เอเจนซีส์ - ทีมสอบสวนกรณี “สเปซชิปทู” ประสบอุบัติเหตุ ระบุเมื่อวันจันทร์ (3 พ.ย.) หนึ่งในประเด็นสำคัญของการค้นหาสาเหตุการตกของยานท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ลำนี้ ได้แก่เรื่องความผิดพลาดของมนุษย์ โดยที่ล่าสุดทีมงานสามารถระบุลำดับเวลาสิ่งที่เกิดขึ้นกับยานขณะทำการบินทดสอบจนกระทั่งตกพังพินาศในวันศุกร์ (31 ต.ค.) รวมทั้งวินาทีที่กลไกชะลอความเร็วถูกเปิดใช้งานก่อนกำหนด แต่ยังไม่ฟันธงว่า นักบินคนใดเป็นผู้เปิดล็อกกลไกดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีคำถามค้างคาอีกหลายข้อ เป็นต้นว่า นักบิน 1 ใน 2 คนนี้หนีออกมาจากยานได้อย่างไร และเหตุใดจึงสามารถรอดชีวิต ทั้งที่สเปซชิปทูอยู่ในระดับความสูงที่เกือบปราศจากออกซิเจนโดยสิ้นเชิง
ย้อนกลับไปเมื่อวันอาทิตย์ (2) เจ้าหน้าที่สอบสวนของคณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐฯ (NTSB) ระบุว่า คันโยกล็อก/ปลดล็อก ที่ใช้เปิดกระบวนการทำงานของส่วนหางยานสเปซชิปทู ซึ่งปกติแล้วคือการลดความเร็วเพื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ได้ถูกโยกโดยไมเคิล อัลส์เบอรี นักบินผู้ช่วย ซึ่งได้เสียชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนี้
ทว่า ในการบรรยายสรุปการสอบสวนในที่เกิดเหตุขั้นสุดท้ายเมื่อค่ำวันจันทร์ (3) คริสโตเฟอร์ ฮาร์ต รักษาการประธาน NTSB ยอมรับว่าข้อมูลไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น โดยภาพจากกล้องในห้องนักบินเผยให้เห็นเพียงว่านักบินที่นั่งด้านขวาเป็นคนเลื่อนคันโยก แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็น อัลส์เบอรี หรือว่าเป็น พีท ซีโบลด์ นักบินที่รอดชีวิตมาได้แต่ได้รับบาดเจ็บสาหัส
อย่างไรก็ดี NTSB สามารถระบุกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับเหตุการณ์นี้ เริ่มจากสเปซชิปทูถูกปล่อยจากยานแม่คือ ไวท์ไนท์ทู ที่ระดับความสูง 45,000 ฟุต (13,725 เมตร) เมื่อเวลา 10.07 น. 19 วินาที ของวันศุกร์ที่ 31 ต.ค. และเครื่องยนต์ของสเปซชิปทูเริ่มทำงานในอีก 2 วินาทีหลังจากนั้น
เวลา 10.07 น. 29 วินาที ความเร็วจรวดถึงระดับ .94 มัค เพิ่มเป็น 1.02 มัคเมื่อเวลา 10.07 น. 31 วินาที ซึ่งภายในช่วงเวลา 2 วินาทีดังกล่าว คันโยกล็อก/ปลดล็อกถูกเลื่อน และกลไก “feathering” เริ่มทำงาน และเวลา 10.07 น. 34 วินาที ฟีดข้อมูลและวิดีโอจากยานลำนี้หายไป และยานแตกเป็นเสี่ยงเหนือทะเลทรายโมฮาวีในแคลิฟอร์เนีย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กลไก “feathering” ที่ทำหน้าที่ชะลอความเร็วของยานระหว่างกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกและควบคุมให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง เริ่มทำงานอัตโนมัติหรือเป็นผลจากการเลื่อนคันโยก
ฮาร์ตแจงว่า คันโยกดังกล่าวไม่ควรเลื่อนก่อนที่ความเร็วของยานจะถึงระดับ 1.4 มัค และย้ำว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนอาจต้องใช้เวลานานถึง 12 เดือนก่อนที่จะสามารถระบุสาเหตุที่เป็นไปได้ของอุบัติเหตุครั้งนี้
รักษาการประธาน NTSB ยังบอกอีกว่า ปัจจัยเกี่ยวกับความผิดพลาดของมนุษย์จะเป็นหนึ่งในประเด็นสอบสวนสำคัญ รวมถึงประเด็นที่ว่า เหตุใดซีโบลด์จึงสามารถหนีออกจากยานและใช้ร่มชูชีพลงมาได้จากระดับความสูงดังกล่าวซึ่งเกือบปราศจากออกซิเจนโดยสิ้นเชิง รวมทั้งช่องทางที่เขาใช้ออกจากยาน ซึ่งไม่ใช่ประตูฉุกเฉินอย่างที่ควรจะเป็น
วันเดียวกันนั้นก่อนการแถลงของ NTSB ริชาร์ด แบรนสัน นักธุรกิจใหญ่ของอังกฤษผู้ก่อตั้งเวอร์จิน กาแลกติก เจ้าของสเปซชิปทู เผยว่า กลไกชะลอความเร็ว “อาจเป็น” สาเหตุของอุบัติเหตุ พร้อมกันนั้นเขาก็ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนในอังกฤษ “ที่สร้างความเจ็บปวด” ตลอดจน “พวกที่อ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งแสดงความเห็นอย่างไร้ความรับผิดชอบ
การออกมาพูดของแบรนสันคราวนี้ มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ แคโรลีน แคมป์เบล ผู้เชี่ยวชาญด้านการขับเคลื่อนจรวดจากสมาคมระหว่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าทางด้านความปลอดภัยในอวกาศ ซึ่งตั้งสำนักงานในเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์ว่า เคยเตือนเวอร์จินเกี่ยวกับมอเตอร์และเชื้อเพลิงของสเปซชิปทูหลายครั้งตั้งแต่ปี 2007 ที่มีวิศวกร 3 คนเสียชีวิตจากการทดสอบจรวดบนพื้นดิน แต่ไม่ได้รับความสนใจ
แบรนสันนั้นมีแผนนำลูกค้ากระเป๋าหนักท่องเที่ยวอวกาศโดยคิดค่าบริการหัวละ 250,000 ดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่ปีหน้า กระนั้นคาดว่าอุบัติเหตุครั้งนี้น่าจะทำให้แผนการนี้ต้องเลื่อนออกไป
ตัวแบรนสันเองให้สัมภาษณ์ว่ายังจะเดินหน้าโครงการนี้หลังจากสามารถระบุสาเหตุการตกของสเปซชิปทูได้อย่างชัดเจนแล้ว โดยที่เขาและลูกชายจะเป็น “นักบินอวกาศคู่แรก” ในเที่ยวบินปฐมฤกษ์