อธิบดีดีเอสไอนัดหารือสมาคมประมงฯ ถกแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เน้นค่าแรงแบบถึงตัวไม่ผ่านนายหน้า ป้องกันการเอาเปรียบแรงงาน ขีดเส้นจัดระเบียบให้แล้วเสร็จก่อน 21 ก.ค.นี้
สืบเนื่องจากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจัดอันดับประเทศที่มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์โดยปรับลดอันดับให้ประเทศไทย จากระดับ 2 ที่มีการเฝ้าระวังและพยายามแก้ปัญหา มาสู่ระดับที่ 3 ที่มีปัญหาการค้ามนุษย์จริงแต่ไม่สนใจในการแก้ปัญหา
วันนี้ (7 ก.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นัดหารือนายภูเบศ จันทนิมิ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดจากการใช้แรงงานประมง โดยใช้เวลาในการหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับประเด็นในการหารือหลักๆ คือ 1. ขอความร่วมมือในการสอดส่องดูแลไม่ให้มีการกระทำเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในเรือประมง 2. ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการนำแรงงานประมงไปจดทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามนโยบายของรัฐบาล 3. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการจัดทำบัญชีลูกเรือทั้งคนไทยและต่างด้าวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบควบคุม 4. ขอความร่วมมือให้เจ้าของเรือจ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงสวัสดิการให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมแก่แรงงานประมง 5. ขอความร่วมมือเจ้าของเรือผู้ประกอบการในการสับเปลี่ยนแรงงานในเรือประมงที่ออกไปทำประมงในทะเลเป็นเวลานาน และ 6. รับฟังประเด็นปัญหาเพื่อนำไปแก้ไขและเสนอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมาโดยตลอดในทุกมิติ ทั้งการปราบปราม การป้องกัน รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ แต่ในรายงานของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึงปัญหาแรงงานประมง และแรงงานขัดหนี้เพื่อจ่ายค่าหัวให้แก่นายหน้า (แรงงานขัดหนี้ค่าหัว) เป็นพิเศษ
การหารือในครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในส่วนของแรงงานประมงที่เป็นประเด็นปัญหา โดยได้ข้อสรุป คือ 1. แรงงานที่อยู่ในเรือประมงทั้งหมดต้องทำให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และในการไปทำงานในเรือนั้นต้องมีความเข้าใจในการใช้ชีวิตอยู่ในเรือประมง 2. ให้เรือประมงที่ออกน่านน้ำนานๆ แจ้งการเข้า-ออกเรือ 3. ภายในเรือประมงแต่ละลำจะต้องมีหลักฐาน เช่น สัญญาจ้างต่างๆ ที่ทำระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งกระทรวงแรงงานมีรูปแบบอยู่แล้วมีทั้งหมด 3 ภาษา เพื่อให้ลูกเรือรับทราบข้อตกลงในสัญญาค่าจ้างที่ทำร่วมกันว่าทำงานเท่านี้ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ จะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อลดการใช้นายหน้าจัดหางานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4. จัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของเรือ นายจ้างและคนงาน ต้องสามารถเช็กได้ว่าถ้ามีเรือแจ้งจะออกก็สามารถตรวจสอบได้ว่าภายในเรือมีใครบ้าง 5. เอกสารประจำตัวคน อาจจะสำเนาได้ เนื่องจากฉบับจริงเกรงว่าจะเสียหายจากน้ำ แต่สามารถตรวจสอบได้ มีรูป มีข้อมูลที่ชัดเจน และ 6. ช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร ในกรณีคนงานที่อยู่ในเรือประสงค์ที่จะขึ้นฝั่งก็สามารถที่จะติดต่อแล้วมีเรือไปรับกลับ
ส่วนเรือทัวร์ หรือเรือที่ไปส่งเสบียงและรับสินค้ากลับ ซึ่งเรือดังกล่าวมีลักษณะเดินเรือในระยะสั้นไป-กลับ ไม่ได้อยู่น่านน้ำนานก็ต้องมีการทำบันทึกเข้า-ออกเรือด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีการขนแรงงานไปในเรือทัวร์ และคนที่ไปกับเรือดังกล่าวมักเป็นแรงงานที่ถูกหลอก
พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวอีกว่า เวลานายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างจะต้องมีหลักฐานการจ่ายที่ชัดเจน เพื่อป้องกันนายหน้าเอาเปรียบแรงงานจ่ายเงินลูกจ้างไม่ครบ และต่อไปต้องจ่ายเงินค่าแรงแบบถึงตัวไม่ผ่านนายหน้า
อย่างไรก็ตาม การกำกนดกรอบเวลาในการดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการแก้ปัญหาเรื่องระบบแรงงานที่จะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน ในส่วนการจัดแรงงานประมงให้ถูกต้องทั้งหมดกำหนดไว้วันที่ 21 ก.ค.นี้ และเมื่อมีการจัดระบบต่างๆ แล้วทั้งผู้ประกอบการและเจ้าของเรือให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ หากมีผู้ฝ่าฝืนจะมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาการค้ามนุษย์ในเรือประมง