เอเอฟพี - อดีตนายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิร์ด แห่งออสเตรเลีย ยอมรับว่าตนรู้สึก “อับอาย” ที่เชื่อข่าวกรองของสหรัฐฯ จนยอมส่งทหารออสเตรเลียเข้าไปร่วมทำสงครามอิรักในปี 2003 แต่สุดท้ายกลับไม่พบ “อาวุธทำลายล้างสูง” อย่างที่อเมริกาอ้าง
อย่างไรก็ดี อดีตผู้นำแดนจิงโจ้ยังไม่เชื่อว่าสงครามโค่น ซัดดัม ฮุสเซน เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มนักรบญิฮาดหัวรุนแรงรัฐอิสลาม (ไอเอส) ขึ้นในอิรักและซีเรีย
โฮเวิร์ด ซึ่งครองเก้าอี้นายกฯระหว่างปี 1996-2007 เคยกล่าวในขณะนั้นว่า เขาตัดสินใจส่งทหารออสเตรเลียไปช่วยกองกำลังสหรัฐฯ และอังกฤษถล่มอิรักเพราะเชื่อว่ารัฐบาลแบกแดดมี “อาวุธทำลายล้างสูง” อยู่ในครอบครอง
“ผมถูกโน้มน้าวด้วยสำนวนภาษาที่หนักแน่นของหน่วยข่าวกรองอเมริกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2002” เขาให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เซเวน เน็ตเวิร์ก เมื่อค่ำวานนี้ (21)
“มันเป็นการรวบรวมข่าวกรองอเมริกันแบบย่อหน้าต่อย่อหน้า พวกเขาสรุปว่าอิรักต้องมีอาวุธทำลายล้างสูงอย่างแน่นอน และอาจจะถึงขั้นครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย”
“แต่ผมเชื่อว่ามันคงไม่ใช่การกุเรื่องหรอก อาจจะเป็นการสรุปข้อมูลผิดพลาดโดยอาศัยข่าวกรองที่มีอยู่ในเวลานั้น แต่ไม่ใช่การปั้นเรื่อง”
จนบัดนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าอิรักซุกซ่อนอาวุธทำลายล้างสูง ดังนั้น สิ่งที่อเมริกาอ้างจนนำมาสู่การทำสงครามที่ยืดเยื้อนานนับทศวรรษ และคร่าชีวิตทั้งพลเมืองอิรักและทหารต่างชาติไปหลายพันคน จึงปรากฏชัดเจนขึ้นทุกวันว่าเป็นข้ออ้างที่ไร้น้ำหนัก
“ผมรู้สึกอายเหลือเกิน ไม่อยากจะเชื่อว่าตัวผมเองก็เคยเชื่อถือข้อมูลพวกนั้นอย่างจริงจัง... ดังนั้น ผมยอมรับว่าอาย และเพียงต้องการอธิบายว่ามันไม่ใช่การจงใจหลอกลวง” โฮเวิร์ดกล่าว
อดีตผู้นำออสเตรเลียยังชี้ว่า การสรุปว่าสงครามอิรักเป็นบ่อเกิดของกลุ่มนักรบญิฮาดไอเอสที่บุกยึดพื้นที่ในอิรักและซีเรียอยู่อย่างกว้างขวางในเวลานี้ เป็นความคิดที่ไม่ถูก
“ปฏิบัติการของพวกไอเอสส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์ในซีเรีย ดังนั้น การสรุปง่ายๆ ว่าพวกเขาเกิดมาจากการที่สหรัฐฯบุกอิรักเมื่อปี 2003 จึงเป็นการตีความประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาด”
อย่างไรก็ดี แอนดรูว์ วิลกี ส.ส.ออสเตรเลียซึ่งเคยทำงานอยู่หน่วยข่าวกรองมาก่อน กล่าวหาว่า โฮเวิร์ด พยายาม “บิดเบือนประวัติศาสตร์” เพราะที่จริงหน่วยข่าวกรองแดนจิงโจ้ได้ส่งรายงานสรุปอย่างลับๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจของสหรัฐฯ และอังกฤษในการบุกอิรักให้ โฮเวิร์ด ทราบชัดเจนอยู่แล้วแต่ต้น
สำนักงานข่าวกรองออสเตรเลียยังแสดงความกังขาเรื่องที่วอชิงตันอ้างว่าอิรักมีอาวุธทำลายล้างสูง และได้เสนอข้อมูลโต้แย้งด้วยว่า โครงการพัฒนาอาวุธของอิรักไม่มีความต่อเนื่องและค่อนข้างจำกัด จึงไม่เป็นอันตรายแม้กระทั่งต่อประเทศเพื่อนบ้านในตะวันออกกลางเองด้วยซ้ำ
“ไม่สมควรเลยที่ จอห์น โฮเวิร์ด จะยกรายงานเพียงฉบับเดียวมาอ้างเป็นหลักฐานบิดเบือนประวัติศาสตร์เช่นนี้” วิลกี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อวันนี้ (22) พร้อมระบุด้วยว่า กลุ่มรัฐอิสลามนั้นก่อตัวขึ้นมาจากผลของสงครามอิรักอย่างไม่ต้องสงสัย
“ถ้าเราไม่ส่งทหารไปร่วมทำสงครามเมื่อ 11 ปีครึ่งที่ผ่านมา ก็จะไม่สร้างบริบทที่เกื้อหนุนให้พวกไอเอสปรากฏตัวและกล้าแข็งอย่างทุกวันนี้”