เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน เสนอในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) ที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวันพฤหัสบดี (13 พ.ย.) ว่าแดนมังกรพร้อมทำ “สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ” กับประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน แต่ก็ย้ำด้วยว่าข้อพิพาทในทะเลจีนใต้นั้นควรแก้ไขด้วยการเจรจาโดยตรงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ขณะที่ทางด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ ซึ่งมีนัดหารือประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เจ้าภาพการประชุมคราวนี้ หันไปเน้นหนักผลักดันการเปลี่ยนแปลงในพม่า โดยแสดงความกังวลว่า การปฏิรูปบางส่วนไม่เพียงล่าช้าแต่ยังถึงขั้นถอยหลังเข้าคลอง
ทั้งจีน ไต้หวัน และ 4 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อนเหนือหลายพื้นที่ในทะเลจีนใต้ กระทั่งหลายฝ่ายกังวลว่า อาจเกิดข้อพิพาทรุนแรง แม้ประเทศที่เกี่ยวข้องพยายามหาข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหานี้อยู่ก็ตาม
ระหว่างร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นรายการใหญ่ปิดท้ายการประชุมซัมมิตสมาคมอาเซียน 2 วันที่พม่าคราวนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่กล่าวว่า จีนพร้อมที่จะเป็นชาติคู่เจรจาของอาเซียนชาติแรก ที่ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือกับทางสมาคมอาเซียน
ข้อเสนอเรื่องสนธิสัญญานี้ ถูกมองว่าเป็นความพยายามของปักกิ่งที่ต้องการลบล้างภาพลักษณ์ของตน ซึ่งถูกหลายชาติอาเซียนมองว่าแข็งกร้าวและมุ่งคุกคาม
กระนั้น นายกรัฐมนตรีแดนมังกรย้ำด้วยว่า จีนมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการปกป้องอธิปไตยของตน รวมทั้งยึดมั่นกับจุดยืนที่ว่าข้อพิพาทในเรื่องเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ทั้งหลาย ควรแก้ไขด้วยการเจรจาโดยตรงแบบทวิภาคี มากกว่าเจรจากันแบบพหุภาคี หรือยื่นเรื่องให้อนุญาโตตุลาการตัดสิน
กรณีพิพาททะเลจีนใต้นี้ ถือเป็นความตึงเครียดซึ่งแฝงตัวอยู่ในบรรยากาศของการประชุมอีเอเอส
ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์ หนึ่งในชาติอาเซียนที่อ้างสิทธิดินแดนบางส่วนทับซ้อนกับจีนอยู่ ได้ทำให้ปักกิ่งเดือดดาล ด้วยการยื่นเรื่องให้ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศวินิจฉัย จากการที่จีนอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำเกือบ 90% ในทะเลจีนใต้
แหล่งข่าวทางการทูตจากฟิลิปปินส์หลายรายแสดงท่าทีเย็นชาต่อข้อเสนอสนธิสัญญาของจีน โดยบอกว่าไม่ได้มีการระบุสาระสำคัญอย่างจริงจัง อีกทั้งไม่ต่างจากข้อเสนอของมะนิลาเมื่อปี 2012 ซึ่งปักกิ่งเพิกเฉยในขณะนั้น
ทั้งนี้ หลี่ยังมีกำหนดปิดประตูประชุมพบปะกับเหล่าผู้นำอาเซียนในตอนค่ำวันพฤหัสบดี (13) โดยพวกผู้นำอาเซียนหวังว่าจะสามารถโน้มน้าวเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รายนี้ให้ลดท่าทีแข็งกร้าวในการอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้
ฟิลิปปินส์และเวียดนามนั้น พยายามกระชับสัมพันธ์กับอเมริกาเพิ่มมากขึ้น เพื่อต่อต้านทัดทานความก้าวร้าวของพญามังกร โดยในช่วงค่ำวันพฤหัสบดี เหวียน เติ๋น หยุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จะหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรกกับประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงเนปิดอว์ด้วย
นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังมีกำหนดหารือกับนายกรัฐมนตรีเต็ง เส่ง ของพม่าคืนวันพฤหัสบดี โดยก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เขาได้พบปะหารือกับอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของแดนหม่อง พร้อมๆ กับสมาชิกรัฐสภาของพม่าอีกหลายคน
โอบามากล่าวภายหลังการหารือว่า เป็นการพูดจากันอย่างดีเลิศเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า ซึ่งสิ่งที่เป็นผลดีบางอย่างบางประการกำลังได้รับการปลูกฝังให้แน่นหนาแข็งแรง แต่งานทางด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็ยังไม่เสร็จสิ้น
ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์ “อิรวดี” เว็บไซต์ข่าวของพม่า ซึ่งได้นำออกเผยแพร่ในวันพฤหับดี โดยเขากล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่จะหยิบยกขึ้นหารือกับผู้นำพม่า
“หนึ่งในข้อความสำคัญที่ผมต้องการถ่ายทอดในระหว่างการเยือนครั้งนี้ คือ รัฐบาลพม่ามีความรับผิดชอบในการรับประกันความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งหมดในประเทศ รวมทั้งเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน”
โอบามาสำทับว่า แม้มีความคืบหน้าบ้างในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทว่า การปฏิรูปในด้านอื่นๆ กลับล่าช้าหรือกระทั่งถอยหลัง
“นอกจากจำกัดเสรีภาพสื่อแล้ว เรายังคงเห็นการข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อย ทั้งการสังหาร ข่มขืน และบังคับใช้แรงงาน”
ขณะที่ เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของโอบามา เผยว่า ระหว่างที่อยู่ในพม่า ประมุขทำเนียบขาวเตรียมเรียกร้องสิทธิแทนชาวมุสลิมโรฮิงญาในทุกวาระที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาราว 140,000 คนในค่ายพักที่มีสภาพน่าหดหู่ ในรัฐยะไข่ ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของพม่า ภายหลังเหตุรุนแรงทางศาสนาเมื่อ 2 ปีก่อนที่ทำให้ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เสียชีวิตจำนวนมาก และบ่อนทำลายเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของพม่า
วันพุธ (12) บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ได้แสดงความกังวลต่อสวัสดิภาพของชาวโรฮิงญาเช่นเดียวกัน ระหว่างที่เขาหารือกับรัฐบาลพม่า