คสช.ออกคำสั่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายฯ-อนุกรรมการประสานงานฯ” แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และมีประกาศให้ตั้งศูนย์ประสานงานในสระแก้ว จันทบุรี ตราด สุรินทร์ รับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน พร้อมผุดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัด เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่แรงงานต่างด้าวประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้ (25 มิ.ย.) เมื่อเวลา 22.13 น. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 73/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
โดยระบุว่า เพื่อให้การบริหารราชการคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ และปัญหาการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการ ลดผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา จึงให้ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 59/2557 และใช้คำสั่งดังต่อไปนี้
1. แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ (กนร.) ประกอบก้วย
1.1 รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ - ประธานกรรมการ
1.2 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย) - รองประธานกรรมการ
1.3 ปลัดกระทรวงแรงงาน - รองประธานกรรมการ
1.4 ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - รองประธานกรรมการ
1.5 ปลัดกระทรวงกลาโหม - กรรมการ
1.6 ปลัดกระทรวงมหาดไทย - กรรมการ
1.7 ปลัดกระทรวงการคลัง - กรรมการ
1.8- ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ - กรรมการ
1.9 ปลัดกระทรวงยุติธรรม - กรรมการ
1.10 ปลัดกระทรวงพาณิชย์ - กรรมการ
1.11 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข - กรรมการ
1.12 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ - กรรมการ
1.13 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - กรรมการ
1.14 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม - กรรมการ
1.15 ปลัดกระทรวงคมนาคม - กรรมการ
1.16 ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา - กรรมการ
1.17 ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ - กรรมการ
1.18 ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ - กรรมการ
1.19 เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ - กรรมการ
1.20 เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ - กรรมการ
1.21 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน - กรรมการ
1.22 เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ - กรรมการ
1.23 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ - กรรมการ
1.24 ผู้บัญชาการทหารบก - กรรมการ
1.25 ผู้บัญชาการทหารเรือ - กรรมการ
1.26 ผู้บัญชาการทหารอากาศ - กรรมการ
1.27 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ - กรรมการ
1.28 เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร - กรรมการ
1.29 อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ - กรรมการ
1.30 เสนาธิการทหาร - กรรมการและเลขานุการ
1.31 เจ้ากรมยุทธการทหาร - กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
1.32 อธิบดีกรมการจัดหางาน - กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
2. คณะกรรมการมีอำนาจ ดังนี้
2.1 เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการใช้แรงงานเด็กต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2.2 อำนวยการ กำกับดูแล ติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และรายงานผลต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2.3 พิจารณาให้ความเห็นชอบ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการ และมาตรการที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2.4 พิจารณาสนับสนุนให้ทบทวนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.5 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
2.6 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
3. คณะกรรมการตามคำสั่งนี้ สามารถยุบเลิก หรือปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ
จากนั้นได้มี คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 74/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
ระบุว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ และเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงให้ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 60/2557 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (อกนร.) เพื่อช่วยปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ (กนร.) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบ
1.1 เสนาธิการทหาร - ประธานอนุกรรมการ
1.2 อธิบดีกรมการจัดหางาน - รองประธานอนุกรรมการ
1.3 อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ - ประธานอนุกรรมการ
1.4 เสนาธิการทหารบก - อนุกรรมการ
1.5 เสนาธิการทหารเรือ - อนุกรรมการ
1.6 เสนาธิการทหารอากาศ - อนุกรรมการ
1.7 ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม - อนุกรรมการ
1.8 รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ - อนุกรรมการ
1.9 ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร - อนุกรรมการ
1.10 อธิบดีกรมการปกครอง - อนุกรรมการ
1.11 อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน - อนุกรรมการ
1.12 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ - อนุกรรมการ
1.13 อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน - อนุกรรมการ
1.14 อธิบดีกรมประมง - อนุกรรมการ
1.15 อธิบดีกรมเจ้าท่า - อนุกรรมการ
1.16 อธิบดีกรมควบคุมโรค - อนุกรรมการ
1.17 อธิบดีเอเชียตะวันออก - อนุกรรมการ
1.18 อธิบดีกรมอาเซียน - อนุกรรมการ
1.19 อธิบดีกรมอนามัย - อนุกรรมการ
1.20 ปลัดกรุงเทพมหานคร - อนุกรรมการ
1.21 ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ - อนุกรรมการ
1.22 ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ - อนุกรรมการ
1.23 ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง - อนุกรรมการ
1.24 ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวก กรมการจัดหางาน - ผู้ช่วยเลขานุการ
2. อำนาจหน้าที่
2.1 เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการใช้แรงงานเด็กต่อคณะกรรมการ
2.2 ประสานงาน ติดตามการดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการ การจัดทำรายงาน ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
2.3 พิจารณากลั่นกรองแผนงาน โครงการ และมาตรการที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะกรรมการ
2.4 พิจารณาทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ก่อนเสนอคณะกรรมการพิจารณา
2.5 กำหับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ
2.6 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
3. คณะอนุกรรมการตามคำสั่งนี้ สามารถยุบเลิก หรือปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ยังมี ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 70/2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ขึ้น เพื่อนำไปสู่การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศ และการสร้างมาตรฐานในการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและนายจ้างซึ่งประกอบกิจการบางประเภท ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานในจังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ตราด และสุรินทร์ เพื่อดำเนินการพิจารณาออกใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ที่ประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้ศูนย์ดังกล่าวเริ่มทำการตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2557
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ศูนย์ประสานงานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน มีหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ข้อ 2 คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะได้เคยทำงานในประเทศไทยมาก่อนหรือไม่ก็ตาม ให้แจ้งความประสงค์ต่อศูนย์ประสานงานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน ภายในวันที่ 25 ก.ค. 2557 เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว การเข้ามาทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาให้เป็นไปตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ
ในกรณีมีนายจ้างยื่นแบบแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว หรือบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่เคยทำงานในกิจการของตนเองไว้กับศูนย์ประสานงานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงาน หากศูนย์ดังกล่าวตรวจสอบแล้วพบว่าคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่แจ้งความประสงค์ไว้เป็นผู้ที่มีลัษณะตรงตามความต้องการของนายจ้างหรือเมื่อมีการตรวจสอบบัญชีรายชื่อของนายจ้างแล้วตรงกับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่แจ้งความประสงค์ไว้ ให้แจ้งนายจ้างมารับตัวบุคคลนั้นเพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงานชั่วคราวต่อไป
ให้ศูนย์ประสานงานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานพิจารณาออกใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวแก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่นายจ้างมารับตัวตามวรรคสอง โดยให้ใบอนุญาตมีอายุ 60 วัน นับแต่วันที่ออก และให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่ได้รับใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวสามารถทำงานกับนายจ้างได้ตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 3 เมื่อนายจ้างรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาตามข้อ 2 มาแล้ว ให้นำบุคคลดังกล่าวไปขอรับใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จตามข้อ 4 ในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการของนายจ้าง
ใบอนุญาตทำงานชั่วคราวที่ออกตามวรรคหนึ่ง ให้มีอายุเท่าจำนวนวันที่เหลืออยู่ของใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราว
ข้อ 4 ให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่คนต่างด้าวและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นคนสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในจังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรก และเริ่มทำการตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2557 ส่วนการจัดตั้งในจังหวัดอื่นใดและเริ่มทำการเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศกำหนด
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จมีหน้าที่ในการจัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัว และตรวจสุขภาพคนต่างด้าว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ข้อ 5 ให้คนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาหรืออยู่ในประเทศไทยโดยยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายหรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุดแล้ว หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ไปรายงานตัว ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ
ในกรณีที่คนต่างด้าวตามวรรคหนึ่งไปรายงานตัวพร้อมนายจ้างและแจ้งความประสงค์จะทำงานเป็นกรรกร หรือรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ หรือทำงานอื่นอันมิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ให้ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแก่คนต่างด้าวนั้น โดยให้ใบอนุญาตมีอายุ 60 วันนับแต่วันที่ออก และให้คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวสามารถทำงานกับนายจ้างได้ตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 6 คนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้แล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติเพื่อการออกใบอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ข้อ 7 ใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้สิ้นสุดลงเมื่อคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้มีกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) วิกลจริต หรือเป็นโรคที่ต้องห้ามตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดหรือเป็นผู้ที่สุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานโดยดุลยพินิจของแพทย์
(2) ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) มีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเป๋นบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ
(4) มีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีหรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ 8 มิให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 12 (3) มาตรา 54 และมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานชั่วคราวตามประกาศนี้ ในระหว่างที่อายุของใบอนุญาตยังคงอยู่
ข้อ 9 ให้ผู้ประกอบการ นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว ให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กำหนดใบอนุญาตเข้าเมืองชั่วคราวและใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายแก่แรงงานต่างด้าวและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ข้อ 10 ให้กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบกและกองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการผ่านเข้าออกประเทศตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวดและให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับขบวนการลักลอบนำขเาแรงงาต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ตลอดจนดำเนินการทางวินัยและอาญาแก่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ 11 ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน แระทรวงสาธารณสุข สำรนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก และกองทัพเรือ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องยึดถือกำหนดในประกาศนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานโดยทั่วกัน และให้พิจารณากำหนดมาตรการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือของผู้ประกอบการและนายจ้าง หรือมาตรการอื่นใดอันจะเป็นการส่งเสริมการดำเนินการตามประกาศนี้
ข้อ 12 ให้คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 73/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2557 เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงาน ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อทราบอย่างต่อเนื่อง