เอเอฟพี - สื่อนอกตีข่าวประเทศไทยตั้งเป้าที่จะกลับไปยึดครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลกอีกครั้ง หลังจากสูญเสียตำแหน่งแชมป์ส่งออกข้าวไป 2 ปี ขณะที่ยังมีผลกระทบจากความผิดพลาดของนโยบายจำนำข้าว และต้องขายข้าวในราคาถูกเข้าสู่ตลาดโลก
นโยบายรับจำนำข้าวที่ทำให้ชาวนาสามารถขายข้าวให้แก่รัฐบาลในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ได้ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งในปี 2011 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ข้าวกว่า 18 ล้านตันที่รับซื้อมาแพงกว่าท้องตลาดก็กลายเป็นขุมทองของขบวนการโกงกิน
ประเทศไทย ถูกอินเดียผลักตกลงมาจากการเป็นแชมป์ส่งออกข้าวในปี 2012 หลังจากที่บรรดาผู้ซื้อต่างก็หันไปอุดหนุนข้าวจากแดนภารตะแทน เพื่อเป็นการตอบโต้ไทยที่พยายามจะกักตุนข้าวเพื่อดันราคาในตลาดโลก
อินเดียกับเวียดนามฮุบส่วนแบ่งข้าวในตลาดโลกของไทยอย่างอย่างรวดเร็ว โดยทางรัฐบาลอินเดียสนับสนุนให้มีการส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้น
การเข้ายึดอำนาจของ คสช. เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือจุดสิ้นสุดของนโยบายรับจำนำข้าว และกำลังดำเนินการลงโทษกลุ่มผู้กักตุนเพื่อที่จะให้ข้าวไทยมีราคาลดลงมาอยู่ที่ 450 ดอลลาร์ต่อตัน เท่ากับอินเดียและเวียดนาม ทำให้มีหลายคนมองว่าอุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทยกำลังจะฟื้นอีกครั้ง
"ผมแน่ใจว่าเราจะได้ตำแหน่งแชมป์ส่งออกข้าวกลับคืนมาในปีนี้" ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าว
จากข้อมูลของนายชูเกียรติ ตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนถึงวันที่ 2 กันยายน ไทยขายข้าวไปแล้ว 7 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าที่เคยขายในปี 2013 ตลอดทั้งปี และน่าจะขายได้ถึง 10 ล้านตันในสิ้นปีนี้ ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเรียกร้องให้ชาวนาให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น
ดาเรน คูเปอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากสภาธัญพืชนานาชาติ ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะกลับมาเบียดชิงตำแหน่งคืนจากอินเดียได้ในปี 2014 พร้อมกับอธิบายว่า ไทยได้เริ่มชิงส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญๆ ในแอฟริกาที่เคยเสียไปกลับมาได้แล้ว อาทิ ไนจีเรีย กาน่า โกตดิวัวร์
"ในปีหน้าจะเป็นของจริง ผมคิดว่าไทยจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างง่ายดาย" เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม คูเปอร์ ระบุว่า ยังคงต้องดูความเคลื่อนไหวของทางอินเดียด้วย หลังจากที่มีการส่งออกข้าวคุณภาพต่ำเป็นจำนวนมาก เพื่อทดแทนการขาดหายไปของข้าวไทยในช่วงที่ผ่านมา จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดวิกฤติอาหารโลกในขณะนั้น
บรรดาผู้ปกครองประเทศของไทยที่มาจากกองทัพต่างก็กำลังขบคิดกันอย่างหนักถึงวิธีการอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งรวมถึงข้าวและยางพารา
คสช. ได้จ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว จากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ก็ได้ยกเลิกนโยบายจำนำข้าวไปด้วย โดยหันไปเน้นเรื่องลดต้นทุนการผลิตแทน อย่างเช่นปุ๋ยและเครื่องจักร
นายไพฑูรย์ อุไรวงศ์ รองอธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า คสช. ได้การขอความร่วมมือจากบรรดาซัพพลายเออร์ให้ช่วยลดราคา ซึ่งบรรดาบริษัทต่างๆ ที่ได้รับการร้องขอต่างก็ตอบตกลง พร้อมกับเน้นย้ำว่า อยากให้ชาวนาปลูกข้าวที่มีคุณภาพ แทนการปลูกข้าวคุณภาพต่ำดังเช่นปีก่อนๆ
ในขณะที่การหยุดรับจำนำข้าวได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวนา ผู้เชี่ยวชาญบางรายกลับมองว่า เป็นมาตรการที่ดีและน่าจะมีประสิทธิภาพ
"มันเป็นเรื่องที่ดีกว่ามาก สำหรับการช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์และสินค้าเกษตรอื่นๆ" ฮิโรยูกิ โคนูมะ ผู้แทนประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กล่าว
ที่ผ่านมาบรรดานักวิจารณ์ต่างพากันรุมสับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยื่งลักษณ์ว่าได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับประเทศไทย สำหรับการจ่ายเงินซื้อข้าวจำนวนมหาศาลโดยไม่เกี่ยงคุณภาพ
ในสายตาของกลุ่มผู้ประท้วงที่ได้ออกมารวมตัวกันตามท้องถนนเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการยึดอำนาจของ คสช. นั้นมองว่านโยบายจำนำข้าวเป็นเพียงกลยุทธประชานิยมที่เอาเงินของชาติไปสร้างฐานเสียงในภาคเหนือและภาคอีสาน
อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถูกพบว่ามีความผิดในคดีที่เกี่ยวกับนโยบายรับจำนำข้าว และกำลังเผชิญหน้ากับขั้นตอนการฟ้องร้อง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เธอต้องถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย ระบุว่า แค่การลดต้นทุนเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ โดยมีการให้ข้อมูลว่า ชาวนาต้องลงทุนคิดเป็นเงินเฉลี่ยประมาณ 6,500 บาทต่อไร่ เพื่อปลูกข้าวให้ได้ 800 กิโลกรัม
"ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จะมีมูลค่าประมาณ 7,000 - 8,000 บาท ต่ำกว่ากว่าระดับราคาที่เหมาะสม ซึ่งควรจะอยู่ที่ 10,000 บาท" เขาอธิบาย
ทั้งนี้ คสช. ได้เสนอมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือ ไร่ละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาทุกข์ของชาวนา แต่จะจ่ายสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท