เอเอฟพี - ครอบครัวของสาวประเภทสองชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกฆ่าตายหลังปิดฉากการซ้อมรบร่วมสหรัฐฯ - ฟิลิปปินส์ ได้ออกมาเรียกร้องด้วยความโกรธแค้น ให้ส่งตัวนาวิกโยธินอเมริกันเข้าคุกแดนตากาล็อก หลังมีพยานชี้ว่า ทหารนายนี้เป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับเหยื่อผู้เสียชีวิต
ครอบครัว และผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมกันตามท้องถนนวานนี้ (15) ได้รุมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมะนิลาว่าตอบสนองต่อเหตุฆาตกรรมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาล่าช้า ขณะที่คดีฆาตกรรมคดีนี้อาจกลายเป็นบททดสอบสำคัญของสายสัมพันธ์ด้านกลาโหมของมะนิลา กับวอชิงตัน
แฮร์รี โรเก ทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิตชี้ว่า “คดีนี้ไม่ใช่คดีฆาตกรรมธรรมดา แต่เป็นการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง” ระหว่างการแถลงข่าว ณ โอลองกาโป ซึ่งเป็นเมืองท่าทางในภาคเหนือของฟิลิปปินส์ สถานที่ที่ เจฟฟรีย์ เลาเด สาวประเภทสองวัย 26 ปีถูกพบเสียชีวิต
โรเก กล่าวว่า ตำรวจได้สรุปสาเหตุการตายว่า เลาเด เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ หลังถูกจับกดน้ำในชักโครก ในห้องพักที่ผู้ตายเช็คอินเข้าพักพร้อมผู้ต้องสงสัยเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ (11)
แม่ของผู้เสียชีวิตกล่าวเรียกร้องให้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเข้าคุกฟิลิปปินส์ทั้งน้ำตา ขณะยืนข้าง โรเก ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์
จูลิตา เลาเด แม่ของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า “ถึงเราเป็นคนจน แต่ก็มีสิทธิ์ร้องขอความยุติธรรมเหมือนกัน รัฐบาลไม่ควรเมินเฉยพวกเรา”
วานนี้ (15) ตำรวจฟิลิปปินส์ได้ส่งสำนวนให้อัยการ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะตั้งข้อหาฆ่าคนตายกับ ส.ต.โจเซฟ สกอตต์ เพมเบอร์ตัน หรือไม่
ชายชาวอเมริกันผู้นี้อาจถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต หากศาลฟิลิปปินส์ตัดสินว่า เขามีความผิดจริง
ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยยังคงถูกคุมตัวอยู่บนเรือรบอเมริกัน ที่ทอดสมออยู่ริมชายฝั่งเมืองโอลองกาโป
ทหารนาวิกโยธิน และทหารเรือราว 3,500 คนได้เดินทางเข้าร่วมซ้อมรบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกในช่วงวันที่ 29 กันยายน ถึง 10 ตุลาคม ซึ่งจัดขึ้นในหลายพื้นที่ของฟิลิปปินส์ รวมถึง ศูนย์ฝึกใกล้เมืองโอลองกาโป
วันนี้ (16) ตำรวจได้สกัดกั้นผู้ประท้วงราว 70 คนที่รวมตัวเดินขบวนหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงมะนิลา
กลุ่มผู้ชุมนุมได้ชูป้ายเรียกร้องให้ทูตสหรัฐฯ “ยอมส่งมอบตัวเพมเบอร์ตัน” ให้ฟิลิปปินส์ พร้อมวอนให้แดนตากาล็อกตัดสัมพันธ์ทางการทหารกับแดนอินทรี
วันนี้ (16) ชาร์ลส์ โฆเซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกมาปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น
โฆเซกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราจะทำเรื่องขอควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยอย่างเป็นทางการ ทันทีที่ศาลออกหมายจับ”
อย่างไรก็ตาม อัยการยังคงต้องตัดสินใจว่าจะส่งฟ้องศาล หลังการไต่สวนมูลฟ้องที่อาจกินเวลานานหลายสัปดาห์หรือไม่
โฆเซ กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องยึดมั่นในบทบัญญัติของข้อตกลงกำลังทหารที่มาเยือน (VFA) ซึ่งสองชาติพันธมิตรลงนามร่วมกันเมื่อปี 1998 โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงการรับผิดทางกฎหมายของกองกำลังสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์
ข้อตกลงกำลังทหารที่มาเยือนกำหนดให้ การคุมขังชาวอเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมในฟิลิปปินส์เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่ามะนิลาสามารถขอให้วอชิงตันสละสิทธิ์คุมขังผู้กระทำผิดได้ “ในกรณีพิเศษ”
เมื่อสอบถามว่า สหรัฐฯ จะยอมส่งตัวผู้ต้องสงสัยหรือไม่ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ก็ออกคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่า “การกระทำผิดกฎหมายใดๆ ก็ตามที่ก่อขึ้นโดยสมาชิกกองกำลังสหรัฐฯ จะถูกจัดการด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่เหมาะสม” ของสนธิสัญญากำลังทหารที่มาเยือนปี 1998
เมื่อปี 2006 ศาลฟิลิปปินส์ได้พิพากษาจำคุก ส.ต.แดเนียล สมิธ ทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ 40 ปีในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราชาวฟิลิปปินส์ 1 ปีก่อนหน้านั้น
สมิธได้รับอิสรภาพในปี 2009 ภายหลังผู้ที่กล่าวหาเขากลับคำให้การ ทำให้ศาลแดนตากาล็อกประกาศให้เขาพ้นผิด