xs
xsm
sm
md
lg

‘หุ้นส่วนใหญ่ทีมฟุตบอลอาร์เซนอล’ รับซื้อเหรียญรางวัลโนเบลแล้วคืนกลับให้เจ้าของ

เผยแพร่:   โดย: ฟารังกิส นาจิบุลเลาะห์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Usmanov does good by Nobel laureate Watson
By Farangis Najibullah
11/12/2014

เมื่อเร็วๆ นี้ อาลีเชอร์ อุสมานอฟ ได้ประมูลซื้อเหรียญทองรางวัลโนเบลของนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน เจมส์ วัตสัน ไปด้วยราคา 4.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เสร็จแล้วก็ประกาศส่งคืนให้แก่นักวิจัยผู้บุกเบิกค้นคว้าเรื่องดีเอ็นเอซึ่งปัจจุบันมีอายุ 86 ปีผู้นั้น สำหรับตัวมหาเศรษฐี อุสมานอฟ เอง เขาสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้ครั้งแรกทีเดียวด้วยการผลิตถุงพลาสติก และก็มีอะไรอยู่หลายๆ อย่างซึ่งทำให้ตัวเขาผงาดโดดเด่นเหนือล้ำยิ่งกว่านายทุนร่ำรวยทรงอิทธิพลคนอื่นๆ แห่งยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

มหาเศรษฐีทรงอิทธิพล อาลีเชอร์ อุสมานอฟ (Alisher Usmanov) เปิดเผยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า การที่เขาซื้อเหรียญทองรางวัลโนเบลของ เจมส์ วัตสัน (James Watson's) นักวิทยาศาสตร์อเมริกันผู้ได้รับรางวัลนี้ในปี 1962 ด้วยผลงานการค้นพบโครงสร้างของดีเอ็นเอ ก็เพียงเพื่อที่จะส่งมอบมันกลับคืนไปให้นักวิจัยผู้ที่ปัจจุบันอายุ 86 ปีผู้นั้น

อุสมานอฟ ซื้อเหรียญรางวัลของวัตสันที่ถูกนำออกมาประมูลขาย ด้วยราคา 4.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจัดว่าเป็นเพียงแค่เศษเงินในกระเป๋าสำหรับมหาเศรษฐีอย่างเขาที่นิตยสาร “ฟอร์บส์” (Forbes) ระบุว่ามีทรัพย์สมบัติในครอบครองรวมเป็นมูลค่า 15,900 ล้านดอลลาร์ โดยอยู่ในรูปของกิจการมากมายกว้างขวางในด้านเหล็กกล้า, เหมืองแร่, ตลอดจนการลงทุนด้านโทรคมนาคม นอกเหนือจากธุรกิจอย่างอื่นๆ และมีทั้งที่อยู่ในรัสเซียและในต่างแดน

มหาเศรษฐีวัย 61 ปีผู้นี้เป็นคนเชื้อชาติอุซเบก (Uzbek) มีภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่บ้านชุสต์ (Chust) ในหุบเขาเฟอร์กานา (Ferghana Valley) ปัจจุบันเขาได้รับการจัดอันดับว่าเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดของรัสเซีย และเป็นบุคคลมั่งคั่งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอังกฤษ ทั้งนี้มีรายงานว่าที่พำนักอาศัยหลักของเขานั้นคือที่หมู่บ้านรุบลิออฟกา (Rublyovka) อันหรูหราย่านนอกเมืองมอสโก แต่ก็ไปพำนักอยู่ที่อังกฤษบ่อยๆ ในแมนชั่นระดับหลายล้านดอลลาร์อย่างน้อยที่สุด 2 หลังในกรุงลอนดอนและในมณฑลเซอร์รีย์ (Surrey)

อุสมานอฟเป็นมหาเศรษฐีซึ่งสร้างฐานะขึ้นมาด้วยตนเอง โดยความมั่งคั่งตอนแรกที่สุดของเขาได้มาจากการผลิตถุงพลาสติก เขามีอะไรอยู่หลายๆ อย่างซึ่งทำให้ตัวเขาผงาดโดดเด่นเหนือล้ำยิ่งกว่านายทุนร่ำรวยทรงอิทธิพลคนอื่นๆ แห่งยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

ต่อไปนี้คือสิ่งต่างๆ 5 อย่างที่ควรรู้จักเกี่ยวกับมหาเศรษฐีผู้นี้ ซึ่งนิตยสาร์ฟอร์บส์ขนานนามว่า “บุรุษกร้าวแกร่งแห่งรัสเซีย” (ดูรายละเอียดที่เว็บเพจ http://www.forbes.com/forbes/2010/0329/billionaires-2010-europe-usmanov-internet-media-hard-man-of-russia.html)

ในอดีตเขาเคยเป็นนักกีฬาอาชีพ

ถึงแม้ว่าในเวลานี้เขาอาจจะไม่ได้มีรูปร่างท่าทางล่ำสันหรือทะมัดทะแมงคล่องแคล่วแบบผู้ชื่นชอบหลงใหลในการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายอีกแล้ว แต่ครั้งหนึ่งในอดีต อุสมานอฟเคยเป็นนักกีฬาฟันดาบผู้ประสบความสำเร็จ และเป็นสมาชิกคนหนึ่งในทีมฟันดาบทีมชาติของอุซเบกิสถาน จวบจนถึงปัจจุบัน อุสมานอฟยังคงให้ความสนใจคอยส่งเสริมสนับสนุนกีฬานี้ ในฐานะที่เป็นประธานสหพันธ์กีฬาฟันดาบนานาชาติ (International Fencing Federation) ในเรื่องของการกีฬานี้ อุสมานอฟมีความชำนาญในการนำเอาความสนุกตื่นเต้นเร้าใจมาจับคู่ผสมผสานกับธุรกิจ โดยเขาเข้าซื้อหุ้นจำนวน 14.5% ในสโมสรฟุตบอล “อาร์เซนอล” (Arsenal) ของอังกฤษเมื่อปี 2007 จากนั้นก็ซื้อเพิ่มขึ้นอีกในปี 2011 ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของหุ้นเกือบๆ หนึ่งในสามของสโมสรฟุตบอลชื่อดังทำกำไรงามแห่งนี้

เขาเป็นผู้ที่สนใจเรื่องสื่อสังคมและอีคอมเมิร์ซ

กล่าวกันว่าอุสมานอฟเป็นนักประดิษฐ์คิดสร้างในด้านสื่อสังคมและด้านการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce อีคอมเมิร์ซ) รายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย เขาเป็นผู้ถือหุ้นคนสำคัญที่สุดในกลุ่มกิจการอินเทอร์เน็ตของรัสเซียที่ใช้ชื่อว่า Mail.ru และก็เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายแรกๆ ที่ลงขันใน เฟซบุ๊ก ถึงแม้เขาจะระบุเอาไว้ในปีนี้ว่าเขาได้ขายหุ้นเฟซบุ๊กที่ถือครองอยู่ทั้งหมดไปแล้ว นอกจากนั้น ว่ากันว่าอุสมานอฟยังเข้าลงทุนใน อาลีบาบา (Alibaba) ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน ถึงแม้เขาไม่เคยเปิดเผยว่ามีหุ้นเป็นสัดส่วนเท่าใดและมูลค่าขนาดไหน นอกจากนั้นเขายังลงทุนในบริษัท “เสี่ยวหมี่” (Xiaomi) ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนราคาถูกของจีนที่กำลังโตวันโตคืน โดยบอกว่า บริษัทนี้จะกลายเป็น “ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีในอนาคต” อุสมานอฟยังแสดงท่าทีให้ตีความได้ว่า เขายังกำลังหันความสนใจไปที่การลงทุนด้านเทคโนโลยีในอินเดียอีกด้วย โดยเขาบอกว่า ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลายยังมีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง (ดูรายละเอียดที่เว็บเพจ http://www.cnbc.com/id/102210868)

เขาเป็นผู้ซื้อบางสิ่งซึ่งผ่านการเลือกสรรอย่างดีที่สุด, บางสิ่งซึ่งมาจากแรงจูงใจทางการเมือง, และอีกหลายๆ สิ่งซึ่งไม่ใช่ทั้งสองอย่างนี้

การซื้อและส่งคืนเหรียญทองรางวัลโนเบลของวัตสันคราวนี้ ไม่ได้เป็นการแสดงให้เห็นจิตใจช่วยเหลือคนอื่นครั้งแรกของอุสมานอฟ ทั้งนี้เมื่อปี 2007 เขาเคยจ่ายเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อคอลเล็กชั่นผลงานศิลปะที่เคยเป็นของ มสติสลาฟ รอสโตรโปวิช (Mstislav Rostropovich) นักดนตรีรัสเซียผู้เพิ่งล่วงลับไปในปีนั้น จากนั้นก็มอบให้แก่ทางพระราชวังคอนสแตนตินอฟสกี้ (Konstantinovsky Palace) ที่เป็นสมบัติของชาติ และตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมา อุสมานอฟยังใช้จ่ายเงินระหว่าง 5 ล้าน ถึง 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อคอลเล็กชั่นชุดใหญ่ของหนังการ์ตูนยุคสหภาพโซเวียต จากเจ้าของที่มีถิ่นพำนักอยู่ในสหรัฐฯ แล้วนำมาบริจาคให้แก่ช่องทีวีสำหรับเด็กในรัสเซีย ด้วยการแสดงออกซึ่งจิตใจอันเป็นกุศลเช่นนี้เอง วังเครมลินจึงมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติ “Order for Services for the Fatherland” ให้แก่มหาเศรษฐีผู้นี้ (ดูรายละเอียดที่เว็บเพจ http://sputniknews.com/russia/20130708/182122377.html)

เขาแต่งงานกับคนรักที่ชอบกันตั้งแต่วัยเด็ก

อุสมานอฟ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายอุซเบก ได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนไปทั่วกรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน ด้วยการแต่งงานกับ อีรีนา วีเนียร์ (Irina Viner) หญิงชาวยิวที่หย่าร้างสามีและมีบุตรชายติดมาด้วยคนหนึ่ง ถึงแม้ทั้งคู่เพิ่งมาแต่งงานกันในปี 1992 แต่ความจริงพวกเขาได้รู้จักพบปะกันครั้งแรกในสโมสรกีฬาแห่งหนึ่งของนครทาชเคนต์ตั้งแต่เมื่อตอนที่ทั้งคู่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ พวกเขามิได้มีบุตรด้วยกันเลย อันที่จริง วีเนียร์เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงด้วยตัวเธอเองอยู่แล้ว โดยเธอเป็นแชมเปี้ยนกีฬายิมนาสติกลีลาของอุซเบกิสถานถึง 3 สมัย รวมทั้งรับตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์กีฬายิมนาสติกลีลาของรัสเซียอีกด้วย นอกเหนือจากการเป็นภรรยาของมหาเศรษฐีผู้เป็นมิตรกับวังเครมลินแล้ว วีเนียร์ยังมีสายสัมพันธ์ของตัวเธอเองกับทางวังเครมลิน กล่าวคือ เธอเป็นโคชยิมนาสติกให้กับ อาลีนา คาบาเยวา (Alina Kabayeva) ซึ่งตกเป็นข่าวลือเกรียวกราวว่าเป็นคนรักของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่เพียงเท่านั้น วีเนียร์ยังออกรณรงค์หาเสียงช่วยปูติน ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2012

เขายังไม่มี “ทายาทสืบทอดตำแหน่ง”

เนื่องจากอุสมานอฟไม่ได้มีบุตรที่สืบเชื้อสายโดยตรงของตัวเองเลย พวกสื่อมวลชนอุซเบกจึงพากันคาดเดากะเก็งกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า บาบุร์ อุสมานอฟ (Babur Usmanov) หลานชายของเขาซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในกรุงทาชเคนต์ เป็นผู้ที่มีศักยภาพจะกลายเป็น “ทายาท” สืบทอดอาณาจักรทางธุรกิจอันกว้างขวางใหญ่โตของเขาได้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า บาบุร์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุอยู่ในวัย 20 เศษๆ ได้เสียชีวิตไปแล้วในอุบัติเหตุทางรถยนต์ในทาชเคนต์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2013 ทั้งนี้ในปัจจุบันมีรายงานว่า อุสมานอฟยังเหลือหลานชายและหลานสาวคนอื่นๆ อีก 5 คน รวมทั้งบุตรชายบุญธรรมคนหนึ่งที่มีชื่อว่า อันตอน (Anton) ซึ่งเกิดในทาชเคนต์เมื่อปี 1973

รายงานนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น