xs
xsm
sm
md
lg

อินโดฯเริ่มสืบสวนหาต้นตอQZ8501ดิ่งทะเล พุ่งเป้าไต่ความสูงหนีพายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - แหล่งข่าวใกล้ชิดเผยทีมสืบสวนเหตุเครื่องบินสายการบินแอร์เอเชียดิ่งลงสู่ทะเลนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย พุ่งเป้าไปที่ช่วงเวลาที่กัปตันร้องขอไต่ระดับความสูงหนีสภาพอากาศอันเลวร้าย ในความเป็นไปได้ที่มันจะเป็นปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมครั้งนี้

ในขณะที่เรือและอากาศยานของอินโดนีเซียเข้าเก็บศพผู้เสียชีวิตและซากหักพังของเที่ยวบิน QZ8501 ปฏิบัติการสืบสวนหาต้นตอที่ทำให้เครื่องบินซึ่งบรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 162 คน สูญหายไปจากจอเรดาร์ เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

หนึ่งในกรอบการสืบสวนขั้นต้นก็คือนักบินได้ร้องขอไต่ระดับขึ้นไป หรือเริ่มไต่ระดับความสูงขึ้นไปเองในกรณีที่เจอเหตุฉุกเฉิน และพายุในพื้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรในโศกนาฏกรรมครั้งนี้

"เรารู้ว่าในพื้นที่สภาพอากาศเลวร้าย มีพายุ" เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามกล่าว "ทำไมเขา(นักบิน) ถึงร้องขอไต่ระดับในขั้นนั้น เขาควรไต่ระดับก่อนหน้านั้นหรือไม่ มีเครื่องบินลำอื่นบินอยู่ในระดับที่สูงกว่าในพื้นที่ดังกล่าวหรือเปล่า สองนักบินมีปฏิกิริยาอย่างไรกับสภาพอากาศ เรากำลังตั้งคำถามเหล่านั้น"

คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติอินโดนีเซีย(เอ็นทีเอสซี) จะเป็นผู้นำการสืบสวนสาต้นตอของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินแอร์บัสเอ320ลำนี้ และมีจะมีตัวแทนจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและอังกฤษเข้าร่วมด้วย

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าได้มีการรวบรวมหลักฐานต่างๆอย่างเช่นข้อมูลเรดาร์ รายงานสภาพอากาศ และการสื่อสารระหว่างนักบินกับหอบงคับการบินแล้ว และตอนนี้กำลังดำเนินการศึกษา อย่างไรก็ตามด้วยที่ยังหากล่องบันทึกการบิน"กล่องดำ"ไม่พบ จึงเร็วเกินไปที่จะสรุปถึงต้นตอของโศกนาฏกรรม

สื่อในอินโดนีเซียเปิดเผยว่า บรรดาเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมงาน ต่างก็บอกว่า กัปตันอิริยันโต วัย 53 ปี ที่ควบคุมเครื่องบินแอร์เอเชียเป็นหนึ่งในนักบินเครื่องบินรบฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ก่อนที่จะลาออกจากกองทัพเพื่อมาเป็นนักบินสายการบินพาณิชย์

อิริยันโต เริ่มต้นอาชีพนักบิน ด้วยการบินเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 และ F-16 หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนนักบินกองทัพอากาศ Adi Sucipto ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตนักบินชั้นดีให้กับกองทัพเมื่อ 21 ปีก่อน ซึ่งอดีตครูฝึกของเขาบอกว่าอิริยันโต เป็นหนึ่งในนักเรียนที่เก่งที่สุด

ในช่วงกลางยุค 90 เขาลาออกจากกองทัพ และมาขับเครื่องบินให้สายการบินอดัมแอร์ แต่สายการบินก็ปิดตัวลงไปในปี 2008 หลังเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง จากนั้นเขาก็ไปขับเครื่องให้กับ เมอร์ปาตีแอร์ไลน์ส ก่อนจะมาอยู่กับแอร์เอเชีย เมื่อราวๆ 3 ปีก่อน
ทางการอินโดนีเซียเริ่มดำเนินการสืบสวนหาสาเหตุโศกนาฏกรรมเที่ยวบินQZ8501
นายโทนี เฟอร์นานเดซ ประธานสายการบินแอร์เอเชีย บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดเดาต้นตอของอุบัติเหตุครั้งนี้ "ผมมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในตัวลูกเรือ" เขาบอกกับผู้สื่อข่าวที่สุราบายา "นักบินของเราเป็นผู้มากประสบการณ์ ด้วยชั่วโมงบินกว่า 20,000 ชั่วโมง เขามาจากกองทัพอากาศ และเป็นหนึ่งในผู้สำเร็จการศึกษาที่ดีที่สุดของพวกเขา เขามาจากสุราบายา ดังนั้นเขาจึงรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี" ทั้งนี้ผู้ช่วยนักบินได้แก่นายเรมี เพลเซล ชาวฝรั่งเศส

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย ระบุว่า ณ เวลา 6.12 น.ของวันอาทิตย์(28ธ.ค.) หรือ 36 นาทีหลังขึ้นบินจากท่าอากาศยานฮวนดาของสุราบายา นักบินของเที่ยวบิน QZ8501 ที่มุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ ร้องขออนุญาตจากหอบังคับการบินจาการ์ตา ไต่ระดับขึ้นไป 6,000 ฟุตสู่ความสูง 38,000 ฟุต และเบี่ยงออกซ้ายเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศอันเลวร้าย

2 นาทีต่อมา จาการ์ตาตอบสนองต่อคำขอของเที่ยวบิน QZ8501 ด้วยบอกให้เครื่องบินลำนี้ไปทางซ้าย 7 ไมล์(ราว 11 กิโลเมตร) และไต่ระดับสูงความสูง 34,000 ฟุต แต่ไม่มีเสียงขานรับใดๆจากนักบิน ทั้งนี้เรดาร์ของหอบังคับการบินสามารถจับความเคลื่อนไหวของเครื่องบินได้อีกราวๆ 3 นาทีหลังจากนั้น ก่อนที่มันจะสูญหายไปตอนเวลา 6.18 น.

จากข้อมูลของ flightradar24.com เว็บไซต์ ติดตามเที่ยวบินพบว่ามีเครื่องบินลำอื่นกำลังบินที่ระดับความสูงระหว่าง 34,000 ฟุตถึง 39,000 ฟุต ก่อนที่เที่ยวบิน QZ8501 จะสูญหายไป

แหล่งข่าวอีกคนเผยว่าทีมสืบสวนกำลังศึกษากรณีเที่ยวบิน AF447 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ประสบอุบัติเหตุเมื่อปี 2009 เพื่อเป็นแนวทางในการหาเงื่อนงำพิสูจน์ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชียเมื่อวันอาทิตย์(28ธ.ค.)

ผลการสืบสวนโศฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินแอร์บัส330 พบว่านักบินที่ 2 อ่านค่าความเร็วอากาศผิดพลาด สืบเนื่องจากเซ็นเซอร์วัดความเร็วอากาศถูกน้ำแข็งเกาะ และปฏิกิริยาที่ตื่นตระหนกของนักบินก็ทำให้เครื่องบินหยุดทำงาน ส่งผลให้มันดิ่งลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก

"อุบัติเหตุทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่เหมือนกัน แต่มันเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมเหมือนกันหลายๆอย่าง อย่างเช่นสภาพอากาศ และเราต้องศึกษาอย่างใกล้ชิด" แหล่งข่าวคนที่ 2 ระบุ

นักบินของสายการบินแควนตัส แอร์เวย์สคนหนึ่ง ซึ่งมีประสบการณ์การบินในภูมิภาคนานถึง 25 ปี ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่นักบินจะดึงเครื่องบินเพื่อให้พ้นจากกลุ่มเมฆ "แต่ สมรรถภาพของเครื่องบินจะสัมพันธ์โดยตรงกับอุณหภูมิด้านนอกและการเพิ่มระดับความสูงอาจนำให้มีน้ำแข็งเกาะบนจอแสดงผล ส่งผลให้นักบินอ่านค่าผิดพลาด" นักบินผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามกล่าว

เขาบอกต่อว่าความผิดพลาดดังกล่าวก่อผลลัพธ์ที่อันตราย เพราะมันจะทำให้นักบินดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องในการควบคุมเครื่องบิน อย่างเช่นเชิดหัวขึ้น และเหตุฉุกเฉินลัษณะนี้เป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมนักบินถึงไม่มีเวลาส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้าย

ทั้งนี้เขาให้ความเห็นต่อว่าเมื่อนักบินถูกสถานการณ์บีบคั้น คำนวณสถานการณ์และทางเลือกต่างๆไม่ออก พวกเขาก็จะทำตามสิ่งที่เห็นอยู่ภายในห้องควบคุมการบินเท่านั้น และโชคร้ายที่มันอาจเป็นสิ่งที่ผิดพลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น