รอยเตอร์ – งานการศึกษาซึ่งได้รับทุนจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ตีแผ่ปัญหา “แรงงานทาส” ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียซึ่งเชื่อมโยงโซ่อุปทานสินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคทั่วโลก โดยพบว่า 1 ใน 3 ของแรงงานราว 350,000 คนถูกนายจ้างบังคับใช้แรงงานในลักษณะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผลสำรวจโดยกลุ่มสิทธิแรงงานสากล Verite พบว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งแรงงานนับแสนกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในประเทศที่ค่าจ้างต่ำ เช่น เนปาล เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย ค่อนข้างแพร่หลายเป็นพิเศษในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของแดนเสือเหลือง
มาเลเซียเป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Samsung Electronics, Sony Corp, Advanced Micro Devices, Intel หรือ Bosche Limited นอกจากนี้ ซัพพลายเออร์ใหญ่ๆ อย่าง Flextronics, Venture Corporation, Jabil Circuit และ JCY International ก็ได้รับการว่าจ้างให้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์ ให้แบรนด์ดังๆ หลายยี่ห้อ
การที่ผลสำรวจชิ้นนี้ได้ทุนสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ยิ่งทำให้รายงานดูน่าเชื่อถือ และอาจทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยต้องประหลาดใจ
มาเลเซียจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมีมาตรฐานด้านแรงงานดีกว่าบางประเทศในเอเชีย เช่น จีน ซึ่งถูกนานาชาติเพ่งเล็งเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานในช่วงไม่กี่ปีมานี้
รายงานที่ Verite เผยแพร่วันนี้(17) ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทที่มีการบังคับใช้แรงงานทาส แต่ตำหนินโยบายของรัฐบาลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาเลเซียที่เปิดโอกาสให้บริษัทจัดหางานสามารถควบคุมเรื่องค่าจ้าง และเงื่อนไขอื่นๆ ในการทำงานมากเกินไป
“ผลการศึกษาของเราพบว่า การบังคับใช้แรงงานมีอยู่จริงในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย และไม่ใช่กรณีเดี่ยวๆ แต่เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่แพร่หลาย” กลุ่ม Verite ระบุ
บริษัทสัญชาติอเมริกันหลายแห่งที่มีโรงงานในมาเลเซียบอกกับรอยเตอร์ว่า พวกเขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ จนกว่าจะได้อ่านรายงานฉบับเต็มเสียก่อน
โฆษกของ อินเทล ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ระบุว่า โรงงานอินเทลในมาเลเซียมีพนักงานราว 8,200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมืองท้องถิ่น และบริษัทไม่เคยว่าจ้างผู้รับเหมา ขณะที่ Flextronics ยอมรับว่า บริษัทรับทราบปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ และมีนโยบายป้องกันการล่วงละเมิด “อย่างเข้มงวด” อยู่แล้ว
เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานฉบับนี้
ผลการศึกษาของ Verite ถูกเผยแพร่เพียง 3 เดือน หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกรายงานว่าด้วยสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งมาเลเซียถูกลดอันดับลงไปอยู่ขั้น 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุด โดยสหรัฐฯอ้างว่ากัวลาลัมเปอร์ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงานต่างชาติที่มีอยู่ราว 4 ล้านคน
จากการขอสัมภาษณ์แรงงาน 501 คน Verite พบว่า ร้อยละ 28 ตกอยู่ในสภาพถูก “บังคับใช้แรงงาน” จากสาเหตุหลายประการ รวมถึงการเป็นหนี้เพราะถูกบริษัทจัดหางานเรียกค่านายหน้าสูงเกินเหตุ
สถิติดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 32 ในกรณีแรงงานต่างชาติ ซึ่งมักถูกนายหน้าจัดหางานในบ้านเกิดหลอกลวงเรื่องค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขอื่นๆ และเมื่อเหยื่อยอมตกลงไปทำงาน ก็จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก้อนโตจนทำให้พวกเขาต้องเป็นหนี้
Verite ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการนิยามแบบดั้งเดิม และพบว่าร้อยละ 73 ของแรงงานเหล่านี้ “มีลักษณะบางประการ” ของการถูกบังคับใช้แรงงาน
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าของมาเลเซียคิดเป็นร้อยละ 33 ของมูลค่าการส่งออกในปีที่แล้ว และจากข้อมูลเมื่อปี 2011 พบว่า บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นมูลค่าสูงถึง 2,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวร้อยละ 86.5 ของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติทั้งหมดในแดนเสือเหลือง
ความมีเสถียรภาพและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกเข้าไปทำธุรกิจในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดมหาอุทกภัยในไทยเมื่อปี 2011 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต
ผลสำรวจของ Verite พบว่า แรงงานต่างชาติต้องจ่ายเงินให้ “นายหน้า” ทั้งในประเทศบ้านเกิดและมาเลเซีย เฉลี่ยคนละ 2,985 ริงกิต เพื่อให้มีโอกาสได้งานทำ ซึ่งยอดเงินที่ว่านี้สูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีของพลเมืองเนปาลเสียอีก
หากไม่มีเงินพอ แรงงานต่างชาติ 2 ใน 3 ก็ยอมที่จะเป็นหนี้เพื่อนำเงินมาจ่ายให้นายหน้า
แรงงานต่างชาติ 1 ใน 5 ยอมรับว่า พวกเขาต้องทำงานเกินกว่ามาตรฐานสากล 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่กฎหมายมาเลเซียอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 72 ชั่วโมง
รัฐบาลมาเลเซียมีการแก้กฎหมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบริษัทจัดหางานซึ่งให้บริการแรงงานแก่บริษัทข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการจ่ายค่าแรง จัดหาที่พัก และออกกฎการทำงาน เป็นต้น
“ภาระความรับผิด (liability) ว่าด้วยการละเมิดสิทธิแรงงานในมาเลเซียยังค่อนข้างคลุมเครือ ทำให้ลูกจ้างเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและล่วงละเมิดสิทธิ” Verite ระบุ
นักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานกลุ่มนี้ยังพบด้วยว่า แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่จะถูกบริษัทจัดหางานยึดหนังสือเดินทาง ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายมาเลเซีย และบางบริษัทยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากแรงงานต้องการ “ขอยืม” หนังสือเดินทางของตนเองไปใช้