เอพี/เอเอฟพี - กองทัพสหรัฐฯ วันนี้ (22 ต.ค.) ส่งตัวนาวิกโยธิน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมสาวประเภทสองชาวฟิลิปปินส์ ไปคุมขังที่ค่ายใหญ่ ของกองทัพฟิลิปปินส์ ในกรุงมะนิลา ขณะที่กองทัพแดนอินทรีกำลังได้รับแรงกดดันอย่างมหาศาลจากประชาชนแดนตากาล็อก ที่เรียกร้องให้นำตัวผู้ต้องสงสัยรายนี้ลงมาจากเรือรบ
ก่อนหน้านี้ ส.ต.โจเซฟ สกอตต์ เพมเบอร์ตัน นาวิกโยธินอเมริกันถูกคุมตัวไว้บนเรือรบ ยูเอสเอส เปเลลิลยู ซึ่งทอดสมอที่ฐานทัพเรืออ่าวซูบิก ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 80 กิโลเมตร ภายหลังที่พบว่าเขามีส่วนพัวพันกับการตายของ เจฟฟรีย์ เลาเด หรือเจนนิเฟอร์ สาวประเภทสองวัย 26 ปี
พล.อ.เกรกอริโอ กาตาปัง เสนาธิการฟิลิปปินส์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า วอชิงตันและมะนิลาได้เห็นพ้องต้องกันให้ส่งตัวเพมเบอร์ตัน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำตัวไปขังที่กรุงมะนิลาเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (22) เขากล่าวว่า เพมเบอร์ตันจะถูกคุมตัวไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ติดแอร์ ในกองบัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ โดยมีนาวิกโยธินสหรัฐฯ คอยเฝ้า ส่วนเจ้าหน้าที่ของกองทัพฟิลิปปินส์จะยืนรักษาความเรียบร้อยด้านนอกกองบัญชาการ
ตำรวจฟิลิปปินส์ และพยานเล่าว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา เพมเบอร์ตัน และเลาเด พบกันที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่งในเมืองโอลองกาโป ทางตอนเหนือของประเทศ จากนั้นทั้งสองก็พากันไปที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบศพของเลาเดในห้องน้ำ สารวัตรใหญ่ กิล โดมิงโก ชี้ว่า เห็นได้ชัดเจน ว่าเธอถูกจับกดน้ำในชักโครกจนเสียชีวิต
พล.ร.อ.ซามูเอล ล็อกเคลียร์ ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก ได้สั่งการไม่ให้เรือโจมตีสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ที่เพมเบอร์ตันประจำการอยู่ แล่นออกจากฟิลิปปินส์จนกว่าขั้นตอนการสืบสวนจะเสร็จสิ้นลง ทั้งนี้เรือลำดังกล่าวได้เข้าร่วมการซ้อมรบขนาดใหญ่ ร่วมกับกองทัพฟิลิปปินส์ที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม
ทั้งนี้ ตามข้อตกลงกำลังทหารที่มาเยือน (VFA) ซึ่งอนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯ เข้ามาซ้อมรบในประเทศได้นั้น มอบอำนาจให้ฟิลิปปินส์ดำเนินคดีสมาชิกกองทัพสหรัฐฯ ที่กระทำความผิดในแดนตากาล็อก แต่การควบคุมตัวผู้กระทำผิด นับตั้งแต่มีการกระทำความผิด จนกระทั่งการดำเนินคดีในศาลเสร็จสิ้นลงทุกขั้นตอนเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2009 ศาลฎีกาแดนตากาล็อกมีคำตัดสินให้เจ้าหน้าที่ในกองทัพสหรัฐฯ ต้องได้รับโทษคุมขังในฟิลิปปินส์
บรรดานักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย และกลุ่มชาตินิยมชาวฟิลิปปินส์ระบุว่า บทบัญญัติในการควบคุมตัวทหารอเมริกันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ข้อตกลงกำลังทหารที่มาเยือนมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ มากกว่า และบ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยของฟิลิปปินส์ ที่เคยเป็นอาณานิคมของจนกระทั่งปี 1946
กลุ่มฝ่ายซ้ายได้จัดการประท้วงเล็กๆ ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมะนิลา และที่ฐานทัพเรืออ่าวซูบิก ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรือรบ ยูเอสเอส เปเลลิลยู จอดอยู่ ได้เรียกร้องให้วอชิงตันส่งตัวเพมเบอร์ตันให้กับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของฟิลิปปินส์เพื่อดำเนินคดี และคุมตัวเขา พร้อมเรียกร้องให้บอกเลิกข้อตกลงทางการทหารที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกันเมื่อปี 1998 ฉบับนี้
เมื่อวันจันทร์ (20) ประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ได้ออกมากล่าวปกป้องข้อตกลงฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า อาชญากรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ และไม่ควรจะตัดสินคนทั้งประเทศจากการกระทำผิดของคนคนเดียว
ทางด้าน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันจันทร์ (20) ว่า วอชิงตันไม่ได้เรียกร้องอภิสิทธ์ให้กับผู้ต้องสงสัย เพียงแต่ปกป้องสิทธิของเขาเท่านั้น