เอเอฟพี - เกาหลีเหนือแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี(30ต.ค.) จะกักกันโรคชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศเป็นเวลา 21 วันโดยไม่สนว่าคนเหล่านั้นมาจากที่ใด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของอีโบลา ในขณะที่สหรัฐฯชาติคู่อริ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อมาตรการที่เข้มงวดเกินไปและยังเลือกปฏิบัติอีกด้วย
อังกฤษซึ่งมีสถานทูตอยู่ในกรุงเปียงยาง ออกคำแนะนำด้านการเดินทางบนเว็บไซต์ของรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดี(30ต.ค.) โดยให้รายละเอียดคำสั่งกักกันโรคของทางการเกาหลีเหนือ ที่แจ้งถึงสถานทูตต่างชาติทุกแห่งในเมืองหลวง ว่านักเดินทางทุกคนไม่ว่าจากภูมิภาคหรือประเทศใดๆที่เปียงยางเห็นว่าได้รับผลกระทบจากไวรัสอีโบลา จะถูกกักกันโรคเพื่อสังเกตอาการด้านการแพทย์เป็นเวลา 21 วัน ในโรงแรมที่ทางรัฐบาลกำหนด
ส่วนนักเดินทางจากประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆก็จะถูกกักกันโรค ตามโรงแรมต่างๆที่ได้รับมอบหมายจากทัวร์ที่เป็นเจ้าภาพต้อนรับการมาเยือนของคนเหล่านั้น ขณะที่บุคลากรด้านการทูตและสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศต่างที่พำนักอยู่ในเกาหลีเหนือจะถูกกันกันโรคตามสถานทูตของแต่ละคน อย่างไรก็ตามไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคำสั่งกักกันเหล่านี้ครอบคลุมถึงนักเดินทางที่อยู่ในเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ก่อนจะมีการประกาศออกมาหรือไม่
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือแจ้งว่ากำลังปิดพรมแดนไม่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติสืบเนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ แม้ว่าจนถึงตอนนี้ชาติคอมมิวนิสต์แห่งนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่คนเดียวก็ตาม กระนั้นมาตรการดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการและด้านธุรกิจ
เคซีเอ็นเอ สำนักข่าวแห่งรัฐของเกาหลีเหนือรายงานว่าได้เริ่มมาตรการตรวจสอบเข้มงวดและกักกันโรคที่สนามบิน ท่าเรือและสถานีรถไฟตามแนวชายแดนไปแล้ว
ชาติคอมมิวนิสต์แห่งนี้ ซึ่งจำกัดการเข้าออกของชาวต่างชาติ เคยมีประวัติปิดประเทศมาแล้วยามที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขจากโลกภายนอก โดยในปี 2003 พวกเขาระงับทัวร์ต่างชาติเป็นเวลา 3 เดือน สืบเนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส
การแพร่ระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก คร่าชีวิตผู้คนแล้วมากกว่า 4,900 คน ส่วนใหญ่อยู่ในไลบีเรีย กินีและเซียร์ราลีโอน แต่ก็มีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่ามันจะแผ่ลามสู่ดินแดนอื่นๆ หลังพบผู้ติดเชื้อทั้งในสเปนและสหรัฐฯ จนบางมลรัฐของอเมริกา อย่างนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์ก ต้องกำหนดมาตรการกักกันโดยอัตโนมัติต่อบุคลากรด้านการแพทย์ที่กลับจากไปรักษาคนไข้อีโบลาในแอฟริกาตะวันตก
มาตรการกักกันโรคโดยอัตโนมัติ 21 วันต่อแพทย์และพยาบาลที่กลับจาก 3 ชาติแอฟริกาตะวันตกของมลรัฐนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งมีความเข้มข้นเกินกว่าคำแนะนำของรัฐบาลกลางก่อข้อถกเถียงต่างๆนานา ตามหลังเคซี ฮิกค็อกซ์ พยาบาลที่เพิ่งกลับจากไปดูแลผู้ป่วยอีโบลาในเซียร์ราลีโอน ถูกกักกันโรคในเตนท์ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งของนวร์ก ทั้งที่เธอไม่แสดงอาการป่วยใดๆ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ารู้สึกเหมือนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ฮิกค็อกซ์ ได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลแล้วในวันจันทร์ (27 ต.ค.) แต่ทางมลรัฐ ยังยืนยันว่าจะบังคับใช้นโยบายนี้ต่อไป แม้ว่าเธอขู่จะเล่นงานทางกฎหมายก็ตาม
ในวันพฤหัสบดี(30ต.ค.) มีรายงานว่า ฮิกค็อกซ์ เพิกเฉยต่อคำสั่งของมลรัฐที่ให้กักตัวอยู่แต่ภายในบ้านพัก โดยเธอควงแฟนปั่นจักรยานออกจากบ้านในรัฐเมน ท่ามกลางการจับตาโดยกล้องของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆและเสียงเอะอะโวยวายของสื่อมวลชน ทั้งคู่ปั่นจักรยานผ่านไปโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวและมีรถยนต์ตำรวจ 2 คันคอยติดตาม
พยาบาลฮิกค็อกซ์ ถูกแยกตัวกักกันโรคในเตนท์ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเป็นเวลา 3 วัน หลังเดินทางกลับมาจากเซียร์ราลีโอน แต่พอเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นายคริส คริสตี ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ ก็ยอมปล่อยเธอกลับบ้าน และเธอก็ขับรถกลับไปยังรัฐเมน แต่ยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งกักกันตนเอง
ฮิลค็อกซ์ ประกาศต่อสู้กับรัฐเมน ซึ่งต้องการกักกันโรคเธอต่ออีก 12 วัน เนื่องจากอีโบลามีช่วงเวลาฟักตัว 21 วัน อย่างไรก็ตามทางรัฐเมนบอกว่าหากจำเป็นจริงๆก็จะร้องขอให้ศาลออกคำสั่งให้เธออยู่แต่ภายในบ้านพัก
นอกจากนี้แล้วในสหรัฐฯ ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับมาตรการกักกันโรคที่เลือกปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่บางส่วน ในนั้นรวมถึงคำสั่งของกองทัพอเมริกา ที่ให้กักกันโรคนายทหารทุกนายที่กลับจากแอฟริกาตะวันตก ทั้งที่นายทหารเหล่านั้นถูกส่งไปทำงานด้านก่อสร้างคลินิกทางการแพทย์เท่านั้นและแทบไม่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ติดเชื้อไวรัสเลย
ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เรียกร้องอเมริกันชนตอบสนองต่อไวรัสอีโบลาด้วยข้อเท็จจริงไม่ใช่ความกลัว อย่างไรก็ตาม เขาสนับสนุนแนวทางของกองทัพ ระบุบุคลากรทางทหารอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นพลเรือน