xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียสั่งเททุนสำรองอุ้มเงินรูเบิล ชี้ราคาน้ำมันเป็นเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัสเซียนั่งไม่ติด พยายามดิ้นรนหนักในวันพุธ (17 ธ.ค.) เพื่อหยุดยั้งค่าเงินรูเบิลที่ไหลรูด ทั้งด้วยการเทขายเงินทุนสำรองเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ และการพูดจาปลอบโยนฟื้นความมั่นใจ จนสามารถดันสกุลเงินแดนหมีขาวกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในการซื้อขายช่วงบ่าย อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่ดักรอรูเบิลอยู่คือ แนวโน้มที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะลงนามขยายมาตรการแซงก์ชันรัสเซียปลายสัปดาห์นี้

ถึงแม้ธนาคารกลางรัสเซียประกาศในตอนดึกวันจันทร์ (15) ขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 6.5% เป็น 17% แต่ก็ยังไม่สามารถประคับประคองค่าสกุลเงินแดนหมีขาวได้ โดยในวันอังคาร (16) รูเบิลยังคงดิ่งถลาลงทำสถิตินิวโลว์ ทั้งนี้ช่วงหนึ่งมูลค่าของมันลงมาถึง 20% ทีเดียว ก่อนจะขยับขึ้นไปได้บ้าง เมื่อรวมทั้งสัปดาห์นี้ก็เท่ากับอ่อนตัวลงมา 15% และหากนับกันตลอดทั้งปีนี้ รูเบิลก็ถูกลงเกือบ 60% สูสีกับสกุลเงินฮริฟเนียของยูเครน และอยู่ในฐานะเป็นสกุลเงินตราที่มีผลงานเลวร้ายที่สุดของโลก

ในวันพุธ (17) ตอนเปิดตลาด สกุลเงินรัสเซียได้กลับลดลงอีก จนมูลค่าหายไปประมาณ 3.0% เมื่อราวๆ บ่าย 13.00 น. เวลามอสโก (ตรงกับ 17.00 น.เวลาเมืองไทย) จากนั้นจึงดีดกลับขึ้นได้บ้าง โดยซื้อขายกันอยู่ที่ 66.05 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ จากที่อยู่ในระดับ 67.88 รูเบิล/ดอลลาร์ ในคืนวันอังคาร และ 82.20 รูเบิลแลกได้ 1 ยูโร จากระดับ 85.15 ในคืนวันอังคาร

สำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์รายงานวันพุธ โดยอ้างคำกล่าวของอเล็กเซย์ มอยเซเยฟ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคลังรัสเซียว่า กระทรวงการคลังเตรียมนำเงินตราต่างประเทศในบัญชีของกระทรวง ออกขาย “มากที่สุดเท่าที่จะมากได้และนานตราบเท่าที่จำเป็น”

ทั้งนี้ แม้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะใช้เงินเพื่อการนี้เท่าใด แต่กระทรวงเผยว่า มีเงินราว 7,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการฟื้นรูเบิล และไม่มีแผนนำเงินจากกองทุนฉุกเฉินมาใช้

มาตรการแทรกแซงของกระทรวงคลังมีขึ้นหลังจากที่แบงก์ชาติแดนหมีขาวถอนเงินจากคลังสำรองเงินตราต่างประเทศกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ไปพยุงรูเบิลนับตั้งแต่ต้นเดือนนี้

ส่วนสาเหตุที่รูเบิลอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปี และยิ่งดิ่งหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นคือ การทรุดลงของราคาน้ำมัน ตลอดจนถึงผลกระทบจากมาตรการลงโทษของโลกตะวันตกจากกรณีที่รัสเซียเข้าแทรกแซงวิกฤตยูเครน

นอกจากนั้น รูเบิลยังมีแนวโน้มถูกกดดันหนักขึ้น จากแนวโน้มที่ประธานาธิบดีโอบามา จะลงนามบังคับใช้มาตรการลงโทษรัสเซียรอบใหม่ปลายสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี เกอร์นอต เออร์เลอร์ ผู้ประสานงานของรัฐบาลเยอรมนีด้านความสัมพันธ์กับรัสเซีย แสดงความเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจของรัสเซียส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันขาลง ไม่ใช่มาตรการลงโทษของตะวันตก ดังนั้น หากตะวันตกยุติการลงโทษ เศรษฐกิจรัสเซียก็คงไม่สามารถฟื้นคืนสภาพในทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น