เอเอฟพี - สื่อทางการจีนออกมากล่าวเตือนวอชิงตันในวันจันทร์ (25 ส.ค.) ว่า ปักกิ่งอาจจะต้องถือว่าการที่สหรัฐฯส่งเครื่องบินออกมาบินตรวจการณ์ประชิดดินแดนจีนนั้น คือ “การกระทำอันเป็นปรปักษ์” ทั้งนี้ หลังจากที่เพนตากอนออกมากล่าวหาก่อนว่า เครื่องบินขับไล่แดนมังกรลำหนึ่ง บินโฉบเฉี่ยวประชิดเครื่องบินตรวจการณ์อเมริกันอย่างน่ากลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นมา
พลเรือตรีจอห์น เคอร์บี้ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงเมื่อวันศุกร์ (22) ว่า เครื่องบินขับไล่ติดอาวุธพร้อมสรรพของจีนลำหนึ่ง ได้บินเข้าประชิดเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลรุ่นพี-8 โพไซดอน ของสหรัฐฯ ถึง3 ครั้งในวันอังคาร (19) ที่ผ่านมา โดยที่ครั้งหนึ่งนั้นปลายปีกของเครื่องบินแต่ละฝ่ายอยู่ห่างกันไม่ถึง 9 เมตร ซึ่งถือว่า เป็นการสกัดกั้นที่ “อันตรายมาก”
ต่อมาในคืนวันเสาร์ (23) สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้เผยแพร่คำแถลงของพ.อ.หยาง อี่ว์จิว์น โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ที่ระบุว่า ข้อกล่าวหาของเพนตากอนในเรื่องนี้ “ไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง” พร้อมตอกกลับว่า กองทัพแดนอินทรีต่างหากที่กำลังดำเนินการสอดแนมอย่างถี่ยิบใกล้น่านน้ำจีน
เหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 19 ห่างจากเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ประมาณ 220 กิโลเมตร ในบริเวณที่อเมริกายืนยันว่า เป็นน่านน้ำสากล แต่ปักกิ่งระบุว่า เป็นเขตอำนาจอธิปไตยของตน ทำให้ต้องหวนย้อนกลับไปถึงกรณีซึ่งเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2001 โดยในคราวนั้นเครื่องบินขับไล่ของจีนได้ชนกับเครื่องบินตรวจการณ์ อีพี-3 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในจุดซึ่งอยู่ห่างจากเกาะไหหลำ 110 กิโลเมตร ส่งผลให้นักบินจีนเสียชีวิต 1 ราย และเครื่องบินอเมริกันต้องลงจอดฉุกเฉินบนเกาะไหหลำ
แรกทีเดียว ทางการจีนควบคุมตัวลูกเรืออเมริกัน 24 คนเป็นเวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ กระทั่งรัฐบาลของสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงที่รักษาหน้าของทั้งสองฝ่าย ปักกิ่งจึงยอมปล่อยลูกเรือเหล่านั้น
ในวันจันทร์ (25) หนังสือพิมพ์โกลบัลไทมส์ ซึ่งอยู่ในเครือ เหรินหมินรึเป้า (พีเพิลส์ เดลี) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และบ่อยครั้งมักแสดงจุดยืนชาตินิยมชัดเจน ได้ออกบทบรรณาธิการซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การตรวจการณ์สอดแนมของอเมริกาในเขตน่านน้ำและน่านฟ้าจีนว่า เป็นคุกคาม “ผลประโยชน์แกนกลางทางด้านความมั่นคงของจีน” ซึ่งอาจถือเป็น “การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์”
“มันอาจมีการสู้รบเสียเลือดเสียเนื้อระหว่างจีนกับอเมริกา ถ้าการชนกัน (ระหว่างเครื่องบินของจีนกับของสหรัฐฯ) ซึ่งเกิดขึ้นเหนือทะเลจีนใต้ กลายเป็นการเผชิญหน้ากันที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แกนกลางของทั้งสองฝ่าย” โกลบัลไทมส์เตือน
ในวันเดียวกัน ไชน่าเดลี่ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน ก็ได้ออกบทบรรณาธิการกล่าวหาวอชิงตันบ่อนทำลายความไว้วางใจระหว่างกัน โดยบอกว่า การที่วอชิงตันรู้สึกกังวลใจต่ออิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของปักกิ่งนั้น เป็น “ความต้องการเชิงจิตวิทยา ที่จะต้องสร้างศัตรูขึ้นมาเพื่อชดเชยความรู้สึกสูญเสียภายหลังการสิ้นสุดลงของสงครามเย็น”
ไชน่า เดลี่สำทับว่า ภารกิจตรวจการณ์สอดแนมทางทะเลและอากาศของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้ทางการและประชาชนจีนเกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาได้เลยว่า อเมริกามีความจริงใจที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับจีน ตามที่วอชิงตันชอบกล่าวอ้าง