xs
xsm
sm
md
lg

"เอก"ถกแก้ปัญหาค้ามนุษย์ จัดระเบียบประมง-ขอทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(6 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. (ปป) กล่าวถึงกรณีปัญหาการค้ามนุษย์ว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ได้มอบหมายหน้าที่ให้ตนรับผิดชอบในเรื่องนี้แทน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รอง ผบ.ตร. ที่ไปปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งตนได้มีการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ คือ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวแทนหลักในการดูเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ ในส่วนของตำรวจนั้นจะดูแลในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีความห่วงใย จึงให้ พล.ต.อ.วัชรพล ได้รีบดำเนินการใน 2 เรื่องสำคัญคือ การควบคุมแก้ปัญหาคนต่างด้าวที่มาทำการประมง
พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายแผนการได้มีการนำเสนอรูปแบบ และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็คงจะมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับประกาศของ คสช. ที่ 77/2557 ที่ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของเรือได้จัดทำบัญชีรายชื่อลูกจ้างผู้ทำการประมงที่เป็นคนต่างด้าว ซึ่งตำรวจจะสนับสนุนการปฏิบัติในทุกภาคส่วน อีกเรื่องนอกจากการประกอบอาชีพประมงแล้ว จะเป็นเรื่องของขอทาน ซึ่งมักจะมีคนต่างด้าวมาประกอบธุรกิจ โดยมีการจัดหาเด็กมาขอทานนั้น ซึ่งขณะนี้รรท.ผบ.ตร. ได้มีการสั่งการแล้ว ให้ตนดำเนินการประชุมในส่วนของตำรวจที่มีการเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เช่น ศูนย์ปราบปรามการค้ามนุษย์, กองบังคับการตำรวจน้ำ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และทุกภาคส่วน เพื่อจะดำเนินการให้สอดรับกับคำสั่งของ คสช.

**เปิดศูนย์จดทะเบียนแรงงานฯ 7 จว.วันนี้

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย เตรียมเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ(One Stop Service)ตามประกาศ คสช. เพิ่มเติมในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และ สงขลา เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 ก.ค.นี้
สำหรับศูนย์บริการดังกล่าวใน7 จังหวัดมี 8 ศูนย์บริการฯ ดังนี้ 1. จ.สมุทรปราการ จัดตั้งที่ศูนย์เบญจบูรพาสุวรรณภูมิ ต.บางปูใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ 2. จ.ฉะเชิงเทรา จัดตั้งที่กองพลทหารราบที่ 11 ต.บางตีนเป็ด อ.เมืองฉะเชิงเทรา 3. จ.ชลบุรี จัดตั้ง 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 จัดตั้งที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ต.บางทราย อ.เมืองชลบุรี จุดที่ 2 จัดตั้งที่ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออกเมืองพัทยา ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง
4.จ.ระยอง จัดตั้งที่สนามกีฬากลางจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง 5. จ.พระนครศรีอยุธยา จัดตั้งที่อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา 6. จ.สุราษฎร์ธานี จัดตั้งที่ศูนย์การเรียนรู้วิภาวดี ต.มะขามเตี้ย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และ 7.จ.สงขลา จัดตั้งที่สโมสรทหารเรือสงขลา ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา
ทั้งนี้ ศูนย์รับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้ง 7 จังหวัด จะเปิดให้บริการในวันนี้ (7 ก.ค.) โดยกระทรวงมหาดไทย ได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านแล้ว โดยได้มีการประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจ ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ ระบบอุปกรณ์ โดยมีการศึกษาการบริหารจัดการของ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้เปิดให้บริการจดทะเบียนนำร่องไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. เพื่อนำมาเป็นต้นแบบ และนำปัญหาที่พบมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วมากขึ้น

**แนะแยกขึ้นทะเบียนแรงงานบนเรือ-บนฝั่ง
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงกรณี คสช.ได้ออกประกาศคำสั่งให้ผู้ประกอบการเรือประมง รวบรวมรายชื่อและจำนวนลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไปยื่นต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดภายในวันที่ 21 ก.ค. นี้ว่า ขณะนี้สมาคมฯ ได้แจ้งเรื่องนี้ต่อผู้ประกอบการเรือประมงซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมอยู่กว่า 100 คน เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายมีเรือประมงมากกว่า 1 ลำ และก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการเรือประมงในจังหวัดสมุทรสาครได้ไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างแรงงานต่างด้าวกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครไปแล้วเกือบ 2,000 คน
ทั้งนี้ ทางสมาคมยินดีให้ความร่วมมือกับคสช. และอยากให้คสช.เรียกประชุมผู้ประกอบการเรือประมงทั้ง 22 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ตราด ระนอง เป็นระยะ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินการในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในภาคเรือประมงของ คสช. รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เสนอความคิดเห็นในการจัดระเบียบจะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างสอดคล้องกับนโยบายคสช.และความต้องการของผู้ประกอบการเรือประมง จะทำให้การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและค้ามนุษย์ในภาคเรือประมงก็จะเป็นไปอย่างยั่งยืน
นายกำจร กล่าวอีกว่า ขอเสนอให้ คสช.จัดระเบียบและขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในภาคเรือประมงเป็นไปในลักษณะพิเศษ โดยแยกออกจากกลุ่มอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องอย่างเด็ดขาด เนื่องจากกิจการเรือประมง มีปัจจัยพิเศษที่แตกต่างกิจการประมงบนฝั่ง โดยแรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนเรือประมงบางส่วนทำงานได้ไม่นานก็หลบหนีไปทำงานบนฝั่ง ทำให้ต้องหาแรงงานต่างด้าวใหม่ รวมทั้งต้องออกเรือไปหาปลาเป็นเวลานาน อยากให้การจัดระเบียบ และจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในภาคเรือประมงเป็นไปอย่างยืดหยุ่น โดยเปิดให้ยื่นจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้เช่นที่ผ่านมาคือ เปิดให้ยื่นจดทะเบียนได้ปีละ 2 ครั้ง และแต่ละครั้งมีระยะเวลา 3 เดือน
นอกจากนี้ อยากให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กำหนดการซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ 3 เดือน 6 เดือนและ1 ปี ซึ่งขณะนี้สธ.คิดค่าประกันสุขภาพอยู่ที่ปีละ 1,600 บาทต่อคน ก็ให้ผู้ประกอบการเรือประมงสามารถซื้อประกันสุขภาพลูกจ้างต่างด้าวได้สอดคล้องกับการทำงานของลูกจ้างแต่ละคน เช่น คนที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ก็ซื้อแค่ 3เดือนก่อนและหากอยู่ทำงานมานาน 1 ปี ก็ซื้อ 1,600 บาท โดยผ่อนจ่ายเป็น 4 งวดแยกเป็นงวดละ 400 บาทและใช้บริการรักษาพยาบาลได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลในจังหวัดที่เรือประมงจดทะเบียนไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น