xs
xsm
sm
md
lg

พระราชประวัติเผย “จักพรรดิฮิโรฮิโตะ” ทรงเตือนกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นให้หลีกเลี่ยง “ความขัดแย้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ฉายที่พระราชวังอิมพิเรียล กรุงโตเกียว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 1987 (ภาพ - เอเอฟพี)
เอเจนซีส์– จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ซึ่งทรงมีสถานะประหนึ่ง “สมมติเทพ”ในช่วงที่จักรวรรดิญี่ปุ่นรุกรานเอเชีย เคยตรัสเตือนผู้นำกองทัพให้ “หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง” แต่ขณะเดียวกันก็ทรงยกย่องในความเกรียงไกรของกองทัพที่ต่อสู้ในนามของพระองค์ ตัวอย่างหนังสือพระราชประวัติอย่างเป็นทางการซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวังอิมพิเรียล ระบุ

หนังสือพระราชประวัติชุดใหญ่ 61 เล่ม ที่ใช้เวลาเรียบเรียง 24 ปี และสูบเงินภาษีของราษฎรไปราว 230 ล้านเยนในการจัดทำ แทบจะไม่มีหลักฐานใหม่ๆ ที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับองค์พระจักรพรรดิ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในศตวรรษที่ 20 ที่นักประวัติศาสตร์มีมุมมองขัดแย้งมากที่สุดคนหนึ่ง

สิ่งที่หนังสือชุดนี้เปิดเผยกลับเป็นมุมมองในเชิง “เห็นอกเห็นใจ” ของอดีตพระจักรพรรดิ ซึ่งบางคนเชื่อว่าทรงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่บางคนมองว่าทรงเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ของรัฐทหารที่มีอำนาจล้นฟ้าในเวลานั้น

หนังสือชุดนี้อ้างถึงพระราชดำรัสของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะที่ทรงเตือนให้ญี่ปุ่นอย่าทำสงครามแบบ “บ้าระห่ำ” เพราะจะทำให้พระองค์เองต้อง “รู้สึกผิดต่อบูรพกษัตริย์” โดยเวลานั้นญี่ปุ่นกำลังเตรียมแผนโจมตีกองเรือสหรัฐฯที่อ่าวเพิร์ล ในเดือนธันวาคม ปี 1941

สำนักข่าวเกียวโดอ้างข้อมูลในหนังสือชุดนี้ ซึ่งระบุว่า พระจักรพรรดิทรงคัดค้านเมื่อกองทัพเรือจะประกาศสงครามกับสหรัฐฯ โดยทรงทำนายไว้ในเดือนกรกฎาคม ปี 1941 ว่า สงครามครั้งนี้จะย้อนกลับมา “ทำลายญี่ปุ่นเอง” ในที่สุด

พระองค์ยังทรงตำหนิผู้บัญชาการทหารที่นำประเทศเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบกับจีนในปี 1937 ด้วยคำมั่นสัญญาว่าการศึกครั้งนี้จะจบลงอย่างรวดเร็ว และชัยชนะจะเป็นของแดนอาทิตย์อุทัยอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี บันทึกประวัติศาสตร์ชุดนี้ระบุว่า พระจักรพรรดิทรง “พึงพอพระทัย” เมื่อทรงทราบว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ชัยชนะในศึกสงครามที่อยู่ห่างไกล

ญี่ปุ่นซึ่งกำลังคลั่งลัทธินิยมทหารได้นำกำลังบุกแมนจูเรียในปี 1931 และตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมาเพื่อเป็นฐานบั่นทอนความมั่นคงของจีนในเวลานั้น

ต่อมาในปี 1937 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นก็ได้บุกยึดเมืองนานกิง และสังหารพลเรือนชาวจีนอย่างเหี้ยมโหดไปนับหมื่นๆ คน

เมื่อมีผู้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่าเมืองนานกิงถูกตีแตกแล้ว จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้นำกองทัพแจ้งต่อบรรดาทหารญี่ปุ่นว่า “เราพอใจอย่างยิ่งที่พวกเขามีความกล้าหาญ จนสามารถตีเมืองนานกิงได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว”

สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า เอกสารที่ใช้เรียบเรียงพระราชประวัติประกอบด้วยบันทึกเหตุการณ์ขณะที่ทหารญี่ปุ่นเข้าโอบล้อมและโจมตีเมืองนานกิง ทว่าไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวจีนที่นั่น
พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่น ฉายที่พระราชวังอิมพิเรียล กรุงโตเกียว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 1987 (ภาพ - เอเอฟพี)
นักประวัติศาสตร์มีมุมมองที่แตกต่างกันพอสมควรเกี่ยวกับบทบาทของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เนื่องจากสถานะที่โดดเด่นของพระองค์

บางคนมองว่า ในฐานะ “เทวราชา” และผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น พระองค์ทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการออกคำสั่งให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลรุกรานเพื่อนบ้าน ระหว่างทศวรรษ 1930-40

คนกลุ่มนี้เชื่อว่า การโจมตีและยึดครองดินแดนจีน และการสังหารหมู่พลเมืองถึง 20 ล้านคนตามที่แหล่งข่าวทางจีนอ้างนั้น คงจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีคำสั่งอนุมัติอย่างเป็นนัยๆ จากพระจักรพรรดิ

หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในปี 1945 กองกำลังสหรัฐฯ ในฐานะผู้ยึดครองยินยอมให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงครองบัลลังก์ต่อเพื่อรักษาเสถียรภาพของญี่ปุ่นไว้ ขณะที่ผู้นำการเมืองและนายทหารระดับสูงหลายรายถูกจับกุม ขึ้นศาล และถูกตัดสิน “แขวนคอ”

แม้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะจะทรงสละความเป็น “เทวราชา” เพื่ออยู่บนบัลลังก์ต่อไปอย่างไร้มลทิน ทว่ายังทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวแดนอาทิตย์อุทัยเสมอมา จนกระทั่งเสด็จฯสวรรคตในปี 1989

ในรัชสมัยของจักรพรรดิพระองค์นี้ ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงจากรัฐทหารมาสู่ความเป็นประชาธิปไตยและตลาดทุนเสรี ซึ่งนำพาทั้งความเจริญก้าวหน้าและความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ

ตัวอย่างหนังสือพระราชประวัติถูกแจกจ่ายไปยังสื่อมวลชนบางสำนักในวันนี้(9) โดยสำนักพระราชวังอิมพิเรียลจะทยอยจัดพิมพ์เป็นชุดๆจนครบถ้วนในเวลา 5 ปี

สำหรับหนังสือชุดแรกเริ่มวางจำหน่ายในเดือนมีนาคม ปี 2015

หนังสือพระราชประวัติชุดนี้มีความยาวรวมกัน 12,000 หน้า โดยสำนักพระราชวังอิมพิเรียลได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร 3,152 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารใหม่ 40 ฉบับ อย่างไรก็ตาม สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า หนังสือกลับไม่ได้เอ่ยถึงพระราชดำรัสแสดงความรับผิดชอบต่อผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงเคยตรัสไว้อย่างชัดเจน

ทากาฮิสะ ฟุรุกาวา อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิฮอน ยอมรับว่า พระราชประวัติชุดนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้า “แต่ไม่มีข้อมูลอะไรที่น่าประหลาดใจ”

“การที่พระราชวังอิมพิเรียลจัดทำหนังสือชุดนี้ขึ้นโดยใช้ข้อมูลที่เคยเป็นเอกสารชั้นความลับนั้น ถือเป็นก้าวแรกที่มีความหมายสำหรับการนำเสนอข้อมูลอย่างโปร่งใส... แต่พวกเขาควรจะเปิดเผยมากกว่านี้ โดยเฉพาะพวกเอกสารต้นฉบับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น