xs
xsm
sm
md
lg

ทนาย “คดีเกาะเต่า” กล่าวหา กต.อังกฤษ ขวาง 2 แรงงานพม่าไม่ให้ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - ทนายความของแรงงานพม่า 2 คนที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนหาดทรายรี เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ชี้ว่ามีการปกปิดข้อมูลในคดีนี้

ทีมทนายความของ 2 แรงงานข้ามชาติชาวพม่าซึ่งถูกกล่าวหาว่าสังหารหนุ่มสาวชาวอังกฤษที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้ออกมากล่าวหากระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่าสมรู้ร่วมคิดทำให้ลูกความของเขาไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ภายหลังเจ้าหน้าที่ในกรุงลอนดอนปฏิเสธที่จะมอบข้อมูลใดๆ ในคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องจำเลยคดีนี้

ทีมทนายความของซอลิน และเวพิว ซึ่งจะขึ้นศาลเพื่อนัดสืบพยาน และตรวจหลักฐานในสัปดาห์หน้า ในคดีฆาตกรรม ฮันนาห์ วิเทอริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์ บนเกาะเต่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า ข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษปิดไว้ เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงคำร้องของโจทก์ ก่อนที่คดีจะถูกนำขึ้นสู่ศาล หลังจากนั้นทนายจำเลยจะต้องส่งคำร้องภายใน 10 วัน ในขณะที่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นหลักฐานใดๆ ของโจทก์ล่วงหน้า

นคร ชมพูชาติ ทนายสิทธิมนุษยชน ผู้เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยชี้ว่า กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ “ไม่ได้พยายามให้ความช่วยเหลือ หรือสร้างความเชื่อมั่นใดๆ เลย ... จำเลยไม่มีโอกาสสู้คดีนี้อย่างยุติธรรม จนกว่าทนายจะได้เห็นคำร้องฝ่ายโจทก์ (ในขณะที่) โจทก์ไม่แม้แต่เปิดเผยรายการพยานหลักฐาน เราจึงไม่มีทางวางกลยุทธ์อะไรได้เลย”

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการในคดีนี้ นอกเสียจากการทำหน้าที่รักษาประโยชน์แทนครอบครัวของ วิทเธอริดจ์ หญิงสาวชาวอังกฤษวัย 23 ปี จากนอร์ฟอล์ก และมิลเลอร์ วัย 24 ปี จากเจอร์ซีย์ อย่างไรก็ตาม เมื่อแรงงานพม่าทั้งสองคนถอนคำให้การ หลังจากที่พวกเขาถูกจับกุมได้ไม่นานนัก โดยอ้างว่าตนรับสารภาพเพราะถูกตำรวจทรมาน เป็นผลให้ทางการอังกฤษออกมาแสดงความกังวลถึงกระบวนการสอบสวนของไทย จนเรียกตัวนักการทูตอาวุโสของไทยเข้าพบเพื่อแสดงความกังวล จากนั้นจึงส่งตำรวจนครบาลไปไทย เพื่อร่วมสังเกตการณ์การสืบสวนคดีนี้ ก่อนจะกลับไปออกรายงานให้ทางการ และครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตทราบ

ในยามที่รายงานของตำรวจนครบาลอังกฤษยังไม่ได้รับการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงของครอบครัว วิทเธอริดจ์ และมิลเลอร์ โดยสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองครอบครัวมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสืบสวนของไทย ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนที่ประโคมข่าวว่า ซอลิน และเวพิว อาจตกเป็นแพะรับบาปในคดีนี้

คำแถลงของครอบครัวมิลเลอร์ระบุว่า “เท่าที่เราเห็นในขณะนี้ ผู้ต้องหาทั้งสองมีคำถามสำคัญที่กำลังรอคำตอบจากพวกเขา หลักฐานที่มัดตัวพวกเขามีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ และข้อต่อสู้ของพวกเขานั้นจะต้องผ่านการพิจารณาเช่นเดียวกับฟ้องของโจทก์”

ทีมทนายจำเลยให้เหตุผลว่า แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า รูปคดีจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ทั้งสองจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะในไทย ประเทศที่แรงงานพม่ามักตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาชญากรรมร้ายแรงที่ดึงดูดความสนใจ

ทนายจำเลยได้วิงวอนไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ทางหน่วยงานจะช่วยแบ่งปันข้อมูลที่ช่วยให้พวกเขาสามารถนำมาประกอบคำร้องจำเลยได้ ทว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษตอบกลับมาว่า ไม่สามารถทำตามคำเรียกร้องดังกล่าวได้

ข้อความในอีเมลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งถึงชมพูชาติ ระบุว่า ทางหน่วยงานสามารถเปิดเผยข้อมูลแก่พวกเขา ได้เท่าที่ทางการไทย และศาลชั้นต้นอนุญาตเท่านั้น

อีเมลของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษระบุว่า ทีมตำรวจนครบาลอังกฤษที่บินมาร่วมสังเกตการณ์ในไทยก่อนหน้านี้ ถูกส่งไปเพื่อ “สร้างความมั่นใจ” ให้ครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า หลักฐานชั้นต้น “ยังคงอยู่ในมือตำรวจและอัยการไทย” ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ชันสูตรศพมิลเลอร์ และวิทเธอริดจ์ ซึ่งครอบครองสำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพของอังกฤษ เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เปิดเผยให้ฝ่ายจำเลยรับทราบได้ พร้อมกับระบุว่า เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า พวกเขาจะเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เมื่อใด

ชมพูชาติกล่าวว่า ทีมทนายจำเลยรู้สึกผิดหวังที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งควรออกคำแถลงเรียกร้องให้ขั้นตอนการพิจารณาคดีดำเนินไปอย่าง “มีประสิทธิภาพ และไร้ข้อสงสัย” แต่พวกเขากลับระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้รับรู้ได้ จนกระตุ้นให้ครอบครัวของผู้ตายออกมาแสดงทัศนะเช่นนั้น

เขากล่าวว่า “เป็นสิทธิของครอบครัวผู้ตายที่จะได้รับทราบเช่นนั้น แต่กระทรวงการต่างประเทศไม่ควรเผยแพร่ถ้อยแถลงแบบนั้นต่อสื่อมวลชน นี่เท่ากับเป็นการทำลายความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดี ผมคิดว่า รัฐบาลอังกฤษไม่ให้ความช่วยเหลือ เพราะไม่อยากช่วย อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการทำให้เกิดปัญหา หรือกลายเป็นที่ครหาว่า กำลังยื่นมือช่วยผู้ที่อาจกลายเป็นคนผิด”

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษระบุว่า ได้เผยแพร่คำแถลงของครอบครัวเหยื่อ แบบเดียวกับคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่คล้ายๆ กัน โดยชี้ว่าการทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า จำเป็นต้องเผยแพร่ทัศนะของครอบครัวผู้สูญเสียเสมอไป

ชมพูชาติระบุว่า ศาลเกาะสมุยได้ขอให้ทีมทนายของเขาเตรียมพร้อมแถลงแนวทางเสนอพยานหลักฐานอย่างสมบูรณ์ในวันพรุ่งนี้ (18) ล่วงหน้าก่อนที่ศาลจะนัดสืบพยาน และตรวจหลักฐานในวันที่ 26 ธันวาคมนี้

ทั้งนี้ วิทเธอริดจ์ถูกข่มขืนก่อนจะถูกคนร้ายตีเข้าที่ใบหน้าจนเป็นบาดแผลฉกรรจ์เสียชีวิต บนหาดทรายรี เมื่อวันที่ 15 กันยายน ขณะที่มิลเลอร์ถูกตีเข้าที่ศีรษะจนฟุบหมดสติในน้ำขาดอากาศหายใจ ซอลิน และเวพิว ถูกจับกุมราว 2 สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรม ในยามที่ตำรวจกำลังเร่งหาตัวคนร้ายเพื่อปิดคดี ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายืนยันว่าไม่มีทางจับแพะ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังถูกกล่าวหาว่ารวบตัวแรงงานพม่า 6 คนจากวงตะกร้อไปซ้อมและเอาน้ำร้อนราดเพื่อเค้นให้พวกเขาคายข้อมูล

ทางด้านโฆษกของรัฐบาลไทยระบุกับหนังสือพิมพ์รายวันการ์เดียนดังนี้

“หลักฐานที่จะถูกนำไปแสดงในศาลนั้นยังอยู่ในมือตำรวจและอัยการไทย ส่วนเรื่องที่ว่าจะนำอะไรไปเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี และแสดงอย่างไรนั้นเป็นการตัดสินใจของทางการไทย รัฐบาลอังกฤษไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการตุลาการในไทย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชาติอื่นๆ ไม่สามารถเข้าแทรกแซงกระบวนการตุลาการของเราได้ เราได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนคดีนี้อย่างเป็นธรรมและโปร่งใส โดยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลแล้ว”
ตุนตุน ไตก์ และเม ตาน พ่อและแม่ของ วิน ซอตุน หรือ ซอลิน หนึ่งในแรงงานพม่า ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า โชว์รูปภาพลูกชายระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ที่นครย่างกุ้ง (4 ธ.ค.)

กำลังโหลดความคิดเห็น