เอเอฟพี - บรรดาสมาชิกรัฐสภาอังกฤษกล่าวเตือนวันนี้ (31 ก.ค.) ว่าองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามจากกองทัพรัสเซีย และจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อโต้ตอบการโจมตีแบบแหกคอกของมอสโก
โรรี สจวร์ต ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า “มีความเสี่ยงที่รัสเซียจะจู่โจมชาติสมาชิกนาโต ถึงแม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นยังมีน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าวิตก เนื่องจากเรายังไม่มั่นใจว่า นาโตจะพร้อมตั้งรับภัยคุกคาม”
คณะกรรมาธิการชุดนี้ออกรายงานเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรนาโตทั้ง 28 ชาติส่งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปในชาติสมาชิกแถบทะเลบอลติก อันได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เป็นการถาวร พร้อมทั้งกระตุ้นให้จัดตั้งกองบัญชาการใหญ่นาโตในประเทศเหล่านี้
นาโตมีท่าทีเช่นนี้ในเวลาที่สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา โดยทั้งสองฝ่ายกล่าวว่า มอสโกไม่ได้ช่วยบรรเทาวิกฤตขัดแย้งทางภาคตะวันออกของยูเครน
รายงานฉบับนี้ระบุว่า สถานการณ์ในยูเครนถือเป็น “สัญญาณเตือน” ที่เผยให้เห็นว่า “นาโตกำลังขาดความพร้อมอย่างน่าตกใจ”
รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า “การที่รัสเซียหันมาโจมตีแบบแหกคอก โดยการใช้ยุทธวิธีที่ไม่สมมาตร ซึ่งล่าสุดนี้มีคำเรียกว่า “การทำสงครามแบบคลุมเครือ” นั้นเป็นสิ่งที่ยากจะรับมือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถูกวางแผนมาเพื่อให้เล็ดรอดจากการตอบโต้ของนาโต”
รายงานระบุว่า นาโตควรนำยุทธวิธีต่างๆ อันได้แก่ การใช้การโจมตีทางโลกไซเบอร์ และส่งกองกำลังติดอาวุธแบบไม่ประจำการ มาใช้ โดยยึดบทบัญญัติที่ 5 ของ สนธิสัญญานาโต ซึ่งระบุว่าชาติสมาชิกทั้งหมดจะต้องช่วยเหลือประเทศภาคีสนธิสัญญานาโตที่ถูกโจมตี
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษอาศัยวาระการประชุมผู้นำชาติสมาชิกนาโต ในเดือนกันยายนนี้ “เดินหน้าจัดระเบียบนาโต” และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซีย
รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่า “สมาชิกนาโตไม่ได้มองว่า รัสเซียเป็นศัตรู หรืออาจเป็นภัยคุกคามต่อเขตแดนของชาติสมาชิกมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว”
“แต่การกระทำของรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้บีบให้ (นาโต) ต้องทำเช่นนี้”
โฆษกของนาโตแถลงว่า รายงานฉบับนี้จะถูกนำไปศึกษาพิจารณาโดยละเอียด พร้อมกับกล่าวว่า ประเทสมาชิกได้ดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถทางกลาโหมและจะมีการหารือถึง “แผนปฏิบัติการ” ในที่ประชุมซัมมิตในเดือนกันยายนนี้
โฆษกผู้นี้ชี้แจงว่า “นาโตได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้ชาติสมาชิกสามารถป้องกันประเทศร่วมกันได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะเพื่อปกป้องชาติพันธมิตรในยุโรปตะวันออก ด้วยการส่งเรือ และอากาศยานออกตรวจการณ์ทางทะเล และอากาศมากขึ้น ตลอดจนดำเนินการซ้อมรบภาคพื้น”