(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Afghanistan's future is not Iraq's present
By Brian M Downing
04/11/2014
มีความวิตกกังวลกันเป็นอย่างมากเกี่ยวกับชะตากรรมของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ภายหลังที่กองทัพพันธมิตรฝ่ายตะวันตกถอนตัวออกไปในสิ้นปี 2014 นี้ ความห่วงใยดังกล่าวนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นอีก หลังจากกองทัพอิรักที่ผ่านการฝึกอบรมจากฝ่ายตะวันตกเช่นเดียวกัน ต้องมีอันแตกพ่ายถอยร่นเมื่อเผชิญหน้ากับการรุกโจมตีของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กองทัพของอัฟกานิสถานและกองทัพของอิรักมีลักษณะอันไม่น่าสบายใจคล้ายๆ กันหลายๆ ประการ พวกนักรบตอลิบานกลับไม่มีความคล่องตัวหรือความสามารถในการปรับตัวแบบที่พวกไอเอสมี เช่นเดียวกับเรื่องความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวก็ยังเทียบชั้นกันไม่ได้
กองทหารภาคพื้นดินของชาติตะวันตกที่ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถาน กำลังจะถอนตัวกลับออกไปภายในสิ้นปีนี้แล้ว หน่วยทหารของอังกฤษและของสหรัฐฯต่างกำลังพากันม้วนเก็บธงชัยเฉลิมพลของพวกตน และกำลังขึ้นเครื่องบินขนส่งเพื่อเดินทางกลับบ้าน ในเวลาเดียวกัน ความเป็นห่วงเกี่ยวกับความสามารถของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน (Afghan National Army ใช้อักษรย่อว่า ANA) ในการสู้รบรับมือกับพวกตอลิบาน (Taliban) ภายหลังการถอนตัวเหล่านี้ ก็เพิ่มทวีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกองทัพอิรักได้ก่อให้เกิดความหดหู่ท้อใจเหลือเกิน เมื่อหลายๆ ส่วนของกองทัพนี้พากันแตกพ่ายถอยหนีอย่างรวดเร็วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในการเผชิญหน้ากับการรุกโจมตีของกองกำลังอาวุธกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State หรือ IS)
กองทัพอัฟกานิสถานและกองทัพอิรักนั้น มีลักษณะคล้ายๆ กันอันชวนให้ไม่สบายใจอยู่หลายๆ ประการ ทั้งสองกองทัพนี้ต่างประกอบขึ้นจากผู้คนซึ่งมีประวัติบ่งชี้อย่างยาวนานว่าเป็นพวกที่ไว้วางใจไม่ค่อยได้ ทั้งสองกองทัพนี้ถูกสร้างขึ้นมาและขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้มีพวกนายทหารชั้นประทวนและนายทหารชั้นสัญญาบัตรจำนวนหนึ่งที่ยังขาดคุณสมบัติอันเหมาะสม พลอยได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งไปด้วย โดยที่กระบวนการนี้มีเรื่องของเส้นสายและการทุจริตติดสินบนเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญพอๆ กับผลงานความสำเร็จในทางวิชาชีพทีเดียว
ทั้งสองกองทัพนี้ยังมีประกาศนียบัตรรับรองว่าผ่านการฝึกอบรมจากฝ่ายตะวันตก ซึ่งเวลานี้กลับกลายเป็นคุณสมบัติที่กระตุ้นความสงสัยไม่มั่นใจไปเสียแล้ว เพราะการฝึกอบรมเหล่านี้สอนได้เพียงเฉพาะในเรื่องทักษะความชำนาญในการใช้อาวุธ และการฝึกหัดทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่แน่นอนว่าเรื่องความเด็ดเดี่ยวยืนหยัดกล้าสู้รบนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจสอนกันได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กองทัพอัฟกานิสถานจัดว่ามีความน่าเชื่อถือไว้วางใจมากกว่ากองทัพอิรัก ขณะที่พวกตอลิบานก็น่ากลัวน้อยกว่าพวกไอเอส รวมทั้งปัจจัยทางด้านพันธมิตรระดับท้องถิ่นและแสนยานุภาพทางอากาศก็มีความแตกต่างกันด้วย
**กองทัพอัฟกานิสถาน**
มีนิทานปรัมปราที่เล่าขานกันในแถบเอเชียกลางเรื่องหนึ่ง บอกว่าในตอนที่มีการสร้างโลกขึ้นมานั้น พวกผู้คนซึ่งไม่สามารถเข้ากับสถานที่อื่นๆ ใดๆ ได้เลย ต่างก็ถูกกวาดให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งกลายเป็นอัฟกานิสถานในทุกวันนี้ ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ต่างพากันชื่นชอบนิทานเรื่องนี้ และข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า ในหมู่ประชากรของอัฟกานิสถานนั้น ชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดคือชาวปาชตุน (Pashtun) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 42% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ชาวทาจิก (Tajik) มีจำนวนเท่ากับ 27%, ชาวฮาซารา (Hazara) 9%, ชาวอุซเบก (Uzbek) 9% เช่นกัน, นอกจากนั้นยังมีชาวเตอร์โคเมน (Turkomen), ชาวไอแมก (Aimaq), และชาวบาโลช (Baloch) อีกชาติพันธุ์ละเล็กละน้อย
ถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จำนวนมากทีเดียว ได้ทำการสู้รบกับพวกรัสเซียที่เข้ามารุกรานยึดครองอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1980 และต่างเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองที่สามารถขับไล่ชาวรัสเซียออกไปได้ ทว่าพวกเขากระทำเรื่องนี้โดยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของขุนศึกหลายๆ คนที่ต่างเป็นปรปักษ์แย่งชิงอำนาจกันเองด้วย ไม่ใช่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายต่อต้านที่มีการรวมตัวอย่างเป็นเอกภาพ ชัยชนะจึงไม่ได้นำมาซึ่งจิตวิญญาณแห่งความปรองดองชาติหรือความสามัคคีในชาติ มีแต่นำมาซึ่งอีกยุคหนึ่งของความอาฆาตพยาบาทกันและการทำสงครามระหว่างกันเท่านั้น
กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ยังคงมีลักษณะของการแบ่งแยกไปตามชาติพันธุ์อย่างล้ำลึก พวกทหารลูกแถวนั้นประกอบด้วยชาวทาจิก, อุซเบก, และฮาซารา (หรืออาจจะเรียกรวมๆ ตามภูมิภาคในอัฟกานิสถานที่ชนชาติเหล่านี้พำนักอาศัยกันอยู่มาก ว่า เป็น “ชาวเหนือ”) ในสัดส่วนที่สูงผิดเพี้ยนจากตัวเลขเปอร์เซนต์ของประชากรไปมาก ขณะที่ในหมู่นายทหารสัญญาบัตร พวกปาชตุน (หรือ “ชาวใต้”) ก็มีสัดส่วนสูงอย่างผิดเพี้ยน เนื่องจากตอลิบานนั้นเป็นขบวนการของชาวปาชตุน จึงเกิดเหตุการณ์ไม่ใช่น้อยๆ ที่พวกทหารกองทัพแห่งชาติซึ่งเป็นคนปาชตุน ก่อการเข่นฆ่าสังหารทหารชาวเหนือตลอดจนพวกที่ปรึกษาชาวตะวันตก ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ปรากฏพบเห็นกันได้ทั่วไป บางทีอาจจะอยู่ในระดับเลวร้ายยิ่งเสียกว่าในอิรักด้วยซ้ำ กระนั้น ก็ยังคงมีเหตุผลหลายอย่างหลายประการที่ทำให้มองโลกในแง่ดีได้อยู่
กองทัพอิรักนั้นแทบไม่มีประสบการณ์ในการสู้รบเอาเลย ในช่วงเวลา 11 ปีนับจาก ซัดดัม ถูกโค่นล้ม ไปจนถึงตอนที่กลุ่ม IS บุกโจมตีค่ายทหารต่างๆ ในภาคเหนือของอิรักเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทว่า กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานกลับคุ้นเคยผ่านศึกสงครามมาหลายปีแล้ว โดยในช่วงแรกๆ อาจจะยังต้องสู้รบในลักษณะคอยประสานเชื่อมโยงกับพวกทหารของชาติตะวันตก แต่กำลังสามารถที่จะทำศึกด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ยังลำบากที่จะระบุว่ากองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งยากที่ใครจะเอาชนะได้ แต่หน่วยกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพนี้ก็ผ่านการพัฒนายกระดับจนเกิดความมั่นใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ทหารชาวเหนือ ผู้ซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของตอลิบานมายาวนานอย่างน้อย 20 ปีแล้ว
พวกตอลิบานนั้น นอกจากมีศัตรูอย่างกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานแล้ว ยังต้องเผชิญกับกลุ่มปรปักษ์อื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ชนเผ่าชาวปาชตุนจำนวนมากทีเดียวได้มีการจัดตั้งกองกำลังอาวุธท้องถิ่นขึ้นเพื่อต่อต้านการกลับเข้ามาครองอำนาจอีกครั้งของกลุ่มตอลิบาน นอกจากนั้น ด้วยความโกรธกริ้วต่อพฤติการณ์สังหารเข่นฆ่าตลอดจนเผาทำลายโรงเรียนของตอลิบาน มีชาวปาชตุนบางส่วนได้จัดตั้งกองกำลังอาวุธอิสระขึ้นมา ซึ่งมุ่งต่อสู้คัดค้านทั้งกลุ่มกบฎก่อความไม่สงบเหล่านี้ และทั้งรัฐบาลในกรุงคาบูล สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีสำหรับพวกตอลิบาน แต่ก็ไม่เป็นผลดีสำหรับความปรองดองชาติภายหลังสงครามเช่นกัน
นอกจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีอย่างอื่นๆ อีกซึ่งกลายเป็นการสร้างความได้เปรียบให้แก่กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน
**กลุ่มตอลิบาน**
พวกนักรบจรยุทธ์ชาวปาชตุน ได้รับการยกย่องเทิดทูนให้อยู่ในฐานะระดับตำนาน อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ที่พวกเขาประสบความสำเร็จในการทำลายล้างกองทหารอังกฤษเมื่อปี 1842 หลังจากนั้นความปราชัยของกองทหารรัสเซียในอีกเกือบๆ 1 ศตวรรษครึ่งถัดมา ก็ยิ่งเพิ่มพูนฐานะความเป็นตำนานดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตาม บรรดาที่ปรึกษาของพวกนักรบปาชตุนในยุคทศวรรษ 1980 ต่างพากันโอดครวญว่า ถึงแม้นักรบมุจาฮิดีนชาวปาชตุน เป็นนักสู้ที่แข็งแกร่งทรดหด อีกทั้งเชี่ยวชาญรอบรู้ลักษณะภูมิประเทศเป็นอย่างดี ทว่าพวกเขาก็มีจุดอ่อนสำคัญตรงที่ชอบต่อต้านไม่ยอมรับคำชี้แนะเกี่ยวกับยุทธวิธีการสู้รบ จึงทำให้พวกเขาเคลื่อนไหวไปในทิศทางซึ่งสามารถทำนายได้ล่วงหน้า พวกเขามีความเชื่อมั่นในวิธีการเดิมๆ ที่ทำกันมาจนเป็นประเพณีปฏิบัติ เป็นความเชื่อมั่นอันแรงกล้าถึงขั้นเย่อหยิ่งและคับแคบ แม้กระทั่งเมื่อประสบความพ่ายแพ้ก็ยังไม่สามารถลบล้างความเชื่อมั่นเช่นนี้ได้
พวกนักรบของตอลิบานในทุกวันนี้ ก็ถูกพูดถึงในลักษณะอย่างนี้เหมือนกัน พวกเขาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความคล่องตัวหรือความสามารถในการปรับตัวในทางยุทธวิธี หรือการเกาะเกี่ยวรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น อย่างที่ชอบพูดกันว่าพวกไอเอสมีอยู่ เรื่องนี้ส่งผลจำกัดประสิทธิภาพของกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อต้องสู้รบกันในสงครามบั่นทอนกำลัง (war of attrition) เฉกเช่นทุกวันนี้ พวกเขาจะสามารถประคับประคองตนเองให้อยู่รอดในระยะยาวได้แค่ไหน
พวกนักรบไอเอสนั้นเป็นสานุศิษย์ผู้ศรัทธาในหลักคำสอนของพวกซาลาฟิสต์ (Salafist) หลักคำสอนนี้ผูกพันโยงโยพวกเขาเข้ามารวมกันอยู่ในการต่อสู้เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติคุณของอิสลาม ตลอดจนเพื่อรวบรวมประชาชนของอิสลามให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง และทำให้พวกเขามีพลังในการเกาะเกี่ยวรวมตัวกันเป็นหน่วยเดียว และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างมากมายเป็นพิเศษผิดธรรมดา อันที่จริง พวกผู้นำกลุ่มตอลิบานก็มีความเชื่อความศรัทธาคล้ายๆ กันนี้ ทว่าในหมู่ลูกแถวแล้วกลับเป็นพวกที่เคร่งครัดศรัทธาน้อยกว่านักหนา กลุ่มสู้รบต่างๆ ของตอลิบานประกอบขึ้นจากชาวไร่ชาวนาและพวกคนเลี้ยงสัตว์ โดยที่มีผู้อาวุโสของชนเผ่าเป็นคนเรียกระดมพลและจัดสรรปันส่วนกองกำลัง ทั้งนี้ความประสงค์สำคัญที่สุดของผู้อาวุโสเหล่านี้มักจะมีขอบเขตเพียงแค่การกำจัดคนต่างชาติให้พ้นออกไปจากเขตพื้นที่ของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาแทบไม่สนใจใยดีอะไรกับเป้าหมายที่สูงส่งเกินกว่านี้ ดังนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่สง่างามแบบของพวกไอเอส พวกนักรบตอลิบานนั้นขบคิดแต่เฉพาะพื้นที่หุบเขาแถบบ้านเกิด ไม่ใช่เรื่องจักรวรรดิในเทพนิยายลึกลับห่างไกล
หลังจากกองทัพรัสเซียล่าถอยออกไปในปี 1989 นักรบจำนวนมากก็พากันประกาศชัยชนะแล้วเดินทางกลับไปบ้าน พวกเขาต้องการเพียงแค่นี้จริงๆ สภาวการณ์เช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อฤดูกาลแห่งการสู้รบครั้งต่อไปเริ่มต้นขึ้น และพวกผู้อาวุโสของชนเผ่าตลอดจนพวกที่จะมาเป็นกำลังนักรบ หันออกไปมองรอบๆ เขตพื้นที่ของพวกเขาและไม่พบคนต่างชาติใดๆ อีกแล้ว เหลืออยู่เพียงทหารกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขาสามารถที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในรูปแบบที่ชาวอัฟกันปฏิบัติกันมานานช้านั่นคือการเจรจาต่อรองกัน และมันก็เป็นรูปแบบปฏิบัติซึ่งชาวอัฟกันส่วนใหญ่ นิยมชมชอบยิ่งกว่าการสู้รบต่อไปอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
**แสนยานุภาพทางอากาศ**
ถ้าหากตอลิบานต้องการที่จะกลับเข้าควบคุมพื้นที่ภาคใต้ของอัฟกานิสถานตลอดจนส่วนอื่นๆ ของประเทศให้สำเร็จแล้ว พวกเขาจะต้องเข้ายึดแนวป้อมค่ายที่กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานเฝ้ารักษาอยู่ ตลอดจนเมืองใหญ่แห่งต่างๆ เอาไว้ให้ได้ เรื่องนี้จำเป็นจะต้องเรียกระดมนักรบจำนวนเป็นร้อยๆ หรือกระทั่งเป็นพันๆ คนมารวมกำลังกัน และนั่นก็จะกลายเป็นเป้าหมายอันเปราะบางเมื่อเผชิญกับกำลังยิงชนิดถล่มทลาย อย่างเช่น ปืนครก, ปืนใหญ่, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสนยานุภาพทางอากาศ
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯและพันธมิตร สามารถลดทอนพลังในการบุกโจมตีของกลุ่มไอเอสในอิรัก รวมทั้งเปิดทางให้กองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ด และกองทัพอิรัก ทำการรุกตอบโต้อีกด้วย ถึงแม้ยังคงเป็นการรุกตอบโต้ที่อืดอาดเชื่องช้าเหลือเกินก็ตามที ในพื้นที่ภาคเหนือของซีเรีย บริเวณรอบๆ เมืองโคบานี (Kobane) ที่ถูกพวกไอเอสปิดล้อม แสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายพันธมิตรได้ถูกใช้เล่นงานนักรบไอเอส และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่กองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวเคิร์ด ผลลัพธ์ของสงครามชิงเมืองโคบานีนี้จะออกมาอย่างไร ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่การสู้รบที่นี่กำลังกลายเป็นแบบฉบับซึ่งส่งเสริมให้กำลังใจ และน่าจะเป็นแม่แบบซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในที่แห่งอื่นๆ ได้
การทำศึกคล้ายๆ กันนี้ ก็กำลังเกิดขึ้นในฤดูสู้รบปีนี้ของอัฟกานิสถานด้วยเหมือนกัน พวกตอลิบานสามารถที่จะรวมศูนย์กำลังทหารหลายร้อยคน เข้ารายล้อมที่มั่นต่างๆ ของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน และการโจมตีที่ติดตามมาก็มักประสบความสำเร็จอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานสามารถที่จะยึดที่มั่นซึ่งสูญเสียไปกลับคืนมาได้ --ด้วยความช่วยเหลือจากกำลังทางอากาศของฝ่ายตะวันตก ความสูญเสียของพวกตอลิบานอยู่ในระดับสูงทีเดียว เช่นเดียวกับทางกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน
คณะรัฐบาลชุดปัจจุบันของสหรัฐฯ ดูจะมีความยินดีนักหนา ถ้าหากสามารถถอนตัวออกจากอิรักและอัฟกานิสถานได้ ทว่าเหตุการณ์หลายอย่างเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความปราชัยที่ทำท่าว่ากำลังจะเกิดขึ้น แม้กระทั่งเป็นความพ่ายแพ้ในดินแดนอันไกลโพ้น ก็ไม่ใช่ลางดีสำหรับประธานาธิบดีในทำเนียบขาวเลย เรตติ้งความยอมรับผลงานตกวูบ เช่นเดียวกับลู่ทางโอกาสสำหรับพรรคของเขาในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป สหรัฐฯจึงยังจะต้องรักษาฝูงอากาศยานไร้นักบิน, เครืองบินขับไล่, และเฮลิคอปเตอร์กันชิป ขนาดใหญ่โตเอาไว้ เพื่อไว้ใช้ป้องปราม หรือกระทั่งใช้ทำลายล้างการโจมตีของพวกตอลิบาน ถ้าหากมีโอกาสจะทำได้ สถานการณ์ทำนองเดียวกันนี้ น่าที่จะเกิดขึ้นในยุทธบริเวณอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย ตั้งแต่ มาลี ไปจนถึงซีเรีย ไปจนถึงอิรัก และอัฟกานิสถาน สหรัฐฯจะใช้กองทหารภาคพื้นดินที่มีวินัยของชาวพื้นเมือง มาล่อให้พวกอิสลามิสต์สุดโต่งรวมศูนย์กำลังทหาร จากนั้นสหรัฐฯก็จะเข้าถล่มโจมตีนักรบสุดโต่งเหล่านี้จากทางอากาศอย่างไร้ความปรานี สงครามบั่นทอนกำลังเช่นนี้จึงกำลังจะบังเกิดขึ้น หรือไม่ก็กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว ในยุทธบริเวณจำนวนมาก
**แรงสนับสนุนระดับภูมิภาค**
การที่กลุ่มไอเอสรุกคืบเข้าไปในอิรัก ได้ทำให้ความเป็นศัตรูกันในทางนิกายศาสนาในอ่าวเปอร์เซีย ทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้นอีก ซึ่งกลายเป็นการจำกัดหน่วงรั้งความสามารถในการเข้ายุ่งเกี่ยวแทรกแซงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนั้นลงมาอย่างมหาศาล เป็นต้นว่าถ้าอิหร่านเข้าแทรกแซงในอิรัก ย่อมจะก่อให้เกิดความโกรธขึ้งและบางทีอาจจะมีการตอบโต้อย่างไม่ยั้งคิดจากบรรดารัฐสุหนี่ ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายสุหนี่เป็นผู้เข้าไปแทรกแซง ก็คงจะเผชิญความเสี่ยงทำนองเดียวกันจากอิหร่าน ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้คนที่อยู่วงนอกเป็นผู้ทำการแทรกแซง ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือฝ่ายอเมริกัน
ถึงแม้ในอัฟกานิสถานนั้นใช่ว่าจะปลอดจากความตึงเครียดอันสืบเนื่องจากนิกายศาสนา ทว่าอยู่ในระดับที่อ่อนกว่าในอิรักมากมายนัก ผู้คนชาวเหนือ ไม่ว่าจะเป็นชิอะห์หรือสุหนี่ ต่างก็ร่วมไม้ร่วมมือกับอิหร่าน ซึ่งพวกเขามีความสนิทชิดเชื้อในทางวัฒนธรรม เป็นต้นว่า ในทางภาษาและในทางวรรณกรรม นอกจากนั้นพวกเขายังมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกันอีกด้วย
สำหรับชาวฮาซารา ที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางของอัฟกานิสถานนั้น เป็นพวกนับถืออิสลามนิกายชิอะห์ ครูสอนศาสนาของพวกเขาต่างก็เคารพเชื่อฟังคำสอนคำเทศนาจากบรรดาอยาโตลเลาะห์ชาวอิหร่าน ชาวฮาซาราถูกสังหารหมู่ไปเป็นพันๆ คนด้วยฝีมือของพวกตอลิบาน และก็มีนักการทูตอิหร่านจำนวนหนึ่งถูกฆ่าตายเมื่อตอลิบานเข้ายึดสถานกงสุลอิหร่านในเมืองมาซาร์-อี-ชาริฟ (Mazar-i-Sharif) เมื่อปี 1998 อิหร่านได้เคยหนุนหลังประชาชนชาวเหนือในระหว่างการทำสงครามกับสหภาพโซเวียต และหนุนหลังพวกเขาต่อมาหลังจากทหารรัสเซียล่าถอยออกไป แล้วยังคงส่งความช่วยเหลือและที่ปรึกษามาให้ในระหว่างการทำสงครามอันยาวนานกับตอลิบาน (หมายถึงช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งหลังจากนั้นสหรัฐฯจึงหวนกลับมาสนใจอัฟกานิสถาน โดยนำกำลังกองทัพพันธมิตรบุกเข้าโค่นล้มระบอบปกครองตอลิบานไปในปลายปีนั้น -หมายเหตุผู้แปล) –ในช่วงเวลาที่ชาวเหนือทั้งหลายจดจำไว้ได้เป็นอันดีว่า ฝ่ายอเมริกันไม่ได้แสดงความสนใจใยดีอะไร
อิหร่านมองพวกตอลิบานว่าเป็นลัทธิบ้าคลั่งหัวรุนแรงของสุหนี่ ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากประดานายพลชาวปากีสถานผู้เหลาะแหละหลายใจ และได้รับการสนับสนุนอย่างอ้อมๆ จากพวกเจ้าชายซาอุดีอาระเบียที่เป็นปรปักษ์กับตน อิหร่านจะไม่มีทางยินยอมให้พวกตอลิบานหวนกลับเข้ามายึดครองดินแดนผืนใหญ่ๆ ของประเทศซึ่งพวกนี้เคยพิชิตไปได้ในช่วงทศวรรษ 1990 อีกแล้ว เฉกเช่นเดียวกับที่จะไม่ยินยอมให้พวกไอเอสเคลื่อนเข้าไปในเขตที่อยู่ใกล้ๆ แนวชายแดนอิหร่าน อิหร่านจะเข้าแทรกแซงทั้งด้วยกำลังทหารภาคพื้นดินและแสนยานุภาพทางอากาศ ในกรณีที่พวกตอลิบานบุกตะลุยเข้าสู่เขตภาคเหนือของอัฟกานิสถาน –อันเป็นเหตุการณ์ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ตราบเท่าที่สหรัฐฯยังคงมีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่
นอกจากนั้น ชาวเหนือยังสามารถพึ่งพาความสนับสนุนของอินเดียและรัสเซียด้วย ฝ่ายแรกนั้นต้องการที่จะสกัดกั้นไม่ให้ปากีสถานขยายการพาณิชย์และความสนใจเข้าไปในเอเชียกลาง รวมทั้งต้องการที่จะรักษาฐานะของอินเดียในภูมิภาคดังกล่าวให้มั่นคงอีกด้วย ส่วนมอสโกมองว่าการก้าวผงาดขึ้นมาของอิสลามแบบหัวรุนแรง เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อพวกอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง เป็นต้นว่า เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, และคีร์กิซสถาน รวมทั้งเป็นภัยคุกคามโดยอ้อมต่อภูมิภาคมุสลิมที่มีปัญหาความไม่สงบอยู่แล้วของรัสเซียเองด้วย ทั้งอินเดียกับรัสเซีย ก็เช่นเดียวกับอิหร่าน เคยหนุนหลังชาวเหนือในการต่อสู้กับพวกตอลิบาน ส่วนสำหรับจีน ซึ่งกลายเป็นผู้ชนะรางวัลขุมทรัพย์ทรัพยากรธรรมชาติของอัฟกานิสถานรายใหญ่ที่สุดนั้น มีความปรารถนาที่จะให้เกิดเสถียรภาพ --โดยมุ่งใช้วิธีให้การอุดหนุนช่วยเหลือและวิธีการทูต มากกว่าการใช้กำลังอาวุธ
ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ พวกตอลิบานสามารถยึดครองพื้นที่จำนวนมากทีเดียวในภาคใต้และภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน ในเวลาไม่กี่เดือนไม่กี่ปีจากนี้ไป พวกเขาน่าจะยึดได้เพิ่มขึ้นอีก แต่จะถึงขั้นกลับเข้ามาพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990 พวกเขาน่าจะไม่สามารถกระทำได้ เพราะถึงแม้กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานไม่ได้เป็นพลังสู้รบที่มีความเป็นมืออาชีพ แต่ก็มีจิตวิญญาณการสู้รบในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นพวกเขายังมีพันธมิตรที่เป็นกองกำลังอาวุธท้องถิ่น, แสนยานุภาพทางอากาศของสหรัฐฯ, และความสนับสนุนในระดับภูมิภาคอีกด้วย
กองทัพแห่งชาติปากีสถานจะไม่เข้าสู้รบกับพวกตอลิบานในสงครามชี้เป็นชี้ตาย อันที่จริงแล้วสงครามชนิดนั้นก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำไป ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลในกรุงคาบูลไม่น่าที่จะชนะใจประชาชนได้ ด้วยเทคนิควิธีการแบบการต่อต้านการก่อความไม่สงบ (counterinsurgency techniques) หลักการต่างๆ แบบการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ดูจะไม่ค่อยเข้ากันนักกับพื้นที่เทือกเขาสูงและที่ราบหุบเขาของอัฟกานิสถาน
ฝ่ายรัฐบาลคาบูลจะต่อสู้กับพวกตอลิบานในการรบขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมาก ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นการสู้รบจากที่มั่นซึ่งเป็นป้อมปราการชั้นดี, รายล้อมด้วยแนวลวดหนาม, กับระเบิด, และพื้นที่ซึ่งถูกวางไว้ล่วงหน้าให้เป็นเป้าหมายของปืนครกกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน การโจมตีของตอลิบานจะสร้างความเสียหายหนักหน่วงให้แก่ทั้งสองฝ่าย ทว่าสงครามบั่นทอนกำลังเช่นนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อพวกตอลิบาน ผู้ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่านักหนา เมื่อเทียบกับฝ่ายกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานและพันธมิตร
ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com
Afghanistan's future is not Iraq's present
By Brian M Downing
04/11/2014
มีความวิตกกังวลกันเป็นอย่างมากเกี่ยวกับชะตากรรมของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ภายหลังที่กองทัพพันธมิตรฝ่ายตะวันตกถอนตัวออกไปในสิ้นปี 2014 นี้ ความห่วงใยดังกล่าวนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นอีก หลังจากกองทัพอิรักที่ผ่านการฝึกอบรมจากฝ่ายตะวันตกเช่นเดียวกัน ต้องมีอันแตกพ่ายถอยร่นเมื่อเผชิญหน้ากับการรุกโจมตีของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กองทัพของอัฟกานิสถานและกองทัพของอิรักมีลักษณะอันไม่น่าสบายใจคล้ายๆ กันหลายๆ ประการ พวกนักรบตอลิบานกลับไม่มีความคล่องตัวหรือความสามารถในการปรับตัวแบบที่พวกไอเอสมี เช่นเดียวกับเรื่องความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวก็ยังเทียบชั้นกันไม่ได้
กองทหารภาคพื้นดินของชาติตะวันตกที่ประจำการอยู่ในอัฟกานิสถาน กำลังจะถอนตัวกลับออกไปภายในสิ้นปีนี้แล้ว หน่วยทหารของอังกฤษและของสหรัฐฯต่างกำลังพากันม้วนเก็บธงชัยเฉลิมพลของพวกตน และกำลังขึ้นเครื่องบินขนส่งเพื่อเดินทางกลับบ้าน ในเวลาเดียวกัน ความเป็นห่วงเกี่ยวกับความสามารถของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน (Afghan National Army ใช้อักษรย่อว่า ANA) ในการสู้รบรับมือกับพวกตอลิบาน (Taliban) ภายหลังการถอนตัวเหล่านี้ ก็เพิ่มทวีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกองทัพอิรักได้ก่อให้เกิดความหดหู่ท้อใจเหลือเกิน เมื่อหลายๆ ส่วนของกองทัพนี้พากันแตกพ่ายถอยหนีอย่างรวดเร็วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในการเผชิญหน้ากับการรุกโจมตีของกองกำลังอาวุธกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State หรือ IS)
กองทัพอัฟกานิสถานและกองทัพอิรักนั้น มีลักษณะคล้ายๆ กันอันชวนให้ไม่สบายใจอยู่หลายๆ ประการ ทั้งสองกองทัพนี้ต่างประกอบขึ้นจากผู้คนซึ่งมีประวัติบ่งชี้อย่างยาวนานว่าเป็นพวกที่ไว้วางใจไม่ค่อยได้ ทั้งสองกองทัพนี้ถูกสร้างขึ้นมาและขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้มีพวกนายทหารชั้นประทวนและนายทหารชั้นสัญญาบัตรจำนวนหนึ่งที่ยังขาดคุณสมบัติอันเหมาะสม พลอยได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งไปด้วย โดยที่กระบวนการนี้มีเรื่องของเส้นสายและการทุจริตติดสินบนเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อยที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญพอๆ กับผลงานความสำเร็จในทางวิชาชีพทีเดียว
ทั้งสองกองทัพนี้ยังมีประกาศนียบัตรรับรองว่าผ่านการฝึกอบรมจากฝ่ายตะวันตก ซึ่งเวลานี้กลับกลายเป็นคุณสมบัติที่กระตุ้นความสงสัยไม่มั่นใจไปเสียแล้ว เพราะการฝึกอบรมเหล่านี้สอนได้เพียงเฉพาะในเรื่องทักษะความชำนาญในการใช้อาวุธ และการฝึกหัดทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่แน่นอนว่าเรื่องความเด็ดเดี่ยวยืนหยัดกล้าสู้รบนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจสอนกันได้ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กองทัพอัฟกานิสถานจัดว่ามีความน่าเชื่อถือไว้วางใจมากกว่ากองทัพอิรัก ขณะที่พวกตอลิบานก็น่ากลัวน้อยกว่าพวกไอเอส รวมทั้งปัจจัยทางด้านพันธมิตรระดับท้องถิ่นและแสนยานุภาพทางอากาศก็มีความแตกต่างกันด้วย
**กองทัพอัฟกานิสถาน**
มีนิทานปรัมปราที่เล่าขานกันในแถบเอเชียกลางเรื่องหนึ่ง บอกว่าในตอนที่มีการสร้างโลกขึ้นมานั้น พวกผู้คนซึ่งไม่สามารถเข้ากับสถานที่อื่นๆ ใดๆ ได้เลย ต่างก็ถูกกวาดให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งกลายเป็นอัฟกานิสถานในทุกวันนี้ ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ต่างพากันชื่นชอบนิทานเรื่องนี้ และข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า ในหมู่ประชากรของอัฟกานิสถานนั้น ชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดคือชาวปาชตุน (Pashtun) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 42% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ชาวทาจิก (Tajik) มีจำนวนเท่ากับ 27%, ชาวฮาซารา (Hazara) 9%, ชาวอุซเบก (Uzbek) 9% เช่นกัน, นอกจากนั้นยังมีชาวเตอร์โคเมน (Turkomen), ชาวไอแมก (Aimaq), และชาวบาโลช (Baloch) อีกชาติพันธุ์ละเล็กละน้อย
ถึงแม้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้จำนวนมากทีเดียว ได้ทำการสู้รบกับพวกรัสเซียที่เข้ามารุกรานยึดครองอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1980 และต่างเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองที่สามารถขับไล่ชาวรัสเซียออกไปได้ ทว่าพวกเขากระทำเรื่องนี้โดยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของขุนศึกหลายๆ คนที่ต่างเป็นปรปักษ์แย่งชิงอำนาจกันเองด้วย ไม่ใช่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายต่อต้านที่มีการรวมตัวอย่างเป็นเอกภาพ ชัยชนะจึงไม่ได้นำมาซึ่งจิตวิญญาณแห่งความปรองดองชาติหรือความสามัคคีในชาติ มีแต่นำมาซึ่งอีกยุคหนึ่งของความอาฆาตพยาบาทกันและการทำสงครามระหว่างกันเท่านั้น
กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ยังคงมีลักษณะของการแบ่งแยกไปตามชาติพันธุ์อย่างล้ำลึก พวกทหารลูกแถวนั้นประกอบด้วยชาวทาจิก, อุซเบก, และฮาซารา (หรืออาจจะเรียกรวมๆ ตามภูมิภาคในอัฟกานิสถานที่ชนชาติเหล่านี้พำนักอาศัยกันอยู่มาก ว่า เป็น “ชาวเหนือ”) ในสัดส่วนที่สูงผิดเพี้ยนจากตัวเลขเปอร์เซนต์ของประชากรไปมาก ขณะที่ในหมู่นายทหารสัญญาบัตร พวกปาชตุน (หรือ “ชาวใต้”) ก็มีสัดส่วนสูงอย่างผิดเพี้ยน เนื่องจากตอลิบานนั้นเป็นขบวนการของชาวปาชตุน จึงเกิดเหตุการณ์ไม่ใช่น้อยๆ ที่พวกทหารกองทัพแห่งชาติซึ่งเป็นคนปาชตุน ก่อการเข่นฆ่าสังหารทหารชาวเหนือตลอดจนพวกที่ปรึกษาชาวตะวันตก ความไม่ไว้วางใจกันระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ปรากฏพบเห็นกันได้ทั่วไป บางทีอาจจะอยู่ในระดับเลวร้ายยิ่งเสียกว่าในอิรักด้วยซ้ำ กระนั้น ก็ยังคงมีเหตุผลหลายอย่างหลายประการที่ทำให้มองโลกในแง่ดีได้อยู่
กองทัพอิรักนั้นแทบไม่มีประสบการณ์ในการสู้รบเอาเลย ในช่วงเวลา 11 ปีนับจาก ซัดดัม ถูกโค่นล้ม ไปจนถึงตอนที่กลุ่ม IS บุกโจมตีค่ายทหารต่างๆ ในภาคเหนือของอิรักเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทว่า กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานกลับคุ้นเคยผ่านศึกสงครามมาหลายปีแล้ว โดยในช่วงแรกๆ อาจจะยังต้องสู้รบในลักษณะคอยประสานเชื่อมโยงกับพวกทหารของชาติตะวันตก แต่กำลังสามารถที่จะทำศึกด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ยังลำบากที่จะระบุว่ากองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานเป็นกองทัพที่แข็งแกร่งยากที่ใครจะเอาชนะได้ แต่หน่วยกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพนี้ก็ผ่านการพัฒนายกระดับจนเกิดความมั่นใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ทหารชาวเหนือ ผู้ซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของตอลิบานมายาวนานอย่างน้อย 20 ปีแล้ว
พวกตอลิบานนั้น นอกจากมีศัตรูอย่างกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานแล้ว ยังต้องเผชิญกับกลุ่มปรปักษ์อื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ชนเผ่าชาวปาชตุนจำนวนมากทีเดียวได้มีการจัดตั้งกองกำลังอาวุธท้องถิ่นขึ้นเพื่อต่อต้านการกลับเข้ามาครองอำนาจอีกครั้งของกลุ่มตอลิบาน นอกจากนั้น ด้วยความโกรธกริ้วต่อพฤติการณ์สังหารเข่นฆ่าตลอดจนเผาทำลายโรงเรียนของตอลิบาน มีชาวปาชตุนบางส่วนได้จัดตั้งกองกำลังอาวุธอิสระขึ้นมา ซึ่งมุ่งต่อสู้คัดค้านทั้งกลุ่มกบฎก่อความไม่สงบเหล่านี้ และทั้งรัฐบาลในกรุงคาบูล สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีสำหรับพวกตอลิบาน แต่ก็ไม่เป็นผลดีสำหรับความปรองดองชาติภายหลังสงครามเช่นกัน
นอกจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังมีอย่างอื่นๆ อีกซึ่งกลายเป็นการสร้างความได้เปรียบให้แก่กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน
**กลุ่มตอลิบาน**
พวกนักรบจรยุทธ์ชาวปาชตุน ได้รับการยกย่องเทิดทูนให้อยู่ในฐานะระดับตำนาน อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ที่พวกเขาประสบความสำเร็จในการทำลายล้างกองทหารอังกฤษเมื่อปี 1842 หลังจากนั้นความปราชัยของกองทหารรัสเซียในอีกเกือบๆ 1 ศตวรรษครึ่งถัดมา ก็ยิ่งเพิ่มพูนฐานะความเป็นตำนานดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตาม บรรดาที่ปรึกษาของพวกนักรบปาชตุนในยุคทศวรรษ 1980 ต่างพากันโอดครวญว่า ถึงแม้นักรบมุจาฮิดีนชาวปาชตุน เป็นนักสู้ที่แข็งแกร่งทรดหด อีกทั้งเชี่ยวชาญรอบรู้ลักษณะภูมิประเทศเป็นอย่างดี ทว่าพวกเขาก็มีจุดอ่อนสำคัญตรงที่ชอบต่อต้านไม่ยอมรับคำชี้แนะเกี่ยวกับยุทธวิธีการสู้รบ จึงทำให้พวกเขาเคลื่อนไหวไปในทิศทางซึ่งสามารถทำนายได้ล่วงหน้า พวกเขามีความเชื่อมั่นในวิธีการเดิมๆ ที่ทำกันมาจนเป็นประเพณีปฏิบัติ เป็นความเชื่อมั่นอันแรงกล้าถึงขั้นเย่อหยิ่งและคับแคบ แม้กระทั่งเมื่อประสบความพ่ายแพ้ก็ยังไม่สามารถลบล้างความเชื่อมั่นเช่นนี้ได้
พวกนักรบของตอลิบานในทุกวันนี้ ก็ถูกพูดถึงในลักษณะอย่างนี้เหมือนกัน พวกเขาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความคล่องตัวหรือความสามารถในการปรับตัวในทางยุทธวิธี หรือการเกาะเกี่ยวรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น อย่างที่ชอบพูดกันว่าพวกไอเอสมีอยู่ เรื่องนี้ส่งผลจำกัดประสิทธิภาพของกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อต้องสู้รบกันในสงครามบั่นทอนกำลัง (war of attrition) เฉกเช่นทุกวันนี้ พวกเขาจะสามารถประคับประคองตนเองให้อยู่รอดในระยะยาวได้แค่ไหน
พวกนักรบไอเอสนั้นเป็นสานุศิษย์ผู้ศรัทธาในหลักคำสอนของพวกซาลาฟิสต์ (Salafist) หลักคำสอนนี้ผูกพันโยงโยพวกเขาเข้ามารวมกันอยู่ในการต่อสู้เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติคุณของอิสลาม ตลอดจนเพื่อรวบรวมประชาชนของอิสลามให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง และทำให้พวกเขามีพลังในการเกาะเกี่ยวรวมตัวกันเป็นหน่วยเดียว และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างมากมายเป็นพิเศษผิดธรรมดา อันที่จริง พวกผู้นำกลุ่มตอลิบานก็มีความเชื่อความศรัทธาคล้ายๆ กันนี้ ทว่าในหมู่ลูกแถวแล้วกลับเป็นพวกที่เคร่งครัดศรัทธาน้อยกว่านักหนา กลุ่มสู้รบต่างๆ ของตอลิบานประกอบขึ้นจากชาวไร่ชาวนาและพวกคนเลี้ยงสัตว์ โดยที่มีผู้อาวุโสของชนเผ่าเป็นคนเรียกระดมพลและจัดสรรปันส่วนกองกำลัง ทั้งนี้ความประสงค์สำคัญที่สุดของผู้อาวุโสเหล่านี้มักจะมีขอบเขตเพียงแค่การกำจัดคนต่างชาติให้พ้นออกไปจากเขตพื้นที่ของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาแทบไม่สนใจใยดีอะไรกับเป้าหมายที่สูงส่งเกินกว่านี้ ดังนั้นจึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่สง่างามแบบของพวกไอเอส พวกนักรบตอลิบานนั้นขบคิดแต่เฉพาะพื้นที่หุบเขาแถบบ้านเกิด ไม่ใช่เรื่องจักรวรรดิในเทพนิยายลึกลับห่างไกล
หลังจากกองทัพรัสเซียล่าถอยออกไปในปี 1989 นักรบจำนวนมากก็พากันประกาศชัยชนะแล้วเดินทางกลับไปบ้าน พวกเขาต้องการเพียงแค่นี้จริงๆ สภาวการณ์เช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อฤดูกาลแห่งการสู้รบครั้งต่อไปเริ่มต้นขึ้น และพวกผู้อาวุโสของชนเผ่าตลอดจนพวกที่จะมาเป็นกำลังนักรบ หันออกไปมองรอบๆ เขตพื้นที่ของพวกเขาและไม่พบคนต่างชาติใดๆ อีกแล้ว เหลืออยู่เพียงทหารกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน ซึ่งพวกเขาสามารถที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในรูปแบบที่ชาวอัฟกันปฏิบัติกันมานานช้านั่นคือการเจรจาต่อรองกัน และมันก็เป็นรูปแบบปฏิบัติซึ่งชาวอัฟกันส่วนใหญ่ นิยมชมชอบยิ่งกว่าการสู้รบต่อไปอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
**แสนยานุภาพทางอากาศ**
ถ้าหากตอลิบานต้องการที่จะกลับเข้าควบคุมพื้นที่ภาคใต้ของอัฟกานิสถานตลอดจนส่วนอื่นๆ ของประเทศให้สำเร็จแล้ว พวกเขาจะต้องเข้ายึดแนวป้อมค่ายที่กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานเฝ้ารักษาอยู่ ตลอดจนเมืองใหญ่แห่งต่างๆ เอาไว้ให้ได้ เรื่องนี้จำเป็นจะต้องเรียกระดมนักรบจำนวนเป็นร้อยๆ หรือกระทั่งเป็นพันๆ คนมารวมกำลังกัน และนั่นก็จะกลายเป็นเป้าหมายอันเปราะบางเมื่อเผชิญกับกำลังยิงชนิดถล่มทลาย อย่างเช่น ปืนครก, ปืนใหญ่, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสนยานุภาพทางอากาศ
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯและพันธมิตร สามารถลดทอนพลังในการบุกโจมตีของกลุ่มไอเอสในอิรัก รวมทั้งเปิดทางให้กองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ด และกองทัพอิรัก ทำการรุกตอบโต้อีกด้วย ถึงแม้ยังคงเป็นการรุกตอบโต้ที่อืดอาดเชื่องช้าเหลือเกินก็ตามที ในพื้นที่ภาคเหนือของซีเรีย บริเวณรอบๆ เมืองโคบานี (Kobane) ที่ถูกพวกไอเอสปิดล้อม แสนยานุภาพทางอากาศของฝ่ายพันธมิตรได้ถูกใช้เล่นงานนักรบไอเอส และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่กองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวเคิร์ด ผลลัพธ์ของสงครามชิงเมืองโคบานีนี้จะออกมาอย่างไร ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่การสู้รบที่นี่กำลังกลายเป็นแบบฉบับซึ่งส่งเสริมให้กำลังใจ และน่าจะเป็นแม่แบบซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในที่แห่งอื่นๆ ได้
การทำศึกคล้ายๆ กันนี้ ก็กำลังเกิดขึ้นในฤดูสู้รบปีนี้ของอัฟกานิสถานด้วยเหมือนกัน พวกตอลิบานสามารถที่จะรวมศูนย์กำลังทหารหลายร้อยคน เข้ารายล้อมที่มั่นต่างๆ ของกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน และการโจมตีที่ติดตามมาก็มักประสบความสำเร็จอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานสามารถที่จะยึดที่มั่นซึ่งสูญเสียไปกลับคืนมาได้ --ด้วยความช่วยเหลือจากกำลังทางอากาศของฝ่ายตะวันตก ความสูญเสียของพวกตอลิบานอยู่ในระดับสูงทีเดียว เช่นเดียวกับทางกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน
คณะรัฐบาลชุดปัจจุบันของสหรัฐฯ ดูจะมีความยินดีนักหนา ถ้าหากสามารถถอนตัวออกจากอิรักและอัฟกานิสถานได้ ทว่าเหตุการณ์หลายอย่างเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความปราชัยที่ทำท่าว่ากำลังจะเกิดขึ้น แม้กระทั่งเป็นความพ่ายแพ้ในดินแดนอันไกลโพ้น ก็ไม่ใช่ลางดีสำหรับประธานาธิบดีในทำเนียบขาวเลย เรตติ้งความยอมรับผลงานตกวูบ เช่นเดียวกับลู่ทางโอกาสสำหรับพรรคของเขาในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป สหรัฐฯจึงยังจะต้องรักษาฝูงอากาศยานไร้นักบิน, เครืองบินขับไล่, และเฮลิคอปเตอร์กันชิป ขนาดใหญ่โตเอาไว้ เพื่อไว้ใช้ป้องปราม หรือกระทั่งใช้ทำลายล้างการโจมตีของพวกตอลิบาน ถ้าหากมีโอกาสจะทำได้ สถานการณ์ทำนองเดียวกันนี้ น่าที่จะเกิดขึ้นในยุทธบริเวณอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย ตั้งแต่ มาลี ไปจนถึงซีเรีย ไปจนถึงอิรัก และอัฟกานิสถาน สหรัฐฯจะใช้กองทหารภาคพื้นดินที่มีวินัยของชาวพื้นเมือง มาล่อให้พวกอิสลามิสต์สุดโต่งรวมศูนย์กำลังทหาร จากนั้นสหรัฐฯก็จะเข้าถล่มโจมตีนักรบสุดโต่งเหล่านี้จากทางอากาศอย่างไร้ความปรานี สงครามบั่นทอนกำลังเช่นนี้จึงกำลังจะบังเกิดขึ้น หรือไม่ก็กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว ในยุทธบริเวณจำนวนมาก
**แรงสนับสนุนระดับภูมิภาค**
การที่กลุ่มไอเอสรุกคืบเข้าไปในอิรัก ได้ทำให้ความเป็นศัตรูกันในทางนิกายศาสนาในอ่าวเปอร์เซีย ทวีความดุเดือดเข้มข้นมากขึ้นอีก ซึ่งกลายเป็นการจำกัดหน่วงรั้งความสามารถในการเข้ายุ่งเกี่ยวแทรกแซงของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนั้นลงมาอย่างมหาศาล เป็นต้นว่าถ้าอิหร่านเข้าแทรกแซงในอิรัก ย่อมจะก่อให้เกิดความโกรธขึ้งและบางทีอาจจะมีการตอบโต้อย่างไม่ยั้งคิดจากบรรดารัฐสุหนี่ ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายสุหนี่เป็นผู้เข้าไปแทรกแซง ก็คงจะเผชิญความเสี่ยงทำนองเดียวกันจากอิหร่าน ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้คนที่อยู่วงนอกเป็นผู้ทำการแทรกแซง ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือฝ่ายอเมริกัน
ถึงแม้ในอัฟกานิสถานนั้นใช่ว่าจะปลอดจากความตึงเครียดอันสืบเนื่องจากนิกายศาสนา ทว่าอยู่ในระดับที่อ่อนกว่าในอิรักมากมายนัก ผู้คนชาวเหนือ ไม่ว่าจะเป็นชิอะห์หรือสุหนี่ ต่างก็ร่วมไม้ร่วมมือกับอิหร่าน ซึ่งพวกเขามีความสนิทชิดเชื้อในทางวัฒนธรรม เป็นต้นว่า ในทางภาษาและในทางวรรณกรรม นอกจากนั้นพวกเขายังมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกันอีกด้วย
สำหรับชาวฮาซารา ที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางของอัฟกานิสถานนั้น เป็นพวกนับถืออิสลามนิกายชิอะห์ ครูสอนศาสนาของพวกเขาต่างก็เคารพเชื่อฟังคำสอนคำเทศนาจากบรรดาอยาโตลเลาะห์ชาวอิหร่าน ชาวฮาซาราถูกสังหารหมู่ไปเป็นพันๆ คนด้วยฝีมือของพวกตอลิบาน และก็มีนักการทูตอิหร่านจำนวนหนึ่งถูกฆ่าตายเมื่อตอลิบานเข้ายึดสถานกงสุลอิหร่านในเมืองมาซาร์-อี-ชาริฟ (Mazar-i-Sharif) เมื่อปี 1998 อิหร่านได้เคยหนุนหลังประชาชนชาวเหนือในระหว่างการทำสงครามกับสหภาพโซเวียต และหนุนหลังพวกเขาต่อมาหลังจากทหารรัสเซียล่าถอยออกไป แล้วยังคงส่งความช่วยเหลือและที่ปรึกษามาให้ในระหว่างการทำสงครามอันยาวนานกับตอลิบาน (หมายถึงช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 ซึ่งหลังจากนั้นสหรัฐฯจึงหวนกลับมาสนใจอัฟกานิสถาน โดยนำกำลังกองทัพพันธมิตรบุกเข้าโค่นล้มระบอบปกครองตอลิบานไปในปลายปีนั้น -หมายเหตุผู้แปล) –ในช่วงเวลาที่ชาวเหนือทั้งหลายจดจำไว้ได้เป็นอันดีว่า ฝ่ายอเมริกันไม่ได้แสดงความสนใจใยดีอะไร
อิหร่านมองพวกตอลิบานว่าเป็นลัทธิบ้าคลั่งหัวรุนแรงของสุหนี่ ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากประดานายพลชาวปากีสถานผู้เหลาะแหละหลายใจ และได้รับการสนับสนุนอย่างอ้อมๆ จากพวกเจ้าชายซาอุดีอาระเบียที่เป็นปรปักษ์กับตน อิหร่านจะไม่มีทางยินยอมให้พวกตอลิบานหวนกลับเข้ามายึดครองดินแดนผืนใหญ่ๆ ของประเทศซึ่งพวกนี้เคยพิชิตไปได้ในช่วงทศวรรษ 1990 อีกแล้ว เฉกเช่นเดียวกับที่จะไม่ยินยอมให้พวกไอเอสเคลื่อนเข้าไปในเขตที่อยู่ใกล้ๆ แนวชายแดนอิหร่าน อิหร่านจะเข้าแทรกแซงทั้งด้วยกำลังทหารภาคพื้นดินและแสนยานุภาพทางอากาศ ในกรณีที่พวกตอลิบานบุกตะลุยเข้าสู่เขตภาคเหนือของอัฟกานิสถาน –อันเป็นเหตุการณ์ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ตราบเท่าที่สหรัฐฯยังคงมีบทบาทเกี่ยวข้องอยู่
นอกจากนั้น ชาวเหนือยังสามารถพึ่งพาความสนับสนุนของอินเดียและรัสเซียด้วย ฝ่ายแรกนั้นต้องการที่จะสกัดกั้นไม่ให้ปากีสถานขยายการพาณิชย์และความสนใจเข้าไปในเอเชียกลาง รวมทั้งต้องการที่จะรักษาฐานะของอินเดียในภูมิภาคดังกล่าวให้มั่นคงอีกด้วย ส่วนมอสโกมองว่าการก้าวผงาดขึ้นมาของอิสลามแบบหัวรุนแรง เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อพวกอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง เป็นต้นว่า เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, และคีร์กิซสถาน รวมทั้งเป็นภัยคุกคามโดยอ้อมต่อภูมิภาคมุสลิมที่มีปัญหาความไม่สงบอยู่แล้วของรัสเซียเองด้วย ทั้งอินเดียกับรัสเซีย ก็เช่นเดียวกับอิหร่าน เคยหนุนหลังชาวเหนือในการต่อสู้กับพวกตอลิบาน ส่วนสำหรับจีน ซึ่งกลายเป็นผู้ชนะรางวัลขุมทรัพย์ทรัพยากรธรรมชาติของอัฟกานิสถานรายใหญ่ที่สุดนั้น มีความปรารถนาที่จะให้เกิดเสถียรภาพ --โดยมุ่งใช้วิธีให้การอุดหนุนช่วยเหลือและวิธีการทูต มากกว่าการใช้กำลังอาวุธ
ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ พวกตอลิบานสามารถยึดครองพื้นที่จำนวนมากทีเดียวในภาคใต้และภาคตะวันออกของอัฟกานิสถาน ในเวลาไม่กี่เดือนไม่กี่ปีจากนี้ไป พวกเขาน่าจะยึดได้เพิ่มขึ้นอีก แต่จะถึงขั้นกลับเข้ามาพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990 พวกเขาน่าจะไม่สามารถกระทำได้ เพราะถึงแม้กองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานไม่ได้เป็นพลังสู้รบที่มีความเป็นมืออาชีพ แต่ก็มีจิตวิญญาณการสู้รบในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นพวกเขายังมีพันธมิตรที่เป็นกองกำลังอาวุธท้องถิ่น, แสนยานุภาพทางอากาศของสหรัฐฯ, และความสนับสนุนในระดับภูมิภาคอีกด้วย
กองทัพแห่งชาติปากีสถานจะไม่เข้าสู้รบกับพวกตอลิบานในสงครามชี้เป็นชี้ตาย อันที่จริงแล้วสงครามชนิดนั้นก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำไป ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลในกรุงคาบูลไม่น่าที่จะชนะใจประชาชนได้ ด้วยเทคนิควิธีการแบบการต่อต้านการก่อความไม่สงบ (counterinsurgency techniques) หลักการต่างๆ แบบการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ดูจะไม่ค่อยเข้ากันนักกับพื้นที่เทือกเขาสูงและที่ราบหุบเขาของอัฟกานิสถาน
ฝ่ายรัฐบาลคาบูลจะต่อสู้กับพวกตอลิบานในการรบขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมาก ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นการสู้รบจากที่มั่นซึ่งเป็นป้อมปราการชั้นดี, รายล้อมด้วยแนวลวดหนาม, กับระเบิด, และพื้นที่ซึ่งถูกวางไว้ล่วงหน้าให้เป็นเป้าหมายของปืนครกกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถาน การโจมตีของตอลิบานจะสร้างความเสียหายหนักหน่วงให้แก่ทั้งสองฝ่าย ทว่าสงครามบั่นทอนกำลังเช่นนี้ไม่ได้เป็นผลดีต่อพวกตอลิบาน ผู้ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่านักหนา เมื่อเทียบกับฝ่ายกองทัพแห่งชาติอัฟกานิสถานและพันธมิตร
ไบรอัน เอ็ม ดาวนิ่ง เป็นนักวิเคราะห์ด้านการเมือง-การทหาร เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Military Revolution and Political Change และ The Paths of Glory: Social Change in America from the Great War to Vietnam ตลอดจนร่วมกับ แดนนี่ ริตต์แมน (Danny Rittman) เขียนหนังสือเรื่อง The Samson Heuristic สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ brianmdowning@gmail.com