xs
xsm
sm
md
lg

“ปูติน” ยันไม่ยอมแพ้ เล็งตอบโต้ตะวันตก แม้มีสารพัดปัจจัยรุมขย้ำ ศก.รัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศในวันเสาร์ (20 ธ.ค.) ว่า รัสเซียจะไม่ยอมจำนนต่อการถูกข่มขู่ ขณะเดียวกับที่กระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาวก็เตือนว่ากำลังเตรียมการเพื่อตอบโต้โลกตะวันตกที่ประกาศใช้มาตรการแซงก์ชั่นรอบใหม่ โดยอ้างเหตุไม่พอใจการกระทำของมอสโกในแหลมไครเมียและยูเครน ทางด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้ค่าเงินรูเบิลเริ่มฟื้นตัวหลังตกฮวบ แต่ปัญหาเศรษฐกิจรัสเซียยังถือว่าสาหัส และปีหน้าคงเจอภาวะถดถอยรุนแรง อย่างไรก็ดี สถานการณ์ยังไม่หนักหนาร้ายแรงเหมือนคราววิกฤตเศรษฐกิจปี 1998
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย (ขวา) และเซียเกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหม เป็นประธานในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพรัสเซีย โดยมีแผนที่ของสาธารณรัฐไครเมีย ที่ถูกแดนหมีขาวผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ปรากฏอยู่เบื้องหลังของทั้งสอง (19 ธ.ค.)
ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ ต่างประกาศมาตรการแซงก์ชันรอบใหม่ โดยเน้นที่การจำกัดการลงทุนในไครเมีย แต่มีแคนาดาซึ่งเพิ่มมาตรการลงโทษโดยตรงต่อมอสโกด้วย

ทว่าประธานาธิบดีปูติน ยังคงยืนกรานถึงความถูกต้องชอบธรรมในการผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากชาวไครเมีย “ลงประชามติ” แยกตัวออกจากยูเครน ตลอดจนการที่มอสโกแสดงความสนับสนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก

ในงานคอนเสิร์ตเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของรัสเซียเมื่อวันเสาร์ (20) ปูตินได้ปราศรัยย้ำว่า ไม่มีใครสามารถข่มขู่รัสเซียให้ยอมจำนน หรือคิดที่จะโดดเดี่ยวรัสเซียได้สำเร็จ

นอกจากนั้น วังเครมลินยังได้เผยแพร่สารฉบับหนึ่งของปูติน ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้หน่วยข่าวกรองรัสเซียยกระดับการปฏิบัติการ เพื่อรับมือความท้าทายและภัยคุกคามใหม่ๆ ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศ และระบุว่าหน้าที่สำคัญของหน่วยข่าวกรองคือ ต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และความพยายามของหน่วยข่าวกรองต่างชาติในการก่อกวนผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซีย

วันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า มาตรการแซงก์ชันใหม่ของตะวันตกถือเป็นการสมคบคิดกันในระหว่างประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็น ผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อลงโทษชาวไครเมียที่กล้าลงมติขอผนวกรวมกับรัสเซีย

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชวิช โฆษกกระทรวงเสริมว่า มาตรการลงโทษเหล่านั้นบ่อนทำคลายความพยายามทางการเมืองในการแก้ไขวิกฤตในยุโรปตะวันออก และว่า รัสเซียกำลังเตรียมการเพื่อตอบโต้เพิ่มเติม หลังจากได้ระงับการนำเข้าอาหารจากฝ่ายตะวันตกก่อนหน้านี้

มาตรการลงโทษของฝ่ายตะวันตก บวกกับภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ กำลังขย้ำเศรษฐกิจรัสเซียอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ค่าเงินรูเบิลตกฮวบฮาบ
ประชาชนเดินผ่านชาร์ตแสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเบิล
หลังจากรูเบิลหล่นไปเกือบ 10% เมื่อวันจันทร์ (15) แบงก์ชาติแดนหมีขาวเข้าแทรกแซงตลาดครั้งมโหฬาร และกลางดึกคืนนั้นยังประกาศขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 6.5% เป็น 17% แต่กลับไม่สามารถหยุดยั้งความตื่นตระหนกได้ รูเบิลยังคงตกต่ออีก 20% ในวันอังคาร (16)

ปูตินประกาศระหว่างการแถลงข่าวส่งท้ายปีในวันพฤหัสบดี (18) ว่า เศรษฐกิจรัสเซียฟื้นได้แน่นอน แต่ก็อาจต้องใช้เวลา 2 ปี พร้อมกับบอกว่าแดนหมีขาวต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจของตนพึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซให้น้อยลง

เมื่อถึงช่วงสิ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รูเบิลสามารถดีดกลับมาอยู่แถวๆ 60 รูเบิลต่อดอลลาร์ หลังจากอ่อนยวบเหลือเชื่ออยู่ที่ 80 รูเบิลตอนต้นสัปดาห์ คริส วีเฟอร์ นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษา มาโคร แอดไวเซอรี ชี้ว่า เศรษฐกิจรัสเซียในช่วง 6 เดือนต่อไปจะเลวร้ายลงกว่านี้มาก เนื่องจากความเชื่อมั่นในค่าเงิน ธนาคารกลาง และทิศทางเศรษฐกิจสั่นคลอนอย่างหนัก

วีเฟอร์ขยายความว่า การบริโภคและการลงทุนกำลังจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยอันสูงลิ่ว โดยที่อัตราเงินเฟ้อซึ่งขณะนี้เฉียดๆ ระดับ 10% อยู่แล้ว จะพุ่งขึ้นเป็น 15% ในไม่ช้าจากการอ่อนค่าของรูเบิล จึงยิ่งส่งผลให้กำลังซื้อของชาวรัสเซียลดลง ขณะที่รายได้ที่แท้จริงดิ่งลงตั้งแต่ช่วง 11 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับปี 2013

สัญญาณเตือนภัยยังรวมถึงการที่ซัปพลายเออร์หลายรายระงับการจัดส่งสินค้าเพื่อรอจังหวะขึ้นราคา ห้างร้านบางแห่งระงับการให้บริการชั่วคราว เป็นต้นว่า แอปเปิลที่ชะลอการขายออนไลน์ให้ลูกค้าแดนหมีขาว ขณะที่ห้างอีเกียระงับการขายชั่วคราวและเตือนว่า ราคาบนเว็บไซต์อาจต่างจากราคาจริงในห้าง โอเปิลและเชฟโรเล็ตหยุดจัดส่งรถให้ตัวแทนจำหน่ายในรัสเซีย
ชาวรัสเซียเข้าแถวรอรับสินค้า ณ จุดจำหน่ายในร้านอินเทอร์เน็ตแห่งหนึ่ง ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย เมื่อวันศุกร์ (19 ธ.ค.)
สื่อรัสเซียรายงานว่า ห้างที่ขายสินค้านำเข้ากำลังพยายามหาทางหลีกเลี่ยงการขาดทุน และผู้สังเกตการณ์บางคนทำนายว่า สินค้าตะวันตกหลายแบรนด์อาจหายไปจากรัสเซียในไม่ช้า

แม้แต่ธนาคารกลางรัสเซียยังคาดว่า เศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงเกือบ 5% ในปีหน้า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปักหลักอยู่ในระดับปัจจุบัน

วิลเลียม แจ็กสัน นักเศรษฐศาสตร์ตลาดเกิดใหม่ของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ชี้ว่า สถานการณ์เคลื่อนไหวเร็วมาก และมีสัญญาณชัดเจนขึ้นว่า วิกฤตค่าเงินลุกลามไปยังภาคการธนาคารของรัสเซียที่เดิมทีมีปัญหาอยู่แล้วจากมาตรการแซงก์ชั่นของโลกตะวันตก จนทำให้พวกเขาไม่สามารถไประดมทุนในตลาดตะวันตกได้

วันอังคารที่ผ่านมา แบงก์ชาติรัสเซียประกาศมาตรการเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงสภาพคล่องและผ่อนคลายมาตรฐานการบัญชี ต่อมาในวันศุกร์ (19) รัฐสภาหมีขาวอนุมัติร่างกฎหมายช่วยเหลือการเพิ่มทุนของพวกธนาคารมูลค่า 1 ล้านล้านรูเบิล (16,000 ล้านดอลลาร์) และกระทรวงการคลังหวังว่า เงินทุนในภาคการธนาคารจะเพิ่มขึ้น 13% ส่วนปริมาณการปล่อยสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 15%

อย่างไรก็ดี วีเฟอร์สำทับว่า สถานการณ์ของรัสเซียในขณะนี้ยังไม่เลวร้ายเท่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1998 ที่รัสเซียอยู่ในสภาพล้มละลาย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมอสโกยังมีทุนสำรองเงินตราสกุลหลักก้อนใหญ่จากการส่งออกน้ำมันราคาแพงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยแบงก์ชาติยังมีทุนสำรองอยู่ราว 400,000 ล้านดอลลาร์ ภายหลังเข้าแทรกแซงเพื่ออุ้มรูเบิลในระยะที่ผ่านมา ขณะที่หนี้สินภาคสาธารณะของรัสเซียอยู่ที่กว่า 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจเท่านั้น งบประมาณยังอยู่ในภาวะสมดุล และรัฐบาลยังมีกองทุนสำหรับภาวะฉุกเฉินที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้อีกจำนวนมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น