พม. จัดประชุมเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป เผยแนวโน้มหญิงไทยไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้นแต่ไม่ได้รับการดูแลที่ดี ผุดเว็บไซต์ให้ความรู้ ปรึกษา แนะนำ ร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดสวัสดิการสังคมช่วยเหลือ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ข้อมูลศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 5 มีนาคม 2556 ได้ระบุว่า มีคนไทยในต่างประเทศจาก 66 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีบางส่วนที่เป็นคนไทยและไม่ต้องการแสดงตัวต่อทางการในประเทศที่อาศัยอยู่ เนื่องจากเหตุผลด้านปัญหาทางกฎหมายของสถานการณ์การเข้าเมือง จากข้อมูลจำนวนคนไทยนี้แสดงให้เห็นว่า ชุมชนของคนไทยไม่ได้มีขอบเขตแต่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีชุมชนคนไทยที่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอีกเป็นจำนวนมาก และในอนาคตยังมีแนวโน้มอีกว่าคนไทยจะไปพำนักอยู่ต่างประเทศมากขึ้นทุกปี ทั้งนี้ เพื่อการทำงาน การศึกษา และการสมรส ซึ่งการปรากฏขึ้นของชุมชนคนไทยในต่างประเทศ ได้ทำให้คนไทยเหล่านี้ต่างประสบปัญหาหลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนไทยดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงบริการสวัสดิการสังคมที่รัฐจัดให้ ทั้งจากประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศต้นทาง และจากประเทศที่ไปอาศัย ซึ่งเป็นประเทศปลายทางได้ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ
“การจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมให้กับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และจะทำให้ประเทศไทยไปสู่สังคมสวัสดิการ (Welfare Society) ที่คนไทยทุกกลุ่มได้รับสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ทั้งนี้ การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน ทั้งรับผิดชอบในเชิงประเด็น เชิงพื้นที่ และในเชิงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น” นายวิเชียร กล่าว
ปลัด พม. กล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ www.Yingthai.net ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมการกงศุล กรมการจัดหางาน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย กรมสุขภาพจิต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานตรวจคน เข้าเมือง สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งให้ความช่วยเหลือหญิงไทยที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว นอกจากนี้ เว็บไซต์ยังมีบริการให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย ให้คำปรึกษาแนะนำ การดูแลสุขภาพจิตHotline ให้บริการปรึกษาปัญหาการดำเนินชีวิตผ่านระบบ web chat, VDO Conference ทั้งยังเป็นศูนย์ประสานรับเรื่อง ร้องทุกข์จากหญิงไทยในต่างประเทศ และดำเนินการให้ความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานข้างต้นอีกด้วย
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่