เอเจนซีส์ - หลายชาติในเอเชีย โดยเฉพาะเวียดนาม ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ กำลังเร่งสะสมอาวุธอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่ได้นัดหมาย แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือ ความกังวลต่อท่าทีอันยืนกรานก้าวร้าวของจีน ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ชายฝั่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออก
อย่างไรก็ดี นอกจากพวกชาติซึ่งมีข้อพิพาทในเรื่องอธิปไตยเหนือน่านน้ำที่อุดมด้วยทรัพยากรพลังงานแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศเอเชีย เป็นต้นว่า อินเดียและเกาหลีใต้ ซึ่งต่างเร่งยกระดับกองทัพของพวกตนให้ทันสมัยเช่นกัน ถึงแม้ความขัดแย้งกับจีนยังอยู่แค่ในระดับการทูตเท่านั้น
ปัจจุบัน ชาติเอเชียนำเข้าอาวุธคิดเป็นมูลค่ารวมกันราวครึ่งหนึ่งของที่ซื้อขายกันทั่วโลก โดยมีจีนมาเป็นอันดับ 1 หลังจากแดนมังกรเพิ่มงบกลาโหมประจำปีขึ้นจนอยู่ในระดับ 4 เท่าตัวภายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มองกันในภาพรวมแล้ว งบการใช้จ่ายทางการทหารของบรรดาชาติเอเชีย เพิ่มขึ้นในจังหวะสอดคล้องเหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตน อย่างไรก็ดี สัดส่วนงบกลาโหมของจีน เวียดนาม และอีกหลายประเทศในปีนี้ ดูเหมือนเกินหน้าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไปแล้ว
โรเบิร์ต ดี. แคปแลน หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของ สแตรทฟอร์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านข่าวกรองชื่อดังในสหรัฐฯ ชี้ว่า เป้าหมายของจีนคือการมุ่งผลักไสอเมริกาให้ตกลงมาจากฐานะการเป็นมหาอำนาจผู้มีอิทธิพลบารมีครอบงำเหนือภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยถ้าหากทำได้สำเร็จ ก็จะสามารถคว้าเดิมพันอันสำคัญ เป็นต้นว่า เส้นทางขนส่งสินค้าในทะเลจีนใต้ และแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในน่านน้ำเอเชียตะวันออก
แคปแลนเสริมว่า จีนหมายมั่นปั้นมือเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกให้ได้เร็วกว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งหากสามารถเคลื่อนไหวและขยายการควบคุมน่านน้ำเหล่านั้นได้ จะทำให้พญามังกรกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลเต็มตัว
ถึงแม้ข้อมูลของสถาบันสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม ระบุว่า อเมริกามีงบใช้จ่ายทางการทหารถึงปีละ 665,000 ล้านดอลลาร์ เรียกว่าเอางบประมาณด้านนี้ของพวกประเทศที่อยู่ในอันดับรองๆ ลงมาอีก 8 ประเทศมารวมกัน ก็ยังไม่เท่ากับของสหรัฐฯเลย และเปรียบเทียบกับงบกลาโหมของจีนแล้ว อเมริกาก็มากเป็น 3 เท่าตัว กระนั้น งบกลาโหมของจีนเวลานี้ก็เกือบเท่ากับของอีก 24 ชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้รวมกัน
ที่น่าสนใจที่สุดคือ กองเรือดำน้ำของจีน ซึ่งคาดว่า จะมีจำนวน 78 ลำเท่ากับอเมริกาในปี 2020 และเรือดำน้ำเหล่านี้จำนวนมากจะประจำที่ฐานทัพใต้น้ำขนาดใหญ่ของเกาะไหหลำ (ไห่หนาน) ในทะเลจีนใต้
ความเคลื่อนไหวของจีนเช่นนี้ กำลังกระตุ้นให้มีการสั่งซื้อเรือดำน้ำขนานใหญ่ในเอเชีย เวียดนามนั้นในปีนี้จะได้รับมอบเรือดำน้ำ 3 ใน 6 ลำที่สั่งซื้อจากรัสเซีย รวมทั้งเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลที่มีสมรรถนะในการตามสอดส่องเรือดำน้ำของจีน
เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นโละเรือดำน้ำทั้งกองทิ้งและแทนที่ด้วยเรือดำน้ำรุ่นใหม่ ขณะที่เกาหลีใต้เพิ่มเรือดำน้ำโจมตีขนาดใหญ่ขึ้น และอินเดียมีแผนสร้างเรือดำน้ำใหม่ 6 ลำ
ฟิลิปปินส์ดูจะล้าหลังกว่าเวียดนามและญี่ปุ่นมาก อย่างไรก็ดี หลังจากได้แต่มองจีนสร้างสิ่งปลูกสร้างเหนือแนวปะการังในหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ครอบครอง ในที่สุด มะนิลาก็ยิ้มออกและยินดีต้อนรับให้กองทหารอเมริกันกลับคืนสู่ฐานทัพในฟิลิปปินส์ภายหลังที่จากไปถึง 20 ปี นอกจากนั้น แดนตากาล็อกยังมีแผนเพิ่มงบจัดซื้อเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล เครื่องบินทิ้งระเบิด และยุทโธปกรณ์อื่นๆ
สำหรับอินเดียที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนทางบกกับจีนและปากีสถานนั้น ได้สั่งซื้อรถถังและเครื่องบินรบจำนวนมากกระทั่งกลายเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนั้น แดนภารตะยังส่งทหาร 100,000 นายไปประจำใกล้แนวชายแดนที่มีข้อพิพาทกับจีน
ทางฝ่ายแดนมังกรนั้นมองเช่นไรต่อสถานการณ์เหล่านี้ เมื่อสำนักข่าวเอพีสอบถามไป โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน หวา ชุนอิง ได้ให้คำตอบในวันพฤหัสบดี (11 ก.ย.) ว่า งบประมาณการทหารของจีนซึ่งกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นี้ “มีความโปร่งใสและมุ่งเพื่อการป้องกันประเทศเท่านั้น”
“ถ้าคุณดูกันให้ใกล้ชิดถึงรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์ทั้งหลายซึ่งได้เกิดขึ้นในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา คุณก็จะพบว่าไม่ใช่จีนเลย หากแต่เป็นประเทศอื่นๆ ซึ่งคุณเอ่ยถึงนั่นแหละที่ได้สร้างความตึงเครียดขึ้น และมีการกระทำที่เป็นการยั่วยุ” โฆษกหญิงผู้นี้กล่าว “เราจึงต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยแห่งชาติของเรา”
เธอกล่าวต่อไปว่า “เราหวังว่าประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหลายจะสามารถจับตามองการเจริญเติบโตของประเทศจีนด้วยความคิดจิตใจอันเป็นปกติ และทำงานกับจีนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี และธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชีย”
ถึงแม้ประเทศในเอเชียมีการสั่งสมอาวุธทางการทหารเพิ่มมากขึ้น แต่การปฏิบัติการจริงๆ ในเวลานี้ยังมักจะใช้เรือของหน่วยยามฝั่งเป็นสำคัญ โดยที่เรือตรวจการณ์ของหน่วยยามฝั่งย่อมสามารถเคลื่อนตัวได้รวดเร็ว จึงสะดวกแก่การควบคุมหมู่เกาะและน่านน้ำประมงที่เกิดข้อพิพาท
ในเดือนมิถุนายน ญี่ปุ่นตกลงที่จะบริจาคเรือสำหรับหน่วยยามฝั่ง เป็นจำนวน 6 ลำให้แก่เวียดนาม หลังจากสัญญาให้ฟิลิปปินส์ไป 10 ลำในปีที่แล้ว ในส่วนของเวียดนามเองนั้น ก็ได้จัดหาเรือเพิ่มจนกระทั่งกองเรือหน่วยยามฝั่งของประเทศนี้ มีจำนวน 68 ลำแล้ว หรือเกือบเป็น 2 เท่าตัวของเมื่อ 5 ปีก่อน ทั้งนี้ตามรายงานของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (ไอไอเอสเอส) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงลอนดอน ส่วนญี่ปุ่นก็ได้เพิ่มเรืออีก 41 ลำในกองเรือหลักของหน่วยยามฝั่ง จนมีทั้งสิ้น 389 ลำ
แซม เปอร์โล-ฟรีแมน หัวหน้าโครงการวิจัยการใช้จ่ายทางการทหารของสถาบันสต็อกโฮล์ม ชี้ว่าในเวลานี้ทุกประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกต่างพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากันด้วยกำลังทหารโดยตรงซึ่งอาจจะลุกลามใหญ่โต และต่างกำลังทำให้อยู่แค่ระดับกองกำลังกึ่งทหาร อย่างเช่น เรือของหน่วยยามฝั่ง เท่านั้น
กระนั้น ดูเหมือนญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวแตกแถว เดือนที่แล้ว รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ขอให้รัฐสภาอนุมัติงบกลาโหมที่มียอด 48,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เพื่อไว้ใช้ซื้อเครื่องบินตรวจการณ์แบบ พี-1, เครื่องบินขับไล่เทคโนโลยี “สเตลท์” ที่สามารถหลบหลีกเรดาร์, ตลอดจนยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของสหรัฐฯ
ในเดือนกรกฎาคม คณะรัฐบาลอาเบะก็ได้อนุมัติให้มีการตีความรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ซึ่งเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถขยายบทบาทของกองทัพในการปกป้องประเทศพันธมิตรที่ถูกโจมตีได้ ล่าสุดต้นเดือนกันยายนนี้ ญี่ปุ่นและอินเดียยังตกลงแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการทหารและเข้าร่วมซ้อมรบกัน
“ถ้าจีนกำลังแสดงท่าทีพร้อมทะเลาะวิวาทเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็คงเป็นเพราะพวกเขาเล็งเห็นโอกาส และนั่นอาจทำให้สถานการณ์เพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น” เบอร์นาร์ด ลู ฟุก เหวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ กล่าวทิ้งท้าย