เอเอฟพี - แดนอาทิตย์อุทัยวันนี้ (20 มิ.ย.) แถลงว่า จะไม่เปลี่ยนแปลงแถลงการณ์ในปี 1993 ซึ่งเป็นการ “ขออภัย” หญิงเอเชียที่เคยถูกกองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาบำเรอกามแก่ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าคำขอโทษดังกล่าวจะผ่านการทบทวนซึ่งตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่ารัฐบาลหรือกองทัพญี่ปุ่นมีส่วนรู้เห็นกับแนวปฏิบัติเช่นนี้
ความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นคราวนี้เกิดขึ้นในเวลาที่เกาหลีใต้ออกมาแสดงแสนยานุภาพทางทหาร โดยการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงใกล้หมู่เกาะขนาดเล็ก ซึ่งโตเกียวกำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์กับโซล และผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า เป็นการแสดงท่าทีปรองดอง ซึ่งนอกจากจะสร้างความวุ่นวายแล้ว ยังไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้แก่ฝ่ายใด
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ยืนยันว่าจะไม่ดัดแปลงแก้ไขคำขออภัยดังกล่าว ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “คำแถลงของโคโนะ” ซึ่งได้รับการประกาศในช่วงที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเสรีนิยม โดยเป็นครั้งแรกที่มีการยอมรับว่า กองทัพญี่ปุ่นมีส่วนร่วมบังคับให้ผู้หญิงท้องถิ่นทำงานเป็นโสเภณีบำเรอกามแก่ทหาร
ว่ากันว่า การทบทวนครั้งนี้ ซึ่งมีขึ้นเพื่อปลอบใจบรรดานักการเมืองฝ่ายขวา มีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบว่า เหตุใดจึงมีการตัดสินใจขออภัยในเวลานั้น และเป็นการออกมายอมรับผิดโดยยึดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ชิ้นใด
โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าว ภายหลังส่งรายงานผลการทบทวนต่อรัฐสภาวันนี้ (20) ว่า “รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนจุดยืน ที่ต้องการให้คง” คำขออภัยปี 1993 ไว้ตามเดิม
สุกะ ซึ่งเป็นโฆษกระดับสูงของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยกล่าวว่า “รัฐบาลยังคงรักษาจุดยืนเดิม เรายังรู้สึกเจ็บปวด ที่รู้ว่ามีคนทุกข์ร้อนแสนสาหัสจนเกินกว่าจะบรรยายออกมา”
ทั้งนี้ สตรีราว 2,000 คน ซึ่งเป็นชาวจีน ไต้หวัน และอินโดนีเซีย แต่ส่วนใหญ่คือชาวเกาหลี ถูกบีบบังคับให้ทำงานเป็น “สตรีบำเรอกาม” ในซ่อง เพื่อสนองตัณหาของกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิ ในเวลาที่ทหารญี่ปุ่นตบเท้าเข้าประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียทั้งก่อน และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เชื่อว่า รัฐบาลในสมัยสงครามสมควรถูกประณาม แต่ก็ยังมีคนส่วนน้อย ทว่ามีบทบาทสำคัญทางการเมือง เป็นต้นว่า อาเบะ ยังคลางแคลงสงสัยในประเด็นดังกล่าว ทั้งยังอ้างว่าโสเภณีที่ให้บริการตามซ่องในอดีตเป็นหญิงค้าประเวณีโดยอาชีพ
คำพูดที่คลุมเครือเช่นนี้ได้สร้างความร้าวฉานให้แก่สายสัมพันธ์ระหว่างโตเกียวกับบรรดาชาติเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้