เอเอฟพี – แพทย์ชาวอเมริกันผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาขณะปฏิบัติงานอยู่ในเซียร์ราลีโอนถูกนำตัวเข้ารับการรักษาที่คลินิกของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) นอกกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวานนี้ (28)
ผู้ป่วยซึ่งไม่ได้รับการเปิดเผยชื่อรายนี้อาสาทำงานเป็นแพทย์ในหน่วยรักษาผู้ป่วยอีโบลา ซึ่งเป็นไวรัสเขตร้อนที่ได้คร่าชีวิตประชาชนในแอฟริกาตะวันตกไปแล้วกว่า 3,000 ราย นับตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วเป็นต้นมา
ศูนย์วิจัยทางการแพทย์กล่าวในถ้อยแถลงว่า “เราได้ตระเตรียมมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ ก่อนนำผู้ป่วยรายนี้เข้ามารักษาที่หน่วยวิจัยทางการแพทย์พิเศษของศูนย์การแพทย์เอ็นไอเอช ซึ่งถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อและผู้ป่วยหนัก”
“เจ้าหน้าที่ของหน่วยนี้ได้รับการฝึกอบรมเรื่องระเบียบควบคุมโรคติดต่ออย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อที่มีโอกาสติดต่อกันได้อย่างอีโบลา”
เอ็นไอเอช เน้นย้ำว่า การรักษาผู้ป่วยรายนี้ในสหรัฐฯ “มีความเสี่ยงน้อยที่สุด” ต่อผู้ป่วยรายอื่นๆ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เอ็นไอเอช และสาธารณชนอเมริกัน
ก่อนหน้านี้ มีแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คนและหมอสอนศาสนาคริสต์ที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาในไลบีเรีย ถูกส่งกลับมายังสหรัฐฯ เพื่อรับการรักษา และนับแต่นั้นมาก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า โลหิตบำบัดและเซรุ่มระยะฟื้นโรคสามารถใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสอีโบลาได้โดยทันที พร้อมกับมีการทดสอบความปลอดภัยเพื่อสร้างโอกาสในการผลิตวัคซีน
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนในท้องตลาดที่จะใช้รักษาเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ได้
เชื้อไวรัสอีโบลาติดต่อได้ด้วยการสัมผัสของเหลวจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และทำให้เกิดอาการเป็นไข้ , คลื่นไส้อาเจียน , ท้องร่วง และเลือดออกภายในอย่างรุนแรง
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในขณะนี้ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 6,500 คนในแอฟริกาใต้ และคร่าชีวิตพวกเขาไปแล้วเกือบครึ่ง