ออสเตรเลียผ่านกฎหมายใหม่ในวันนี้ (30 ต.ค.) ที่จะเอาผิดกับผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่สำคัญของกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นมาตรการต่อต้านก่อการร้ายที่มุ่งเป้าหยุดยั้งไม่ให้พวกนักรบญิฮัดเดินทางเข้าไปในอิรักและซีเรีย
รัฐบาลออสเตรเลียมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการหลั่งไหลเข้าไปในตะวันออกกลางของบรรดานักรบต่างชาติ ที่ไปร่วมมือกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างๆ อย่างเช่น กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งเชื่อกันว่ามีชาวออสเตรเลียกว่า 70 รายทำเช่นนั้นไปแล้ว
กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายฉบับปรับปรุงใหม่เกี่ยวกับนักรบต่างชาติ ได้กำหนดให้ถือว่า ผู้ที่เข้าไปยังพื้นที่ซึ่งถูกประกาศให้เป็นจุดที่มีการดำเนินกิจกรรมขององค์กรก่อการร้าย โดยไม่มีเหตุจำเป็นที่ถูกต้องเหมาะสม มีความผิดตามกฎหมาย โทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี
“กฎหมายที่เกี่ยวกับนักรบต่างชาติที่ผ่านรัฐสภาในวันนี้ คือก้าวแรกที่จะทำให้สามารถเอาผิดชาวออสเตรเลียที่ไปสู้รบร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น” นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ บอกต่อรัฐสภา
“มันยังทำให้เราสามารถตรวจสอบกลุ่มคนที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่นี่ได้ง่ายขึ้นด้วย รวมถึงช่วยให้ดำเนินคดีกับพวกนักเทศน์ที่เพาะบ่มความเกลียดชังให้กับผู้คนจนกลายเป็นผู้ก่อการร้าย” เขากล่าว
แอ็บบอตต์ระบุว่า มีชาวออสเตรเลียประมาณ 100 คนที่ให้การสนับสนุนเหล่านักรบญิฮัดผู้เดินทางไปสู้รบในตะวันออกกลาง ด้วยการชักชวนและให้เงินทุนจากในแดนจิงโจ้ โดยที่มีประมาณ 20 รายที่ไปสู้รบแล้วกลับมาอยู่ในออสเตรเลีย
“วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับพวกนักรบที่เดินทางกลับมาก็คือ ต้องหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาไปเสียตั้งแต่ทีแรก และผมได้แจ้งต่อรัฐสภาไปแล้วด้วยว่ามีชาวออสเตรเลียประมาณ 70 รายที่ถูกยกเลิกพาสปอร์ต ไม่ให้ออกเดินทาง เพื่อหยุดยั้งผู้ก่อการร้ายหรือผู้ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นผู้ก่อการร้าย” แอ็บบอตต์กล่าว
กฎหมายใหม่ฉบับนี้กำหนดให้บริษัทในออสเตรเลียที่ทำธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม จะต้องเก็บรักษาข้อมูลดิจิตอลของลูกค้าเอาไว้เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งรัฐมนตรีคมนาคม “มัลคอล์ม เทิร์นบูล” ระบุว่า ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้นั้น ไม่ได้รวมถึงเนื้อหาของการสื่อสาร
“เราแค่อยากจะทำให้แน่ใจว่า ศักยภาพของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ฝ่ายความมั่นคงรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ลดน้อยลงไปเพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่ต้องร้องขอการอนุมัติจากผู้ให้บริการในการรวบรวมข้อมูลเหล่านั้น” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม สมาคมทนายความออสเตรเลียได้ออกมาระบุว่า การเก็บข้อมูลลักษณะดังกล่าวนั้นละเมิดความเป็นส่วนตัว และทำให้ชาวออสเตรเลียไม่สามารถปกป้องตนเองจากหน่วยงานความมั่นคงที่อาจนำเอาข้อมูลบริษัทหรือข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
“ภายใต้กฎหมายนี้ ทุกครั้งที่คุยโทรศัพท์ ทุกครั้งที่มีการส่งข้อความ อีเมล หรือการสื่อสารออนไลน์ จะถูกเข้าถึงได้โดยหน่วยงานความมั่นคง อย่างหน่วยข่าวกรองเอเอสไอโอ หรือตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย” เกร็ก บาร์นส์ โฆษกของสมาคมทนายฯ ระบุในคำแถลง
ขณะที่อีกหนึ่งมาตรการความมั่นคงที่ออกมาเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามต่อต้านก่อการร้าย ก็ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกรงว่าบรรดานักข่าวอาจจะต้องติดคุกถึง 10 ปี หากพวกเขารายงานข่าวปฏิบัติการของหน่วยงานข่าวกรอง
อัยการสูงสุด จอร์จ แบรนดิส ได้คลายความกังวลนั้นด้วยการบอกว่า กฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์แบบของสโนว์เดน ไม่ได้เอาผิดกับการรายงานข่าวทั่วไป
ทั้งนี้ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ได้เปิดโปงข้อมูลต่างๆ ซึ่งรวมถึงการรายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว ว่ามีสายลับออสเตรเลียพยายามจะดักฟังโทรศัพท์ของอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน และคนใกล้ชิดของเขา สร้างความเสียหายให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ