xs
xsm
sm
md
lg

สกอตแลนด์ลงประชามติชี้อนาคต คะแนนสุดคู่คี่-คนนับแสนยังไม่ตัดสินใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ชาวสกอตเข้าคูหาลงประชามติในวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.)ชี้อนาคตของเขตการปกครองและของสหราชอาณาจักร โดยโพลในวันสุดท้ายของการหาเสียงชี้ว่า ผู้คนหลายแสนยังไม่ตัดสินใจว่า ต้องการให้สกอตแลนด์เป็นเอกราช หรืออยู่ร่วมกับอังกฤษต่อเหมือนเช่นตลอด 307 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงชั่วโมงท้ายๆ ก่อนที่คูหาลงคะแนนจะเปิดในเช้าตรู่วันพฤหัสบดี (18) บรรดาผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างเรียกร้องให้ชาวสกอตฉกฉวยช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่อาจทำให้ครอบครัว เพื่อน และคนรัก ต้องมีความคิดเห็นแตกต่างกันไปคนละทาง

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวสกอต ทั้งที่อยู่บนเกาะห่างไกลในมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงเมืองใหญ่ที่สุดอย่างกลาสโกว์ จะต้องตอบคำถามในบัตรลงประชามติว่า “สกอตแลนด์ควรเป็นประเทศเอกราชหรือไม่”

ทั้งนี้ ทางการสกอตแลนด์จะเปิดให้ใช้สิทธิ์ไปจนถึงเวลา 21.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (เวลาไทย 04.00 น. วันศุกร์) และคาดว่าคงประกาศผลการนับคะแนนได้ตั้งแต่เช้าวันศุกร์

“นี่เป็นโอกาสเดียวในชั่วชีวิตและเราต้องใช้ทั้งสองมือคว้าไว้ อนาคตของสกอตแลนด์ต้องอยู่ในมือของคนสกอต” อเล็กซ์ ซาลมอนด์ นายกรัฐมนตรีของเขตการปกครองสกอตแลนด์วัย 59 ปี ประกาศกับผู้สนับสนุนหลายร้อยคนที่เมืองเพิร์ท ทางตะวันออกของเขตการปกครอง
อเล็กซ์ ซาลมอนด์ นายกรัฐมนตรีของเขตการปกครองสกอตแลนด์ โพสท่าให้ถ่ายภาพก่อนจะเข้าไปใช้สิทธิ์ลงประชามติ ณ เมือง สตริเชน ของสกอตแลนด์ ในวันพฤหัสบดี (18) ทั้งนี้ เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่สุดในการรณรงค์ให้สกอตแลนด์แยกตัวเป็นเอกราช
กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประกาศเอกราชชี้ชวนว่า สกอตแลนด์จะสามารถเลือกผู้นำของตนเอง ตัดสินใจด้วยตัวเองแทนที่จะถูกปกครองโดยลอนดอน ส่วนกลุ่มที่ต้องการให้สกอตแลนด์อยู่กับอังกฤษต่อไปก็โน้มน้าวว่า สกอตแลนด์จะมั่งคั่งและมั่นคงขึ้น หากยังคงเป็นส่วนหนึ่งในสหราชอาณาจักร

เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายที่สุด นับจากการแยกตัวของไอร์แลนด์เมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษ บรรดาสถาบันและชนชั้นนำของอังกฤษ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน จนถึงนักธุรกิจใหญ่และเหล่าเซเลบ ต่างผนึกกำลังครั้งสุดท้ายเพื่อโน้มน้าวไม่ให้สกอตแลนด์ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ขณะที่นักการเงินในย่านการเงิน “ซิตี้ ออฟ ลอนดอน” เตือนว่า หากสกอตแลนด์แยกตัวออกไป อาจทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนอย่างหนัก

ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองในลอนดอนต่างสัญญาอัดฉีดงบประมาณเพิ่ม รวมทั้งเปิดทางให้สกอตแลนด์มีอำนาจทางการเงินมากขึ้น

แต่หากสกอตแลนด์ไม่เชื่อน้ำคำเหล่านั้น ตำแหน่งของคาเมรอนอาจสั่นสะเทือนรุนแรง ก่อนหน้านี้ผู้นำอังกฤษวัย 47 ปียอมรับว่า การมีภูมิหลังเป็นชนชั้นสูงของอังกฤษ และแนวทางการเมืองอนุรักษ์นิยม อาจทำให้เขาไม่เป็นที่ปลาบปลื้มของคนสกอต

หากเป็นเช่นนั้นจริง โอกาสจะตกเป็นของพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านแดนผู้ดีที่สามารถกวาดที่นั่งจากสกอตแลนด์ได้ถึง 41 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2010 และเป็นพรรคการเมืองของอังกฤษพรรคเดียวที่สามารถต่อกรกับพรรคสกอตติช เนชันแนล ปาร์ตี้ ที่สนับสนุนการแยกประเทศ

กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคแรงงานซึ่งเป็นชาวสกอต เตือนเพื่อนร่วมชาติว่า ซาลมอนด์กำลังนำสกอตแลนด์ไปติดกับดัก

ถ้า หากชาวสกอตโหวตแยกประเทศ อังกฤษและสกอตแลนด์จะต้องเจรจารายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การแบ่งผลประโยชน์จากแหล่งน้ำมันในทะเลเหนือ ตลอดจนถึงประเด็นสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งนี้คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง

พวกรณรงค์ให้สกอตแลนด์แยกตัวระบุว่า จะใช้เงินปอนด์ต่อไปหลังประกาศเอกราช แต่ลอนดอนประกาศว่าไม่ยอม ขณะเดียวกัน อังกฤษก็ต้องตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรกับฐานทัพเรือดำน้ำนิวเคลียร์ริมฝั่งแม่น้ำไคลด์ ที่ฝ่ายชาตินิยมสกอตแลนด์ต้องการผลักดันออกไป

แนวโน้มความแตกแยกของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 6 ของโลก และอำนาจวีโตในฐานะชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้ประชาชนและประเทศพันธมิตรในทั่วโลกจับตาการลงประชามติครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบที่ว่า การเป็นเอกราชของสกอตแลนด์จะต้องกลายเป็นแรงกระตุ้นอย่างมหาศาล ให้แก่ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มการเมืองทั้งหลายในประเทศทั่วโลก ซึ่งกำลังต้องการแยกตัวประกาศอิสรภาพเช่นกัน

การลงประชามติคราวนี้ ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการแยกตัว มีคะแนนคู่คี่กันมากจนถึงนาทีสุดท้าย โดยโพลล่าสุดจาก 5 สำนักชี้ว่า ฝ่ายสนับสนุนการแยกประเทศมีคะแนนตีตื้นขึ้นมา ทว่า ฝ่ายสนับสนุนการรวมกับสหราชอาณาจักรยังนำอยู่เล็กน้อย

ผลสำรวจของพาเนลเบสพบว่า ผู้สนับสนุนการประกาศอิสรภาพขยับลงจาก 49% เหลือ 48% ขณะที่โพลของยูกอฟที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่สุด พบว่าเสียงสนับสนุนการแยกประเทศคงเดิมที่ 48%

โดยรวมแล้วผลสำรวจเมื่อวันพุธ (17) ชี้ว่า ฝ่ายสนับสนุนการแยกประเทศมีคะแนน 48% เทียบกับฝ่ายค้านซึ่งอยู่ที่ 52% ขณะที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนถึง 600,000 คนยังไม่ตัดสินใจ ทำให้เชื่อได้ว่า การลงประชามติครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะมีคะแนนคู่คี่กันอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจะออกมาในช่วงสายวันศุกร์ ผู้คนอาจพอคาดเดาทิศทางอนาคตของสกอตแลนด์ได้ตั้งแต่ช่วง 4.00 น. (11.00 น. ตามเวลาไทย) เมื่อเมืองใหญ่ๆ อย่าง กลาสโกว์ อะเบอร์ดีน และเอดินบะระ ที่มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรวมกันเกือบ 1 ใน 4 ของทั่วเขตการปกครอง จะประกาศผลการนับคะแนนในพื้นที่ของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น