เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศตอกย้ำความมั่นใจต่อประชาชนในวันพฤหัสบดี (18 ธ.ค.) ว่า เศรษฐกิจแดนหมีขาวและค่าเงินรูเบิลจะฟื้นคืนสู่เสถียรภาพแน่นอน โดยอย่างมากที่สุดอาจใช้เวลา 2 ปี หากปัจจัยภายนอกไม่เอื้ออำนวย พร้อมกับชี้ว่ามาตรการแซงก์ชันของตะวันตกเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ปลุกปั่นให้รัสเซียเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เขายืนยันหนักแน่นว่าไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่องยูเครนอย่างเด็ดขาด
ในการแถลงข่าวประจำปีถ่ายทอดสดทางทีวีทั่วประเทศเมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งมีผู้สื่อข่าวเข้าร่วมหลายร้อยคน และใช้เวลาถามตอบอย่างยาวเหยียดกว่า 3 ชั่วโมง ประธานาธิบดีปูติน ระบุว่า มาตรการแซงก์ชันลงโทษของตะวันตกเป็นปัจจัยหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตเศรษฐกิจรัสเซียในเวลานี้ โดยที่ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งได้แก่การที่รัสเซียยังคงล้มเหลวไม่สามารถปรับตัวให้พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซลดน้อยลงได้ ทั้งนี้ เขาประมาณการว่าการแซงก์ชันเป็นตัวสร้างปัญหาให้เงินรูเบิลตกฮวบราว 25-30%
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าถึงแม้เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาอันมืดมน แต่ก็จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงจุดยืนของเขาในเรื่องยูเครน พร้อมกับกล่าวหาว่าฝ่ายตะวันตกกำลังประพฤติตนเป็น “จักรวรรดิ” และกระทั่งเปรียบเทียบรัสเซียว่าเป็นหมีที่กำลังถูกโจมตีและต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด
เขากล่าวหาว่าตะวันตกพยายามละเมิดอธิปไตยของรัสเซีย และการที่ตะวันตกพุ่งเป้าเล่นงานรัสเซียนั้น ไม่ใช่เพราะแดนหมีขาวประกาศผนวกแหลมไครเมียรวมทั้งสนับสนุนพวกกบฎในยูเครนตะวันออก หากแต่เป็นเพราะรัสเซียกล้า “แสดงความปรารถนาที่จะอยู่รอดในฐานะที่เป็นประชาชาติๆ หนึ่ง เป็นอารยธรรมๆ หนึ่ง และเป็นรัฐๆ หนึ่ง”
กระนั้น ผู้นำแดนหมีขาวมองแง่ดีว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันอาจเป็นแรงจูงใจให้รัสเซียเริ่มแตกแขนงเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพิงรายได้จากน้ำมันและก๊าซอย่างที่ควรทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้
ประมุขเครมลินสำทับว่า รัสเซียมีเงินตราสำรองสกุลเงินต่างประเทศมากพอปกป้องเศรษฐกิจ และธนาคารกลางไม่ควร “ผลาญ” ทุนสำรองที่ขณะนี้อยู่ที่ 419,000 ล้านดอลลาร์อย่างไร้เป้าหมาย
นอกจากนั้น รัฐบาลยังจำเป็นต้องร่วมมือกับผู้ส่งออก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่กักตุนรายได้ที่เป็นสกุลเงินหลัก เพื่อช่วยกันฟื้นเสถียรภาพรูเบิล
ปูตินย้ำว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะสามารถฝ่าฟันสถานการณ์ปัจจุบันไปได้ โดยอย่างมากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย อาจต้องใช้เวลา 2 ปี และรัสเซียอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนการบางอย่าง รวมทั้งตัดลดการใช้จ่ายบางส่วน
ค่าเงินรูเบิลในวันพฤหัสบดี กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ก่อนอ่อนลงอีกครั้งประมาณ 1.5% อยู่ที่ 61 รูเบิลต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ตลาดรัสเซียซวนเซหนักจากมาตรการลงโทษของตะวันตก รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ดิ่งลงรุนแรง โดยเงินรูเบิลลดค่าลงเกือบ 50% นับจากต้นปี ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16) ตกลงวันเดียว 24% อยู่ที่ 80 รูเบิลต่อดอลลาร์ ทั้งที่ธนาคารกลางรัสเซียประกาศขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียวจาก 10.5% เป็น 17% ในคืนวันจันทร์ (15)
ทางด้าน อเล็กเซย์ อัลยูคาเยฟ รัฐมนตรีเศรษฐกิจรัสเซีย ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในวันพุธว่า มาตรการลงโทษของตะวันตกมีแนวโน้มคงอยู่ไปอีกนาน และรัสเซียต้องจ่ายราคาแพงจากความล้มเหลวในการดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และเรียกสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็น “พายุใหญ่”
ขณะที่ อดีตนายกรัฐมนตรีมิคาอิล คัสยานอฟ คู่แข่งทางการเมืองของปูติน วิจารณ์ว่า วิกฤตการณ์ปัจจุบันฟ้องว่า ปูตินบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด และควรจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีเพื่อยุติการครองอำนาจยาวนานเกือบ 15 ปีอย่างเงียบๆ
อย่างไรก็ตาม แทนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะบ่อนทำลายอำนาจของปูติน อย่างที่ศัตรูของเขารวมถึงตะวันตกคิด กลับกลายเป็นว่า ชาวรัสเซียมองว่า ปูตินคือผู้ปกป้องประเทศชาติ มากกว่าเป็นตัวการปัญหา
ผลสำรวจที่สำนักข่าวเอพีจัดทำร่วมกับเพรส-นอร์ก เซนเตอร์ ฟอร์ พับลิก แอฟแฟร์ รีเสิร์ช และเผยแพร่ออกมาในวันพฤหัสบดี พบว่า ชาวรัสเซียถึง 81% เห็นด้วยอย่างมากหรือค่อนข้างเห็นด้วยกับวิธีการบริหารประเทศของปูติน เพิ่มขึ้นจากกว่า 20% ในการสำรวจของเอพี-จีเอฟเคเมื่อปี 2012
เอพีระบุว่า มุมมองของประชาชนต่อผู้นำเชื่อมโยงกับข่าวสารที่ทางการเป็นผู้เผยแพร่ กล่าวคือ ผู้ที่ระบุว่า ดูข่าวจากสถานีทีวีของรัฐมีแนวโน้มสนับสนุนปูตินมากกว่าผู้ที่เสพข่าวจากแหล่งอื่น (84% ต่อ 73%)
นอกจากนั้น ชาวรัสเซียยังมองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากมาตรการลงโทษของตะวันตก จึงยิ่งฝากความหวังในตัวประธานาธิบดีและกองทัพ โดยผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 4 เชื่อมั่นในตัวประธานาธิบดี และ 2 ใน 3 ศรัทธาในกองทัพ
ผลสำรวจนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 22 พ.ย. - 7 ธ.ค. ซึ่งรูเบิลตกอย่างต่อเนื่อง