราะเยาะศาสนาหรือศาสนาอื่นๆ ที่เล่นเกมทำตลกเกี่ยวกับศาสนาของคนอื่นๆ” โป๊ปฟรานซิสตรัส “พวกเขาเป็นพวกยั่วยุทำให้ผู้อื่นกระทำผิด และสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาก็จะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ ดร.กัสปาร์รี ถ้าหากเขาพูดสาปแช่งคุณแม่ของผม มันมีข้อจำกัดนะ”